ดาวเด่นแฟรนไชส์    มอร์เก้น แคชชวลฯ อร่อยสไตล์ยุโรปสุดหรู รุกแฟรนไชส์ใจกลางเมือง
5.0K
10 มิถุนายน 2555
มอร์เก้น แคชชวลฯ อร่อยสไตล์ยุโรปสุดหรู รุกแฟรนไชส์ใจกลางเมือง




ร้าน “มอร์เก้น แคชชวล เรสเตอร์รองค์” (Morgen Casual Restaurant) สร้างจุดเด่นจากเมนูสไตล์ยุโรปสุดหรูแบบต้นตำรับ โดยมีไส้กรอกเยอรมันระดับพรีเมี่ยมเป็นพระเอก เสริมด้วยเมนูอาหารและเครื่องดื่มแบบฉบับชาวตะวันตกกว่า 100 รายการให้เลือกสรร ควบคู่การตกแต่งร้านบรรยากาศสวยงามอลังการ เสมือนหลุดเข้าไปอยู่ในร้านอาหารต่างแดน

      
ที่สำคัญ งัดกลยุทธ์ราคาเหมาะสมที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก พร้อมโปรแกรมบุฟเฟ่ต์กินไม่ต้องยั้งช่วยเรียกลูกค้า ทำให้ร้านได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และเดินหน้าขยายธุรกิจแฟรนไชส์ในทำเลทอง ย่านธุรกิจการค้าใจกลางเมือง

พัชราวดี หมื่นนิกร ประธานบริหารฝ่ายแฟรนไชส์ บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ “มอร์เก้น บาย อีซี่ส์” (Morgen by EZ’S) เปิดเผยว่า จากที่ได้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ร้านอาหารเมนูไส้กรอกเยอรมันเกรดพรีเมี่ยม “มอร์เก้น บาย อีซี่ส์” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ซึ่งได้ผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทุกสาขามีผลประกอบการดีสม่ำเสมอ ที่ผ่านมาไม่มีสาขาใดเลยต้องปิดตัวลงไป นับถึงปัจจุบันมีสาขารวมกัน 8 แห่ง


อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ในการเปิดร้านที่ผ่านมา ทำให้พบว่า นอกจากเมนูไส้กรอกเยอรมันแล้ว ยังมีกลุ่มลูกค้าอีกจำนวนไม่น้อย อยากกินเมนูอาหารยุโรปอื่นๆ ด้วย จึงเกิดแนวคิดแตกไลน์ธุรกิจด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่ “มอร์เก้น แคชชวล เรสเตอร์รองค์” (Morgen Casual Restaurant) โดยเป็นร้านอาหาร เมนูสไตล์ยุโรปแท้ๆ ในบรรยากาศหรูหรา เพื่อมาเติมเต็มความต้องการของตลาดดังกล่าว

“ความแตกต่างระหว่างร้าน มอร์เก้น แคชชวลฯ กับร้านแบบเดิม ด้านแรก คือ เมนูอาหารที่หลากหลายกว่า โดยยังมีไส้กรอกเยอรมันระดับพรีเมี่ยมเป็นเมนูหลักเช่นเดิม แต่จะเสริมด้วยเมนูอาหารยุโรประดับพรีเมี่ยมอื่นๆ เข้าไป เช่น ขาหมูเยอรมัน ซี่โครงหมู ซูป สปาเก็ตตี้ สลัด สเต็ก ฯลฯ รวมแล้วกว่า 100 รายการ นอกจากนั้น ยังมีเครื่องดื่มนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งประเภทน้ำหวาน และเบียร์เยอรมัน เป็นต้น”
      
“ด้านที่สอง คือ สไตล์การตกแต่ง ทั้งในส่วนของร้าน จะเน้นเป็นบรรยากาศแบบยุโรปแท้ๆ ดูหรูหราอลังการและทันสมัย พื้นที่ร้านกว้างขวาง รวมถึง ภาชนะ และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะชุดโซฟาสุดหรู และ แชนเดอร์เรีย โอ่อ่าทันสมัย คัดสรรอย่างสวยงามให้สอดคล้องกับบรรยากาศร้าน นอกจากนั้น การจัดแต่งอาหารแต่ละจาน พยายามให้สวยงามดูหรูหราน่ากินด้วย” พัชราวดี อธิบาย

ทั้งนี้ กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้ที่ระดับกลางบนขึ้นไป ซึ่งมีกำลังซื้อสูง และชื่นชอบความทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ หนุ่มสาวออฟฟิศ กลุ่มครอบครัว รวมถึง ชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับเมนูตะวันตกอยู่แล้ว ขณะที่รสชาติอาหาร มีทั้งแบบเหมือนต้นตำรับแท้ๆ และสูตรที่ปรับรสชาติให้ถูกปากคนไทย เพื่อจะรองรับความต้องการของลูกค้าได้ครบถ้วน

 
      
ในส่วนทำเลเปิดร้านเจาะจงเป็นย่านใจกลางเมือง เดินทางสะดวกใกล้สถานีรถไฟฟ้า เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงภาพยนตร์ และชอปปิ้งมอลล์ที่มีกลุ่มผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย เบื้องต้นได้เปิดร้านต้นแบบของตัวเองอยู่ที่ ชั้น M “เอสพลานาด” ถ.รัชดาภิเษก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา

เจ้าของธุรกิจ เผยด้วยว่า แม้จะเป็นเมนูยุโรประดับพรีเมียม อีกทั้ง ตกแต่งร้านอย่างหรูหรา ทว่า ราคาอาหารไม่ได้สูงเกินไป โดยเฉลี่ยที่จานละ 150-200 บาท ซึ่งคนทั่วไปมีศักยภาพที่จะเข้ามากินได้สบายๆ อีกทั้ง ยังมีประเภทอาหารจานเดียว ราคาเฉลี่ยจานละ 80-90 บาท ไว้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และอิ่มอร่อยในราคาไม่สูงนัก

พัชราวดี เล่าต่อว่า ในช่วงแรกที่เปิดร้าน สาขา “เอสพลานาด” ถ.รัชดาภิเษก มีปัญหาสำคัญ เนื่องจากลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน เพราะดูภายนอกบรรยากาศร้านหรูหรา จึงเกรงว่า ราคาอาหารจะแพงมาก ดังนั้น การทำตลาดในเบื้องต้น มีทั้งให้พนักงานไปแจกใบปลิวตามจุดต่างๆ แนะนำเมนูน่าสนใจ ซึ่งราคาไม่สูงอย่างที่กังวล

ที่สำคัญ ได้จัดให้มีโปรแกรมกินไส้กรอกเยอรมันแท้ๆ 12 รสชาติ พร้อมเมนูเครื่องเคียงอื่นๆ แบบบุฟเฟ่ต์ วันธรรมดาคิดที่หัวละ 299 บาท วันเสาร์และอาทิตย์ คิดหัวละ 345 บาท ให้เวลากิน 1.30 ชั่วโมง เปิดบริการตลอดทั้งวัน เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าเข้ามาทดลองชิม รวมถึง จะได้เห็นว่า เมนูต่างๆ ในร้าน ไม่ได้แพงอย่างที่คิด
      
“ยอมรับว่า การขายแบบบุฟเฟ่ต์กำไรน้อยมาก จนแทบไม่มีกำไรเลยด้วยซ้ำ เพราะลูกค้าที่เข้ามากินบุฟเฟ่ต์ทุกคน จะคาดหวังว่าต้องกินเยอะเพื่อให้คุ้มค่า ในขณะที่ไส้กรอกเยอรมันต้นทุนสูงมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราได้ คือ เมื่อลูกค้ากล้าเข้าร้านแล้ว เขาจะได้เห็นว่า เรามีเมนูต่างๆ ที่น่าสนใจ และราคาก็ไม่สูงอย่างที่เขาคิด หลังจากนั้น เขาจะกลับมากินซ้ำจนกลายเป็นขาประจำ รวมถึง ช่วยไปบอกต่อ ทำให้ปัจจุบัน ร้านของเราถือว่ามียอดขายอยู่ในระดับน่าพอใจมาก เฉลี่ยกำไรสุทธิประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน” พัชราวดี เผย

 
      
จากผลสำเร็จของร้าน “มอร์เก้น แคชชวล เรสเตอร์รองค์” สาขาต้นแบบ รวมถึง ประสบการณ์ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านมา พัชราวดี ระบุว่า ขณะนี้พร้อมที่จะขยายแฟรนไชส์ “มอร์เก้น แคชชวล เรสเตอร์รองค์” แก่ผู้สนใจ โดยกำหนดเงื่อนไข ใช้งบประมาณลงทุนเบื้องต้นประมาณ 5,000,000-8,000,000 บาท (แล้วแต่ขนาดร้าน) โดยแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้า 1,000,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าตกแต่งสถานที่ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ค่าวางระบบไอที และอื่นๆ
      
กำหนดทำเลเป้าหมายในการเปิดร้าน ต้องอยู่ในย่านศูนย์กลางการค้าและธุรกิจ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองสำคัญ โดยมีพื้นที่ร้านประมาณ 120-200 ตารางเมตร อายุสัญญา 5+5 ปี มีการเรียกเก็บส่วนแบ่งจากยอดขาย 5% และอีก 5% สำหรับเป็นค่าการทำตลาดให้แฟรนไชซี่

ทั้งนี้ แฟรนไชซี่ควรจะมีทุนสำรองหมุนเวียนประมาณ 500,000 บาทต่อเดือน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายภายในร้าน เช่น ค่าสั่งวัตถุดิบ ค่าพนักงานประจำร้านที่ควรมีประมาณ 10 คน ได้แก่ กัปตัน ครัว และพนักงานเสิร์ฟ รวมถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าพลังงานต่างๆ เป็นต้น

 
      
พัชราวดี บอกต่อว่า จากข้อมูลของร้านต้นแบบ โดยเฉลี่ยลูกค้าที่เข้าร้านจะมีอัตราค่าใช้จ่ายประมาณ 200 บาทต่อคน หรือประมาณ 400 บาทขึ้นไปต่อบิล เฉลี่ยแล้วผู้ลงทุนจะเหลือกำไรสุทธิ หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ประมาณ 15-20% จากรายได้รวม หรือเหลือกำไรสุทธิประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ผู้ลงทุนจะมีอัตราคืนทุนอยู่ในระยะเวลา 3 ปี

ในส่วนของระบบบริหารแฟรนไชส์ โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพ ทางบริษัทฯ กำหนดว่าต้องรับวัตถุดิบจากแฟรนไชซอร์เท่านั้น ซึ่งบริษัทฯ มีโรงงานผลิตได้มาตรฐานสากล GMP และ HACCP ใช้เครื่องจักรสั่งตรงจากเยอรมัน และประเทศแถบยุโรป ระบบการสั่งวัตถุดิบและสต็อกต่างๆ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์สามารถตรวจสอบได้ 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังมีการจัดอบรมพนักงาน และมีทีมตรวจสอบคุณภาพต่อเนื่อง
      
“จากประสบการณ์ในการทำแฟรนไชส์ที่ผ่านมา ดิฉันเชื่อว่า เรามีศักยภาพพร้อมในการดูแลผู้ที่อยากมาเป็นพันธมิตรกับเราให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน ทั้งด้านการผลิตซึ่งเรามีโรงงานเป็นของตัวเอง ตลอดจนมีทีมงานแฟรนไชส์พร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทีมสำรวจทำเล ทีมเตรียมพร้อมในการเปิดร้าน ทีมฝึกอบรม ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระบบไอที เป็นต้น อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในการคัดเลือกผู้จะมาร่วมแฟรนไชส์ ดิฉันต้องการผู้ที่ต้องทั้งเป็น “ผู้คิด” และ “ผู้ทำ” ซึ่งหมายถึง คนที่จะมาลงทุน ควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในบริหารร้าน และลงมือปฏิบัติงานจริงด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้ร้านของเขาประสบความสำเร็จได้” พัชราวดี กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
156,191
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,215
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
80,790
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,054
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,344
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
54,209
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด