ดาวเด่นแฟรนไชส์    แฟรนไชส์โมลี แคร์ ปรับมิติรบ ยึดที่มั่นในสนาม AEC
6.5K
19 เมษายน 2555
แฟรนไชส์โมลี แคร์ ปรับมิติรบ ยึดที่มั่นในสนาม AEC


 

“โมลี แคร์”แฟรนไชส์คาร์แคร์ครบวงจรที่ปรับตัวรวดเร็ว เรียนรู้ในสิ่งไม่รู้ ปรับองค์กรหาเพื่อนร่วมทาง จนพร้อมขยายสู่น่านน้ำใหม่ลาว พม่า กัมพูชา

"ถ้าเราไม่ปรับตัว อีก 2 ปี ข้างหน้า  เอสเอ็มอีไทยจะไม่มีที่ยืน"

คำพูดดุเดือดจาก "กฤษฎ์ กาญจนบัตร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์แลค (ไทย-เยอรมัน) จำกัด  เจ้าของคาร์แคร์ครบวงจรแบรนด์ “โมลี แคร์ บาย คาร์แลค 68” ที่บอกกับเรา เปิดความคิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ให้กลับมาทบทวนในเรื่องที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง...ถ้าไม่ปรับตัวก็อยู่รอดไม่ได้!

สำหรับโมลี แคร์ พวกเขาเห็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง ที่จะเข้ามาเล่นงานประเทศไทย เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้  จึงได้มีการปรับตัวเอง และยังคงปรับตัวตลอดที่ผ่านมา

ภาพของความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อตัดสินใจแตกแบรนด์ "โมลี แคร์" ต่อยอดจากธุรกิจคาร์แคร์ครบวงจรแบรนด์ดัง "คาร์แลค 68" ที่สั่งสมประสบการณ์มานานกว่า 3 ทศวรรษ  และเลือกขยายตลาดในรูปแบบแฟรนไชส์  ด้วยคอนเซปต์ "More Than a Car Care"

เป้าหมายในวันนั้น คือการพัฒนาแบรนด์ให้มีความเป็นมาตรฐานสากล เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น  และการไปต่างประเทศก็คือหนึ่งในความหวังของพวกเขา

เริ่มจากนำพาตัวเองไปเป็นนักเรียนในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อทำความรู้จักกับธุรกิจแฟรนไชส์ จากนั้นก็ตั้งต้นพัฒนาระบบที่ดี เพื่อยกระดับมาตรฐานสู่สากล ทั้งในเรื่องระบบการดำเนินงาน และคุณภาพการบริการของแฟรนไชส์ในประเทศ โดยใช้ที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์จากอเมริกา อย่างบริษัท แฟรนคอร์ป มาวางระบบแฟรนไชส์ให้เป็นมาตรฐาน ปั้นแบรนด์ให้มีความเป็นสากลก่อนขยายตัวไปตลาดนอกบ้าน

"เราปรับตัวเยอะมาก ตลอดที่ผ่านมา สิ่งสำคัญคือความกล้า เราต้องกล้า ที่จะก้าวออกไป โดยส่วนตัวก็กลัวที่จะไปต่างประเทศ  เพราะไม่รู้ว่าต่างประเทศเขาเป็นอย่างไร แต่เราเริ่มอิ่มตัวในท้องทะเลไทยแล้ว เรากำลังก้าวสู่ AEC ซึ่งพวกเราเห็นสัญญาณนี้มา 5-7 ปี  ถ้าไม่เตรียมตัวอะไรมาก่อนเลย เราก็คงอยู่ไม่ได้"


 
"กฤษฎ์" บอกกับเรา ในวันที่สาขาประเทศไทยขยับมาอยู่ที่ 50 สาขา ขณะสัญญาณคู่แข่งจากนอกบ้านเริ่มล้อมวงเข้ามาใกล้มากขึ้น เขาบอกว่า เอสเอ็มอีจะทำตัวเป็นพ่อค้ายุคเก่าไม่ได้ เพราะอดีตคู่แข่งเรายังน้อยมาก กำแพงภาษีก็ยังช่วยสกัดคู่แข่งไว้ได้บ้าง  แต่นับจากนี้ทุกอย่างเปิดหมด ตัวช่วยเราไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว และยืนหยัดให้ได้กับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไป

หลังปรับ Business Concept ให้ชัดเจนขึ้น พร้อมการปรับตัวทุกแง่มุม พวกเขาก็เริ่มชิมลางไปต่างประเทศ  โดยตั้งต้นที่ประเทศลาว เริ่มจากเปิด 2 สาขา ก่อนมาใช้ระบบมาสเตอร์แฟรนไชส์  ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปี หลังจากนี้ จะมีสาขา "โมลี แคร์" ที่ลาวได้มากถึง 70 สาขา ขณะที่กัมพูชามีอยู่ 2 สาขา ส่วนพม่าในเดือนหน้าจะเปิดสาขาแรกที่ย่างกุ้ง
 
หลายคนที่ยังเมินเฉยต่อเพื่อนบ้านเหล่านี้ และทะนงตนว่าเราพัฒนาไปมากกว่าเขา คนที่ไปบุกตลาดมาแล้วบอกเราว่า "คนรวย เขารวยจริง เราทำธุรกิจกับคนที่มีเงิน ซึ่งทั้งสามประเทศยังหอมหวาน"

ภาพของคนพม่าที่ตื่นตัวกับการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ เปิดกว้าง เปิดรับ กับการเข้าไปของแบรนด์ไทย ยังเป็นโอกาสที่ผู้บริหารนักแสวงหามองเห็น ส่วนความน่ากลัวที่เขาทิ้งท้ายไว้กับคนไม่ยอมปรับตัวคือ คนพม่าเรียนรู้เร็ว  มีความมุ่งมั่น มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ครอบครัวที่มีกำลังเขาส่งลูกหลานมาทำงาน มาเรียนต่างประเทศ เก็บเกี่ยวความรู้กลับไป และคนเหล่านี้ก็คือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศเขาในอนาคต และนั่นคือคู่แข่งที่น่ากลัวของคนไทย"เขาพร้อมที่จะพัฒนา ใช้เวลานิดหน่อยก็วิ่งได้เลย"

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของประเทศรอบบ้าน บวกสถานการณ์ไม่สู้ดีในประเทศ ยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการไทยจะอยู่เฉยไม่ได้ เขาบอกว่า ไม่เคยกังวลกับปัญหาค่าแรง 300 บาท เลย เพราะเมื่อนโยบายมา ธุรกิจก็ต้องปฏิบัติตาม เมื่อต้นทุนเพิ่มก็ค่อยไปปรับค่าบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีบริการที่ดีก็เชื่อว่าทุกคนก็พร้อมที่จะจ่าย แต่ความน่ากลัวของผู้ประกอบการไทยไม่ได้อยู่แค่ปัญหาค่าแรง 300

"ถ้าไทยยังไม่ตื่นตัวในการพัฒนาแรงงานไทย ไม่เกิน 2 ปี แรงงานพม่าจะกลับประเทศเขาหมด โรงงานก็ย้ายฐานไปตะเข็บชายแดนกันหมด เพราะการผลิตในไทยมันยากที่จะแข่งขันได้ ค่าครองชีพเราสูงขึ้น ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทุกอย่างขึ้นหมด การแข่งขันถ้ายังเป็นเดิมๆ เป็นผู้ผลิต ต้นทุนถูก เราจะสู้เขาไม่ได้เพราะเราไม่ถูกแล้ว เราจะไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ไม่มีความสามารถในการลดต้นทุน ไม่มีความสามารถในการผลิต และแม้จะสร้างแรงงานใหม่ ก็ต้องพัฒนาฝีมือ ถึงวันนั้นค่าแรงจะขึ้นไปเท่าไรแล้ว จะทันไหม ถ้าไทยยังไม่ปรับตัว มีแต่ปัญหาในประเทศ เราก็จะไม่มีที่ยืน และมั่นใจเลยว่าเมื่อเปิด AEC เอสเอ็มอีจะปิดตัวลงไม่ต่ำกว่า 50%"

 

ปิดฝันหวานของเสือตัวที่ 5 เมื่อใครต่อใครก็เดินหน้าทิ้งห่างประเทศสยามไปหลายช่วง เกาหลีนำเราไปไกล  เอกชนมาเลเซียเดินไปข้างหน้าด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแบบจัดเต็ม  เวียดนามกำลังมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง พม่าก็ไม่ถูกมองว่าอ่อนด้อยไปเสียทุกอย่างอีกแล้ว...นิ่งเท่ากับรอวันตาย ไม่ปรับตัวเท่ากับไม่มีที่ยืน เขาบอกเอาไว้อย่างนั้น แล้วประเทศไทยต้องทำอย่างไร  ต้องปรับตัวไปแบบไหน?

เขาว่าเอกชนต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ใช้พลังจากการรวมตัวกัน ไปต่อสู้กับคู่แข่งในต่างประเทศ  ขณะที่รัฐบาลก็ต้องให้การสนับสนุน รับฟังความต้องการ และปล่อยให้เอกชนเป็นเกณฑ์นำในการต่อสู้

"เราต้องกลับมาดูว่าเรามีจุดแข็งเรื่องอะไร ธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง มีความเชี่ยวชาญ อย่าล้มเลิก เดินหน้าไป และพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อย่างด้านเกษตร ก็พัฒนาการเกษตรให้เป็นเชิงพาณิชย์ให้ได้ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ อย่างการปลูกพืชโดยไม่ใช่ดิน ใช้ปุ๋ยให้น้อยลง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไปดูงานประเทศที่เขาเป็นผู้นำด้านนี้ แล้วนำเทคโนโลยีดีๆ เข้ามาและให้ความรู้กับเกษตรกร จากนั้นก็ต่อยอดการเกษตรไปสู่เชิงพาณิชย์ ทำผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เกิดเป็นอุตสาหกรรมและส่งออกได้"

คนที่ปรับตัวและไปต่างประเทศมาก่อนแล้วบอกเราว่า อยากให้ธุรกิจในประเทศไทยรวมตัวกันและช่วยเหลือกัน เพื่อใช้ประสบการณ์ของคนหนึ่งแบ่งปันให้ใครอีกหลายคน สิ่งใดที่ใครเคยเดินพลาด คนมาใหม่ก็จะได้ระวังตัวไม่เดินตาม ใครที่ทำสำเร็จ คนอื่นก็จะได้เห็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จเดียวกันนั้นด้วย

"ธุรกิจต่างๆ ต้องมาร่วมกัน กลายเป็น Synergy ขึ้นมา ช่วยกัน พยุงกัน ไม่ต้องแข่งขันกันเอง เวลานี้พวกเราต้องการความร่วมมืออย่างมาก และยังไม่สายที่จะช่วยกัน สมัยก่อนประเทศไทยก็เหมือนทะเล เรามีที่ให้แหวกว่ายเยอะไปหมด แต่วันนี้ทะเลแห้งขอดลงแล้ว กลายเป็นแค่คลองเล็กๆ  ปลาอย่างเราก็อยู่ไม่ได้ ต้องอยู่บนผืนทะเลที่แห้งแล้ง นี่คือเหตุผลที่เราทุกคนต้องปรับตัว เราเองถ้าไม่ปรับตัววันนี้แบรนด์ก็คงจะหายไปแล้ว"

 

การปรับตัวที่ทำให้แบรนด์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ขึ้นแท่นอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ พร้อมเติบใหญ่ในท้องทะเลนอกบ้านอย่างวันนี้

"พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์"  ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด  ยกให้โมลี แคร์ เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่แข็งแกร่งและพร้อมเติบใหญ่ในต่างประเทศ เขาบอกว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หลังประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาหลายๆ อย่าง ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เคยเติบโตได้ปีละ 20% ในวันนี้กลับโตได้เพียง 12%

ปัจจัยเสี่ยงยังคงมีอยู่เยอะมาก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์ภายในประเทศ ผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมจึงอาจต้องชะลอเรื่องการขยายธุรกิจ แต่หันมาพัฒนาตัวเอง ปรับภายในองค์กร อย่าง พัฒนารูปแบบร้านขายใหม่ ทำตัวเองให้แข็งแกร่ง พัฒนาคน พัฒนารูปแบบธุรกิจให้พร้อม ทำทุกอย่างให้เข้มแข็งพอ เพื่อรองรับการมาถึงของ AEC และมิติการแข่งขันที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ให้ได้

เพื่อวันที่เปิดประเทศ จะได้ไม่หมดทางสู้กับคำว่า "ไม่มีที่ยืน"


อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
156,537
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,314
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,013
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,241
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,393
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
54,401
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด