ดาวเด่นแฟรนไชส์    ถอดคัมภีร์ 20 ปี แฟรนไชส์ 7-11 ปูพรมเสิร์ฟอิ่มสะดวก
14K
2 สิงหาคม 2554

ถอดคัมภีร์ 20 ปี แฟรนไชส์ 7-11 ปูพรมเสิร์ฟอิ่มสะดวก

 

เปิดกลยุทธ์สู่ความสำเร็จแฟรนไชส์ 7-11 หลังแจ้งเกิดครบรอบ 20 ปี มุ่งเป้าขายอาหารอิ่มทันใจ ชี้อัตราซื้อซ้ำสูง กำไรงาม และเพิ่มช่องกระจายวัตถุดิบบริษัทแม่ ตั้งเป้าปูพรม 7,000 สาขาทั่วประเทศในอีก 2 ปี พร้อมเร่งมอบส่งไม้บริหารแก่แฟรนไชส์ซี่ หนุนขยายเครือข่าย ยอมรับตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่แข่งดุ ระบุหากปรับตัวพร้อม โอกาสโตยังเปิดกว้าง

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” (7-11) เผยในงานแถลงนโยบายร้าน 7-11 ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการเปิดแฟรนไชส์ในเมืองไทยว่า บริษัทฯ ซื้อลิขสิทธิ์ร้าน 7-11 มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. 2532 และเริ่มขายแฟรนไชส์ใน พ.ศ.2534 จำนวน 9 สาขา ปัจจุบันเพิ่มเป็น 6,094 สาขา แบ่งเป็นสัดส่วนแฟรนไชส์ 3,153 สาขา หรือ 52% และบริหารโดยบริษัท 2,941 สาขา หรือ 48% (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2554) และเชื่อว่าถึงสิ้นปีนี้(2554) สัดส่วนแฟรนไชส์จะเพิ่มเป็น 53% โดยมีสาขาเพิ่มจากปีก่อน (2553) 500 สาขา แบ่งเป็นของแฟรนไชส์ ประมาณ 400 สาขา และบริษัทประมาณ 100 สาขา
 

 

สำหรับนโยบาย 7-11 จากนี้ ยังคงมุ่งสานต่อกลยุทธ์เป็นร้านขายอาหารอิ่มสะดวกของคนไทยที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นขายอาหารกินเป็นมื้อ ซึ่งในอดีตสัดส่วนรายได้ของร้าน 7-11 จากส่วนอาหารเพียง 20% และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ 80% แต่ปัจจุบัน สัดส่วนในกลุ่มแรกเพิ่มเป็นกว่า 70% ขณะที่กลุ่มหลังลดเหลือ 30% และตั้งเป้าว่า อนาคตจะเพิ่มสัดส่วนยอดขายกลุ่มอาหารให้ถึง 80% 
       
“การวางกลยุทธ์เน้นขายอาหารสด เพราะเราอยากสร้างจุดแตก ไม่ต้องไปแข่งขันกับร้านโชวห่วย หรือมินิมาร์ทรายอื่นๆ รวมถึง อาหารเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป ทำให้มีอัตรากลับมาซื้อซ้ำสูง และกำไรต่อหน่วยสูงกว่า โดยกลุ่มอาหารกำไรกว่า 30% ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคประมาณ 10% เท่านั้น และที่สำคัญ บริษัทแม่ มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ และทีมงาน สามารถผลิตและป้อนสินค้าให้ได้สม่ำเสมอ” กก.ผจก. เผย

 

สำหรับเป้าหมายแฟรนไชส์ 7-11 ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะขยายสาขาเพิ่มเป็น 7,000 แห่งทั่วประเทศ มุ่งทำเลถนนตัดใหม่ ควบคู่กับขยายสัดส่วนบริหารโดยแฟรนไชส์ซี่เติบโตต่อเนื่องปีละ 3% ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจร้าน เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายธุรกิจให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจะก่อประโยชน์ให้ทั้งส่วนบริษัท มีช่องทางกระจายสินค้ามากยิ่งขึ้น พร้อมกับได้สร้างอาชีพที่มั่นคงแก่คนรุ่นใหม่ และยังทำให้ระบบค้าปลีกของประเทศมีความก้าวหน้าอีกด้วย
       
นายปิยะวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ การแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะจากแบรนด์ใหม่ที่เปิดโดยห้างค้าปลีกรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ร้าน 7-11 ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดมาเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 50% ซึ่งจากระบบที่วางมายาวนาน ประกอบกับกลยุทธ์การตลาดที่ปรับตัวอยู่เสมอ รวมถึงแบรนด์ที่ลูกค้ายอมรับและจดจำ ผนวกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่คาดว่าปีนี้ GDP จะโต 4.5% จึงเชื่อว่า โอกาสของธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่จะขยายตัวขึ้นยังเป็นไปได้สูง
 

 

สำหรับแนวทางสำคัญในการบริหารแฟรนไชส์ 7-11 ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คือ ปรับตัวและพัฒนาตลอดเวลา ทั้งส่วนเจ้าของร้านสาขา กับส่วนกลาง กล่าวคือ ในส่วนเจ้าของร้าน ทางบริษัทจะจัดอบรมความรู้ที่จำเป็นแก่แฟรนไชส์ซี่ตลอดทั้งปี เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา และมีทีมปฏิบัติลงพื้นที่เข้าไปดูแลและแนะนำสาขาทุกสัปดาห์
       
ขณะที่ส่วนกลาง ปรับตัวให้มีสินค้าและบริการตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะหันมาเน้นขายกลุ่มอาหาร ประกอบกับจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีระบไอทีมาใช้เก็บข้อมูลสถิติต่างๆ รวมถึง มีระบบคลังสินค้าที่สมบูรณ์ แบ่งเป็นคลังใหญ่ 4 จุด ได้แก่ ในกรุงเทพฯ 2 แห่ง ส่วนภาคเหนือ และใต้ อีกอย่างละแห่ง อีกทั้ง มีคลังเล็ก กระจายอยู่ทั่วประเทศ ช่วยกระจายสินค้าที่ต้องการความสดใหม่ เช่น อาหาร และหนังสือพิมพ์ ให้ถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น พร้อมระบบคัดเลือกสินค้า เพื่อหมุนเวียนสินค้าที่ลูกค้าต้องการจริงๆ เข้ามาขายในร้าน

ผู้บริหารแฟรนไชส์เจ้าดัง เผยด้วยว่า ในแต่ละปีจะมีผู้สนใจขอเปิดร้าน 7-11เกือบหนึ่งหมื่นราย แต่ผ่านการคัดเลือกเพียง 5% เท่านั้น สำหรับหลักพิจารณา สำคัญที่สุด ต้องรักงานบริการ ตามด้วยควรมีประสบการณ์ทำงานจริงมาก่อน มีเวลา บริหารเต็มที่ อายุควรมากกว่า 30 ปีขึ้นไป โดยผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องผ่านการฝึกอบรมจากบริษัท ทั้งด้านบริหารร้าน บริหารพนักงาน บริหารสินค้า ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถบริหารร้านให้ประสบความสำเร็จต่อไปได้


 

นายปิยะวัฒน์ กล่าวบนเวทีระหว่างงานแถลงนโยบายร้าน 7-11 ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการเปิดแฟรนไชส์ในเมืองไทย ในส่วนการลงทุนนั้น มีให้เลือก TYPE B อยู่ที่ 480,000 บาท รวมค่าค้ำประกันต่างๆ อีก 1,000,000 บาท (ได้รับคืนหลังครบสัญญา) และ TYPE C อยู่ที่ 1,730,000 บาท รวมค่าค้ำประกันต่างๆ 900,000 บาท (ได้รับคืนหลังครบสัญญา) ซึ่งปัจจุบัน การเปิดร้านแฟรนไชส์เซเว่นฯ แทบทั้งหมดกว่า 95% จะเป็นร้านของบริษัทที่ให้ผู้สนใจ เลือกลงทุนไปดำเนินกิจการต่อ ส่วนการเปิดร้านจากทำเลของผู้ลงทุนเอง มีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น
 

 

ด้านผลตอบแทนของแฟรนไชส์ซี่ แบบ TYPE B มาจากผลตอบแทนจากการบริหาร และกำไรส่วนเพิ่ม อัตราคืนเงินลงทุนประมาณ 5-6 ปี ส่วนแบบ TYPE C จะมาจากยอดขายหักต้นทุน ซึ่งแฟรนไชส์ซี่จะได้ส่วนแบ่งกำไร 54% บริษัทได้ส่วนแบ่งกำไร 46% อัตราการคืนทุนประมาณ 10 ปี โดยเฉลี่ยลูกค้าที่เข้าร้าน 7-11 จะใช้จ่ายประมาณ 40-50 บาทต่อคนต่อครั้งที่เข้าร้าน แต่ละสาขาจะมีรายได้เฉลี่ยอย่างต่ำ 40,000-50,000 บาทต่อวัน (แล้วแต่สาขา และขนาดร้าน)
       
ขณะที่อัตราการยกเลิกกิจการของผู้ลงทุนแฟรนไชส์ 7-11 อยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งสาเหตุใหญ่มักเกิดจากความไม่พร้อมส่วนตัวของแฟรนไชส์ซี่ เช่น ไม่มีเวลามาดูแล ขาดทายาทสืบต่อธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าว เมื่อเทียบกับการยกเลิกร้าน 7-11 ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ถือว่าต่ำมาก

อ้างอิงจาก  ผู้จัดการออนไลน์

ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
156,537
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,314
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,013
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,241
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,393
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
54,401
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด