6 เหตุผลทำระบบแฟรนไชส์เจ๊ง
เชื่อหรือไม่ว่า ระบบแฟรนไชส์ในเมืองไทย มีทั้งธุรกิจแฟรนไชส์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และธุรกิจที่ไปไม่รอด ซึ่งแฟรนไชส์ที่ไปไม่รอด หรือเจ๊ง ส่วนใหญ่มาจากหลายเหตุผล ทั้งเจ้าของแฟรนไชส์ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ กิจการหรือธุรกิจ รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ วันนี้
www.ThaiFranchiseCenter.com ขอนำเสนอ 6 เหตุผลทำระบบแฟรนไชส์เจ๊งไม่เป็นท่าครับ
1.ไม่มีความรู้เรื่องแฟรนไชส์
ก่อนทำแฟรนไชส์เจ้าของธุรกิจต้องรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์อย่างถ่องแท้ ไม่ใช่ว่าเจ้าของธุรกิจพอเห็นว่าธุรกิจของตัวเองกำลังไปได้ดี มีลูกค้าประจำ จึงคิดอยากขายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ ทั้งที่ตัวเองไม่มีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์ดีพอ สุดท้ายพอขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นไป แต่ไม่มีระบบการดูแลและการสนับสนุนสาขาแฟรนไชส์ที่ดีพอ จึงทำให้แฟรนไชส์เจ๊งไม่เป็นท่า พร้อมกันนี้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็ต้องมีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์พอสมควรด้วย
2.ไม่ทุ่มสุดตัว
เวลาเปิดแฟรนไชส์อะไรสักอย่างหนึ่ง ผู้คนมักจะคิดว่าเขาก็แค่ซื้อแฟรนไชส์มา จ้างคน แล้วก็รอรับเงิน ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีอะไรที่จะสะดวกสบาย และง่ายดายได้ขนาดนั้น หลังจากคุณตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว คุณต้องทุ่มเททุกอย่างที่มี ต้องรู้กระบวนการทุกอย่าง ต้องสามารถจัดการได้ด้วยตัวเองก่อน คุณถึงจะไว้ใจยอมปล่อยมือให้ลูกจ้างดูแลแทนได้
3.ทำเลไม่ดี
ทำเลดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ยังใช้ได้กับการทำธุรกิจ การค้าขาย การทำแฟรนไชส์ถ้าคุณมัวแต่ดูชื่อเสียงของร้าน ดูวิธีจัดการ ดูระบบการขาย ดูข้อมูลลูกค้า คุณเตรียมทุกอย่างมาพร้อมหมด แต่แฟรนไชส์กลับตั้งอยู่ในที่ห่างไกลผู้คน ถึงจะเป็นร้านที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่คุ้มหรือไม่สะดวกพอจะให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการคุณ ดังนั้น ทำเลที่ตั้งจึงหัวใจสำคัญของระบบแฟรนไชส์
4.เงินทุนไม่พอ
หลายๆ คนทนพิษของเงินหมุนไม่ไหว จนถึงกับต้องล้มเลิกแฟรนไชส์ไป ซึ่งตรงจุดนี้เองที่บางคนอาจมองข้าม การทำแฟรนไชส์นั้นต้องใช้เงินหมุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในตอนเริ่มต้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้ธุรกิจของคุณเกิดปัญหาแบบเดียวกัน เงินทุนของคุณควรจะให้มียอดคงเหลือมากกว่ายอดเงินที่เป็นค่าใช้จ่าย เผื่อเวลาฉุกเฉินจะได้หมุนเงินได้ทัน
5.แฟรนไชส์ซอร์ไม่สนับสนุน
ระบบแฟรนไชส์ที่ดี เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องให้การสนับสนุนดูแลผู้ซื้อแฟรนไชส์ตลอดอายุสัญญาแฟรนไชส์ ไม่ใช่ว่าขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นไปแล้ว ขายวัตถุดิบ ขายอุปกรณ์อย่างเดียว ปล่อยให้แฟรนไชส์ซีเผชิญกับปัญหาการขายสินค้าไม่ได้ ลูกค้าไม่มี ระบบแฟรนไชส์ที่ดีเจ้าของแฟรนไชส์จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแก่แฟรนไชส์ซีตลอดเวลา เพราะถ้าแฟรนไชส์ซีไปไม่รอด หรือเจ๊ง ก็จะส่งผลกระทบบริษัทแม่ หรือธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งระบบได้
6.ระบบแฟรนไชส์ไม่ดี
แฟรนไชส์บางประเภทถูกสร้างมาเพื่อให้ตายตั้งแต่ต้น สาเหตุก็เพราะไม่มีทั้งมาตรฐาน ไม่มีแผนการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้คุณภาพ จริงๆ แล้ว แฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จ หรือแฟรนไชส์ที่ดี ระบบการทำงานที่ชัดเจน ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว และระบบที่สำเร็จจะต้องส่งมอบให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ยึดปฏิบัติตามระบบแฟรนไชส์ทุกอย่าง
ได้เห็นกันแล้วว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ เจ้าของแฟรนไชส์รวมถึงผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะต้องศึกษาหาความรู้เรื่องของระบบแฟรนไชส์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
เพราะนอกจากจะมีความรู้เรื่องแฟรนไชส์ดีระดับหนึ่งแล้ว เรื่องของการวิเคราะห์ตลาด คู่แข่ง รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ก็ถือว่าสำคัญในการทำแฟรนไชส์ โดยเฉพาะเรื่องของทำเลที่ตั้งในการเปิดร้าน เพราะถ้าแบรนด์ดี สินค้าดี แต่อยู่ไกลผู้คน ก็คงต้องรอวันเจ๊งแน่นอนครับ