|
19 พฤษภาคม 2558 |
โรงหนังชุมชน ในยุคเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
เมื่อเทคโนโลยีเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวตามยุคสมัย รวมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ผู้คนส่วนใหญ่หันไปชมจากระบบออนไลน์หรือโรงภาพยนตร์แบรนด์ดัง ส่งผลให้โรงภาพยนตร์อิสระ หรือโรงหนังชั้น 2 ที่ตั้งอยู่ตามชุมชนต่างๆต้องปิดตัวไปจำนวนมากและยังส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนหลายด้าน
นางภรวรรณ โกมลารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเซีย ซีบีน่า เน็ตเวิร์ค เล่าว่า การชมภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสุขแก่ผู้รับชม ซึ่งการที่โรงหนังอิสระ หรือโรงหนังชั้น 2 ตามชุมชนต่างๆต้องปิดตัว เนื่องมาจากต้นทุนการนำหนังมาฉายแต่ละเรื่องมีต้นทุนสูง ส่งผลให้คนในหลายชุมชนไม่มีโรงภาพยนตร์เพื่อไปชม ทำให้ต้องไปชมในโรงภาพยนตร์ต่างพื้นที่ เดินทางค่อนข้างลำบากเนื่องจากระยะทางไกล และราคาตั๋วในสมัยนี้ยังสูงด้วย
จากการปรับตัวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทำให้เกิดโครงการโรงหนังชุมชน ซึ่งเป็นกิจการแฟรนไชส์ ของบริษัทเอเซีย ซีบีน่า โดยดำเนินการขายมาตั้งแต่ปี 2556 โดยใช้ระบบส่งภาพยนตร์ผ่านระบบดาวเทียมให้ตัวรับสัญญาณเก็บข้อมูลไว้เพื่อนำไปฉายในโรงภาพยนตร์
นางภรวรรณ เล่าต่อว่า โครงการนี้เป็นการทำธุรกิจร่วมกับคนในท้องที่ และไม่ได้มีแค่โรงหนังเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้ผู้ค้าเช่าพื้นที่เปิดกิจการอื่นๆเพิ่มเติมได้ โดยนางภรวรรณ มองว่าวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการปิดกิจการได้เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ตั้งแต่ดำเนินการมาถือว่าประสบความสำเร็จมีผู้สนใจซื้อไปเปิดแล้ว 40 แห่ง และภายในปี 2558 ตั้งเป้าหมายให้มี 300 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้แต่ละชุมชนมีโรงหนังเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้เข้ากับแต่ละยุคสมัย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เจริญเติบโตได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนรูปแบบการฉายภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเพิ่มสินค้าหรือสิ่งจูงใจอื่นเข้ามาเพื่อช่วยให้กิจการยังคงอยู่ต่อไปได้
อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|
|
|
|