แฟรนไชส์กูรู    คุณสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
4.1K

แฟรนไชส์กูรู สัมภาษณ์ คุณสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล (นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย )





มุมมองของสื่อมืออาชีพ กับธุรกิจแฟรนไชส์
คุณสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล (นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย )


: อยากทราบประวัติที่มาของบริษัทฯ โดยย่อ

:สำหรับ พีเพิลมีเดีย เราเริ่มต้นธุรกิจสื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จากการผลิตรายการโทรทัศน์ “SMEs ชี้ช่องรวย” ออกอากาศทางช่อง 11 ครั้งแรกประมาณปลายปี 2545
รายการโทรทัศน์ SMEs ชี้ช่องรวย เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก 2 หน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมรายการโทรทัศน์ ที่สามารถช่วยหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างแท้จริง บนวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง - ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสินค้าดี แต่มีทุนน้อย ให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากรายการในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ TV ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงเกินไปนัก อันจะเป็นการเปิดโอกาสด้านการขายและการตลาดให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีข้อจำกัดเรื่องทุน

สอง - ใช้รายการ SMEs ชี้ช่องรวย เป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์

อันจะเป็นการพัฒนาต่อยอดความคิดให้กับผู้ประกอบการ SMEs ของไทย
ทางพีเพิลมีเดียจึงได้ตัดสินใจเลือกคุณฮาร์ท (สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล) พิธีกรที่มีชื่อเสียง มาเป็นผู้ดำเนินรายการเพื่อดึงดูดผู้ชม และลงทุนด้านการผลิตรายการเพื่อให้รายการดูทันสมัย น่าติดตาม ด้วยความทุ่มเท และตั้งใจดีในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทำให้รายการเราประสพผลสำเร็จอย่างงดงาม และกำลังก้าวสู่ปีที่ 6 ในปี 2551


จากความสำเร็จในการผลิตรายการโทรทัศน์ SMEs ชี้ช่องรวย เราได้ขยายไลน์สื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้น โดยปลายปี 2547 ได้ผลิตนิตยสารชื่อเดียวกับรายการ คือ นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย จนเป็นนิตยสารที่มียอดจำหน่ายและยอดโฆษณาสูงสุดในหมวดนิตยสารเดียวกัน พร้อมกับเปิดสำนักพิมพ์ พีเพิล พับลิชชิ่ง เพื่อผลิตพ็อกเก็ตบุคส์ ในหมวดผู้ประกอบการ SMEs และรับผลิตสิ่งพิมพ์ทุกชนิด

ปี 2548 เพิ่มไลน์ธุรกิจ รับจัดงาน Event ให้กับองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน พร้อมกับรับเป็นที่ปรึกษาและดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs

ปี 2549 เปิดแผนก Production รับผลิต Video Present ให้กับผู้ประกอบการ SMEs และสกู๊ปให้หน่วยงานเอกชนและภาครัฐ

ปัจจุบัน พีเพิลมีเดีย เป็นผู้ผลิตสื่อครบวงจร ที่ครอบคลุมทุกความต้องการด้านสื่อเพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs



: ในฐานะที่เป็นสื่ออย่างนิตยสารทางด้าน SMEs และแฟรนไชส์ มองว่าแฟรนไชส์ควรลงโฆษณา และประชาสัมพันธ์อย่างใร ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

: สำหรับ SMEs ปัญหาใหญ่คือมีทุนจำกัด การลงโฆษณา ประชาสัมพันธ์ จึงต้องคิดอย่างรอบคอบ หลักการคือทำอย่างไรจึงจะโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยใช้เงินให้น้อยที่สุด และต้องได้ผลสูงสุด การจะทำแบบนั้นได้ ผู้ประกอบการต้องแม่นทีเดียวว่ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อเข้าไปถึงคือใคร ต้องไม่เหวี่ยงแห เพราะธรรมชาติของสื่อยิ่งเป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม (NICHE MEDIA) ก็ยิ่งมีราคาถูก ขณะที่สื่อวงกว้าง (MASS MEDIA) จะมีราคาแพง


ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องศึกษาตัว “สื่อ” ที่จะเข้าไปใช้ให้ละเอียดว่าผู้เสพสื่อนั้นๆ ตรงกับกลุ่มกลุ่มเป้าหมายที่เราจะเข้าไปหรือเปล่า
สำหรับ Franchisor ต้องแยกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อเข้าไปถึง คือ

หนึ่ง – กลุ่มลูกค้าที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) และ
สอง – กลุ่มลูกค้าที่จะบริโภคสินค้า (End user)
การเข้าถึง กลุ่มลูกค้าที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) ก็ต้องเลือกสื่อที่วิ่งเข้าถึงกลุ่มคนที่กำลังมองหาธุรกิจ หรือ อยากเป็นเจ้าของกิจการ สื่อกลุ่มนี้ก็อย่างเช่น นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย และรายการ SMEs ชี้ช่องรวย ซึ่งจะเข้าถึงผู้อ่าน และ ผู้ชมกลุ่มนี้ ด้วยราคาที่ถูกกว่าการใช้ Mass Media และ การเลือกสื่อที่ผิดกลุ่ม


ส่วนการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่จะบริโภคสินค้า (End user) นั้น ผู้ประกอบการ Franchisor ต้องรู้เสียก่อนว่ากลุ่มผู้บริโภคนั้นเป็นคนกลุ่มไหน และ มีไลฟ์สไตล์ อย่างไร ซึ่งก็จะสามารถเลือกใช้สื่อเฉพาะที่ราคาถูกในการเข้าถึงได้เช่นกัน อย่างเช่นหากเราเป็นแฟรนไชส์ความงาม จับกลุ่มลูกค้าผู้หญิง B+ ก็ต้องเลือกโฆษณาในนิตยสารสตรี แฟชั่น เป็นต้น หรืออาจเลือกใช้บริษัทประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างข่าวสารในสื่อต่างๆ ก็จะมีต้นทุนที่ถูกมาก อย่างเช่น ที่พีเพิลมีเดียเรารับทำอยู่ จะคิดค่าบริหารงานประชาสัมพันธ์สำหรับลูกค้า SMEs เพียงเดือนละ 80,000 บาท ซึ่งบางครั้งมีข่าวลงตามต่างๆ ถึง 10 กว่าชิ้น เป็นต้น


ที่พูดมาทั้งหมดเป็นเพียงหลักการคร่าวๆ เพราะจริงๆ แล้วการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องศึกษาและวิเคราะห์ Product อย่างละเอียด หากต้องการคำปรึกษาก็อาจเข้ามาพูดคุยกับเราได้ ที่บริษัท พีเพิลมีเดีย จำกัด 02-704-7958



: จากประสบการณ์ของท่าน แฟรนไชส์ที่ดี ควรมีลักษณะอย่างไร


: แฟรนไชส์ที่ดี ผู้ประกอบการ Franchisor ต้องมีระบบรองรับที่ดี ทั้งด้าน IT , การบริหารจัดการ , Logistic , การผลิต , การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ และ ที่สำคัญต้องเอื้อให้ Franchisee อยู่รอดได้อย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ Franchisor ก็ต้องมีระบบควบคุม Franchisee ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางที่ดีด้วย เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ก็เหมือนโดมิโน หากแฟรนไชส์ซี ค่อยๆ ล้มลง หรือ ออกนอกลู่นอกทางทีละตัว มันก็จะพาให้ทั้งหมดพังครืนได้ ซึ่งทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนความจริงใจในการทำธุรกิจอย่างแท้จริง


การพิจารณาแฟรนไชส์ที่ดี จึงต้องศึกษาอย่างละเอียด การดูความสำเร็จ จาก Franchisee รายอื่นๆ อาจเป็นทางลัดที่ดี โดยเฉพาะความสำเร็จที่ผ่านระยะเวลามาได้มากพอในระดับหนึ่ง ก็จะเป็นเครื่องการันตีที่ดี ส่วนแฟรนไชส์รายใหม่ๆ ผู้ลงทุนอาจต้องมีความเสี่ยง ซึ่งควรต้องยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้




: ท่านคิดเห็นอย่างไรสำหรับสถานการณ์ของแฟรนไชส์ไทยในปัจจุบันนี้


: สถานการณ์แฟรนไชส์สัญชาติไทยในปัจจุบัน ก็เหมือนกับการร่อนตะแกรง จะเหลือของจริงกี่รายยังตอบไม่ได้ เป็นช่วงของการเกิดดับตลอดเวลา เรียกว่ายังไม่นิ่ง แต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะธุรกิจที่เพิ่งเริ่มเข้ามาบูมในเมืองไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เอง


แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ มีธุรกิจแฟรนไชส์เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างหลากหลาย และ มีการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง จนเกิดการพัฒนาองค์ความรู้และวิธีการในหมู่ผู้ประกอบการตลอดเวลา ทำให้โอกาสเติบโตของธุรกิจนี้ยังคงมีอยู่สูงในอนาคต





: ในมุมมองของท่าน เชื่อว่าแฟรนไชส์ไทย จะได้ขยายตลาดไปสู่เวทีโลกหรือไม่ อย่างไร


: ได้แน่นอน หากผู้ประกอบการมีความพยายาม และ ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและถูกจุด โดยเฉพาะการเลือกประเภทสินค้า บริการ ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย ชาติไหนไม่มีเหมือน เพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้เราเป็นผู้นำมิใช่ผู้ตาม ยกตัวอย่างเช่น การนวดแผนไทย งานบริการที่ชาวโลกเริ่มรู้จัก หากพัฒนาไปสู่ระบบแฟรนไชส์ สร้างระบบรองรับที่ดี ทั้งด้านการผลิตบุคลากร ด้านวิชาการ การนำวิทยาศาสตร์และการแพทย์เข้ามาประกอบ รวมทั้งภาครัฐช่วยโปรโมทประชาสัมพันธ์ในระดับโลก ก็ยังมีโอกาสอีกมาก



: แฟรนไชส์ประเภทใดที่ท่านเห็นว่า ยังมีโอกาสเติบโตได้สูงในอนาคตอันใกล้นี้ อาทิ เช่น อาหาร, การศึกษา ฯลฯ


: พูดถึงตลาดในประเทศ ทุกตัวก็ยังคงมีโอกาส แต่หากเป็นตลาดต่างประเทศ คงต้องเป็นพวกแฟรนไชส์งานบริการ และแฟรนไชส์อาหาร โดยเฉพาะอาหารไทย หากทำให้โด่งดังเท่าอาหารชาติจีนได้ แฟรนไชส์อาหารไทยไปเกิดในตลาดโลกได้สบาย แต่นั่นคงไม่สามารถทำได้ หากภาครัฐไม่ช่วยเหลือ เพราะการทำประชาสัมพันธ์ในระดับโลกนั้น ลำพังเอกชนรายเดียวคงมีกำลังไม่เพียงพอ



: อยากเห็นอะไรในแวดวงธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทย ในอนาคต


: อยากเห็นความซื่อสัตย์ และ จริงใจ ของแฟรนไชส์ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่ง Franchisor และ ฝั่ง Franchisee

หลายครั้งที่ดิฉันเห็น Franchisor ไปไม่รอด เพราะ Franchisee โลภ อย่างเช่น พอเริ่มขายดี ก็เริ่มแอบไปซื้อวัตถุดิบเอง เพราะถูกกว่ารับจาก Franchisor เรียกว่า ได้กำไรมากกว่า ทำให้ Franchisor อยู่ไม่ได้ และต้องปิดกิจการไป ทั้งที่ขายได้ และ ขายดี

และ ก็หลายครั้งที่ดิฉันเห็น Franchisee ไปไม่รอด เพราะ Franchisor ไม่จริงใจที่จะซัพพอร์ต และ สนับสนุน หลังซื้อแฟรนไชส์ก็ทิ้งขว้าง จน Franchisee อยู่ไม่ได้และล้มหายตายจากไป
หากทั้งสองฝ่ายมีความ ความซื่อสัตย์ และ จริงใจ ไม่โลภ ดิฉันเชื่อว่า แฟรนไชส์ไทยคงพัฒนาไปได้เร็ว และ ไกลกว่านี้




: ช่วยฝากข้อคิดเห็น หรือ คำแนะนำ สำหรับผู้สนใจธุรกิจแฟรนไชส์ หรือ บรรดาแฟรนไชส์ซอร์ทั้งหลายในประเทศ


: ในฐานะสื่อ ดิฉันก็อยากฝากให้ แฟรนไชส์ซอร์ และ แฟรนไชส์ซี เห็นความสำคัญของการใช้สื่อ ในฐานะห่วงโซ่ที่สำคัญของธุรกิจ การถึงกลุ่มลูกค้า และ กลุ่มผู้บริโภคถือเป็นสิ่งสำคัญ

สินค้าที่ดีย่อมไม่เกิดการลองใช้ หากขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดี
วันใดที่เกิดเรื่องเช่นนี้ นั่นย่อมเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างแท้จริงค่ะ






คุณสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
กรรมการผู้จัดการ

บริษัท พีเพิลมีเดีย จำกัด
47,49 ซอยลาดพร้าว 140 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240


โทร 0-27047957-8
โทรสาร 0-27047863

e-mail: somjaiv@hotmail.com