ดาวเด่นแฟรนไชส์    “ปูทอง”หอยจ้อตำรับเยาวราช ต่อยอดธุรกิจรุกขายแฟรนไชส์
11K
12 กรกฎาคม 2553
“ปูทอง”หอยจ้อตำรับเยาวราช ต่อยอดธุรกิจรุกขายแฟรนไชส์ 
 
 
 
 
นักธุรกิจหนุ่มต่อยอดกิจการหอยจ้อของครอบครัว สร้างแบรนด์ “ปูทอง” ชูชื่อเสียงยาวนาน จุดเด่นรสชาติดั้งเดิมสูตรเยาวราช เล็งขยายตลาดด้วยการขายแฟรนไชส์ ด้วยแนวทางจับอาหารระดับภัตตาคารขายข้างทาง ระบุเบื้องต้นทำตลาดผ่านร้านอาหารก่อนจะรุกเต็มรูปแบบต่อไป 
 
สุวิทย์ จรูญเจริญพันธุ์ เจ้าของธุรกิจ แฟรนไชส์หอยจ้อ ตราปูทอง เผยว่า ครอบครัวเป็นผู้ผลิต และขายส่งหอยจ้อ และแฮกึ้น อยู่ในตลาดเยาวราช มานานกว่า 20 ปี โดยที่ผ่านมา แม้ร้านจะถือเป็นเจ้าเก่าแก่ ทว่า ทำธุรกิจแบบแค่ผลิตแล้วขายไป ไม่เคยคำนึงถึงการจดเครื่องหมายการค้า หรือต่อยอดธุรกิจ กระทั่ง เมื่อจบการศึกษาจึงได้มาพัฒนาธุรกิจของครอบครัว 
 
“หลังจากที่ผมเรียนจบ ก็ได้ไปอบรมความรู้การทำธุรกิจจากหลายๆ หน่วยงาน เช่น โครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดไอเดียมาต่อยอดธุรกิจของครอบครัว โดยพัฒนาสินค้า ทั้งการทำบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน นำธุรกิจจดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ปูทอง กู๊ดโปรดักส์ และจดเครื่องหมายการค้าว่า “ปูทอง” ซึ่งมีความหมายสื่อว่า หอยจ้อทำมาจากปู กับอยู่ในย่านเยาวราช ซึ่งภาพที่คนทั่วไปจะนึกถึงคือ แหล่งขายทอง และย่านที่มีของอร่อยขายอยู่มาก อีกทั้ง เมื่อหอยจ้อทอดแล้วจะสีเหลืองเหมือนทอง ผมจึงดึงจุดนี้ มาผสมคำ ใช้ตั้งชื่อแบรนด์” 
 
นอกจากนี้ เตรียมเปิดขยายในรูปแบบแฟรนไชส์หอยจ้อ - แฮกึ้นทอด เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายสินค้า โดยมองการตลาดว่า ทุกวันนี้ อาหารประเภทนี้ที่มีคุณภาพจริงๆ จะหากินได้เฉพาะในร้านอาหารขนาดใหญ่ หรือภัตตาคาร ส่วนที่มีขายอยู่ตามข้างทาง หรือตามแหล่งชุมชนทั่วไป จะเป็นหอยจ้อที่ไม่ได้คุณภาพ จึงเป็นช่องทางที่จะนำสินค้าของ “ปูทอง” ซึ่งคุณภาพเทียบเท่าในภัตตาคาร มาขายตามท้องตลาดทั่วไป กำหนดราคาขายขนาดเส้นเล็ก (140 กรัม) ส่ง 25 บาท ปลีก 35 บาท และขนาดเส้นใหญ่ (230 กรัม) ส่ง 42 บาท ปลีก 55 บาท มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ระดับกลางถึงบน เช่น พนักงานบริษัท 
 
เขาอธิบายว่า ได้ลองเปิดแฟรนไชส์ต้นแบบ อยู่ที่ร้านในเยาวราช ตั้งแต่ประมาณปี 46 เป็นต้นมา โดยลงทุนเบื้องต้น อาทิ ค่าออกแบบ และอุปกรณ์ค่าคีออส ไปเกือบแสนบาท โดยผลจากการทดลองตลาด มียอดขายประมาณวันละ 4,000 – 5,000 บาท หักค่าใช้จ่ายเหลือประมาณวันละ 700 - 800 บาท โดยมีภัตตาคารต่างๆ เป็นคู่แข่งโดยตรง รวมถึง “ไก่จ้อ 5 ดาว” ในเครือ “ไก่ย่าง 5 ดาว” เป็นคู่แข่งที่มีกลุ่มลูกค้าใกล้เคียงกัน 
 
 
 
อย่างไรก็ตาม การขยายแฟรนไชส์ปัญหาที่พบ คือ ต้นทุนของคีออส รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ของตัวต้นแบบ มีมูลค่าสูง รวมแล้วเกือบ 80,000 บาท สูงเกินไปถ้าจะขายแฟรนไชส์ ดังนั้น ในช่วงแรก จะปรับขนาดอุปกรณ์ให้เล็กลง เหลือเฉพาะตู้โชว์ เตาทอด ป้าย และตู้แช่ ขายแฟรนไชส์ในราคาไม่เกิน 20,000 บาท เบื้องต้นเน้นลูกค้าร้านอาหาร ที่จะนำไปตั้งในร้าน เพื่อเป็นเมนูเสริม ช่วยเพิ่มรายได้ วันละไม่ต่ำกว่า 400 บาท ทั้งนี้ พร้อมขายแฟรนไชส์ออกตลาดได้จริง ในสิ้นปีนี้ โดยจะขยายด้วยตัวเองก่อน ประมาณ 2-3 จุด 
 
ส่วนในอนาคตต่อไป ที่จะขายแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ จะต้องปรับปรุงคีออส และอุปกรณ์ให้เหมาะสมทั้งการใช้งาน และราคา รวมถึง จะคิดเมนูหอยจ้อใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อสร้างจุดเด่น รวมถึงหาสินค้าอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันมาขายในแฟรนไชส์ด้วย อาทิ ลูกชิ้นทอด ไส้กรอกทอด เป็นต้น 
 
เมื่อถามถึงจุดเด่นของหอยจ้อ – แฮกึ้น ของ “ปูทอง” เจ้าของธุรกิจ อธิบายว่า อาหารประเภทนี้ วัตถุดิบหลักที่ใช้จะใกล้เคียงกัน แต่จะต่างกันที่ความสดของวัตถุดิบ รวมถึงสูตรปรุงรส ที่แต่ละรายก็จะมีเคล็ดลับของตัวเอง ซึ่งจุดเด่นของปูทอง คือ เป็นเจ้าเก่าแก่ ใช้วัตถุดิบสดใหม่รับมาจากสะพานปลา ส่วนรสชาติเป็นสูตรแบบเยาวราชดั้งเดิม คือ มีครบทุกรสชาติ ทั้งหอม หวาน มัน และเผ็ด ทำจากกุ้งและปู 100% ไม่มีผสมแป้ง 
 
เขา เผยว่า ตลาดสำคัญของ “ปูทอง” คือ ขายส่งในกรุงเทพฯ กับขายส่งให้แก่ร้านจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ยอดขายถ้าเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ อาทิ ตรุษจีน หรือสาดจีน เฉลี่ยแล้วต่อวันกว่า 100 กิโลกรัม ทว่า ปัจจุบันการทำตลาดอาหารประเภทนี้ยากขึ้น เพราะคนทั่วไป จะมองว่า เป็นอาหารราคาแพง ไม่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจชะลอในเวลานี้ 
 
“ความรู้สึกของคนทั่วไป คิดว่า หอยจ้อเป็นอาหารราคาแพง เกินความจำเป็น ดังนั้น การทำตลาด ผมจึงพยายามเน้นว่า เงินที่เขาใช้จ่ายไปคุ้มค่ากับคุณภาพ และจะพยายามออกงานแสดงสินค้าที่เหมาะสม เพื่อเปิดตัวสินค้าด้วย” 
 
สุวิทย์ ยังแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ว่า ในการเริ่มต้นธุรกิจ ควรจะใช้เงินทุนส่วนตัวก่อน เพราะถ้ากิจการล้มเหลว อย่างมากแค่ขาดทุน แต่หากกู้ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ จะเป็นภาระติดตัว และหากไม่สามารถชำระคืนได้ จะทำให้ประวัติทางการเงินเสียไปด้วย 
 
ส่วนในแง่ความช่วยเหลือของภาครัฐแก่ผู้ประกอบการใหม่ ทุกวันนี้ ถือว่า ดีมาก แต่อยากให้เพิ่มด้านการตลาดมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายราย ผลิตสินค้าขึ้นมาได้มีคุณภาพ แต่ไม่มีตลาด ก็ต้องพบกับความล้มเหลว 

 
 
โทร.0-222-2232 หรือ 08-1931-1812 

อ้างอิงจาก: ผู้จัดการออนไลน์
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
156,633
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,346
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,060
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,302
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,399
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
54,450
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด