บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
1.2K
3 นาที
11 ธันวาคม 2567
ทำไม ต้องเตรียมเงินถึง 15 ล้านบาท เพื่อเปิดแฟรนไชส์ Dairy Queen


ท่านผู้ชมรู้หรือไม่ว่า ตลาดไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟในบ้านเรามีมูลค่าตลาดสูงถึง 25,000 ล้านบาท ด้วยมูลค่าตลาดที่สูงเช่นนี้ จึงทำให้สมรภูมิการแข่งขันไม่เบาเหมือนชื่อ ด้วยความที่เป็นสินค้าตลาด Mass แต่กลับสร้าง Volume ในการขายได้เป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้เล่นหน้าใหม่ ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ ตบเท้าเข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง
 
เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 แบรนด์ไอศกรีมและชาผลไม้จากจีน MIXUE เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย ตามมาด้วย Ai-Cha แบรนด์ไอศกรีมและชาผลไม้จีนที่ไปโตในอินโดนีเซีย ต่อด้วย WEDRINK, Bing Chun แบรนด์ไอศกรีมและชาจากจีนก็เข้ามา และล่าสุด Momoyo แบรนด์ไอศกรีมและชาผลไม้จากอินโดนีเซียกำลังเปิดสาขาที่ 3 ในประเทศไทยเช่นกัน  
 
ยังไม่นับร้านเครื่องดื่มอื่นๆ อีกหลายแบรนด์ ที่เพิ่มไอศกรีมซอฟเสิร์ฟเข้าไปเป็นเมนูประจำร้าน 
 
แต่เจ้าตลาดในเมืองไทยอย่าง “แดรี่ควีน” อาจไม่ยี่หระนัก แม้จะในตลาดนี้จะมีคู่แข่งจากจีนที่กำลังถูกจับตามอง และคนรุ่นใหม่เริ่มให้การยอมรับ เพราะแดรี่ควีนครองส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แดรี่ควีนยังคงมีภาษีดีกว่า
 
กลยุทธ์การรักษาเบอร์ 1 ของแดรี่ควีนคืออะไร และหากจะเปิดร้านแฟรนไชส์ “แดรี่ควีน” ทำไมต้องเตรียมเงินถึง 15 ล้านบาท 
 
จุดเริ่มต้น “แดรี่ควีน”
 

จุดเริ่มต้น "แดรี่ควีน" เกิดขึ้นเมื่อปี 1940 (2483) ที่เมืองโจเลียต รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา โดย “เจ เอฟ แมคคูลูจ” ผู้ชายคนหนึ่งที่มีความหลงใหลในไอศกรีมเป็นอย่างมาก ถึงกับได้พยายามค้นหารสชาติไอศกรีมที่อร่อยที่สุด จนได้พบว่าไอศกรีมที่มีรสชาติอร่อยต้องมีรสสัมผัสที่นุ่มละมุน ไม่เหมือนกับไอศกรีมแช่แข็งตามร้านทั่วไป  
 
เขาจึงคิดต้นสูตรไอศกรีมขึ้นมาเองจนเป็นเอกลักษณ์ ได้ไอศกรีมเนื้อนุ่มรสชาติหอมกลิ่นนม จนได้รับขนานนามว่าเป็น “ราชินีของผลิตภัณฑ์นม หรือ แดรี่ควีน” ที่เรารู้จักในปัจจุบันนั่นเอง 
 
สำหรับในประเทศไทย "แดรี่ควีน" เข้ามาเปิดตลาดเมื่อปี 1996 (2539) โดยกลุ่มบริษัท ไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป เป็นผู้นำเข้ามาโดยเปิดสาขาแรกที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ชูเอกลักษณ์เป็นร้านไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟและบลิซซาร์ดแสนอร่อยที่ไม่เหมือนใคร พอเปิดร้านวันแรก ลูกค้าชาวไทยก็ให้การตอบรับอย่างล้นหลาม จนสามารถขยายสาขาเพิ่มได้อย่างรวดเร็ว
 
ต่อมาในปี 2011 (2554) บริษัทไมเนอร์ ฟู้ด ได้รับสิทธิต่อสัญญาแฟรนไชส์กับแดรี่ควีนในสหรัฐอเมริกา และได้เปิดขายแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนในประเทศไทย ภายใต้การบริหารของบริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด ปัจจุบันมีจำนวนสาขากว่า 530 แห่งทั่วประเทศ ถือว่ามีสาขามากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากจีนที่มีสาขากว่า 1,500 สาขา 
 
แดรี่ควีนได้ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอย่างต่ำ 20-30 แห่งในสิ้นปี 2567 ทั้งรูปแบบบริษัทขยายเองและแฟรนไชส์ โดยจะทำผ่านโมเดล “หนึ่งจังหวัด หนึ่งแฟรนไชส์ซี” หรือการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ซีสามารถขยายสาขาในจังหวัดนั้นๆ ได้แต่เพียงผู้เดียว 

กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” สู้ศึกไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ 
 

คุณธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด ในเครือ ไมเนอร์ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ร้านไอศกรีม “แดรี่ ควีน” เปิดเผยไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ว่า ตลาดไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟในบ้านเราต่อจากนี้จะแข่งขันกันดุเดือดขึ้น เห็นได้จากในปัจจุบันมีร้านขนมหวานและร้านเครื่องดื่มชา กาแฟ ที่ไม่เคยขายไอศกรีมเลย ได้ทำการ Launch ไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟเข้ามาเป็นอีกหนึ่งเมนูประจำร้าน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการในร้าน 
 
แต่แดรี่ควีนไม่สนใจจะเดินตามกลยุทธ์ของตัวเอง โฟกัสแต่แบรนด์ตัวเอง ไม่ React กับการขยายตัวของแบรนด์จีนและแบรนด์อื่นๆ โดยแดรี่ควีนจะมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่คู่แข่งไม่มี เช่น ทำเค้กสดๆ หน้าร้านให้ลูกค้าได้เห็น เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้น พร้อมทั้งเตรียมออกสินค้าใหม่ๆ วางขายในร้านทุก 45-60 วัน เพื่อกระตุ้นยอดการขาย 
  1. เดินหน้าเปิดร้านโมเดล DQ Lounge - EV Truck - Stand Alone โดยร้านโมเดล “DQ Lounge” ได้เปิดไปแล้วที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต ชั้น 1 ขนาดพื้นที่ทั้งหมด 40 ตารางเมตร และเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 
  2. ส่วน EV Truck ตอนนี้ยังไม่มีการขยายสาขาเพิ่ม ยังเป็นแค่โมเดลที่ทางแดรี่ควีนจะทำ โดยเป้าหมายจะให้แฟรนไชส์ซีในแต่ละพื้นที่นำไปทดลองใช้ก่อน ดูว่าเหมาะสมและตอบโจทย์ลูกค้าในพื้นที่หรือไม่ เพื่อจะได้พัฒนาต่อไป 
  3. ส่วนโมเดลการขยายร้านแบบ Stand Alone ได้เปิดสาขาแรกที่รังสิตภิรมย์ ให้บริการถึงตี 1 นานกว่าสาขาบนห้างฯ ปรากฏว่าลูกค้าให้การตอบรับดี ทำให้แดรี่ควีนรู้สึกมั่นใจในการเปิดสาขา Stand Alone เพิ่มมากขึ้น 
  4. การนำเทคโนโลยีด้านการชำระเงินอย่าง QR Code Payment มาปรับใช้ในร้าน เพื่อแก้ปัญหาการชำระเงินล่าช้า จะช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องต่อแถวและยืนอออยู่หน้าร้านจำนวนมาก พนักงานจะทำงานง่าย ไม่ต้องพะวงกับระบบการชำระเงิน 
  5. การมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า แดรี่ควีนจะให้พนักงานในร้านถ่ายคลิปขั้นตอนการทำเค้ก ขั้นตอนการทำเมนูพิเศษต่างๆ ให้ลูกค้าได้ดูว่าเมนูแต่ละรายการทำจากหน้าร้าน พนักงานทำกันสดๆ เห็นกระบวนการทำทุกอย่าง ทำด้วยมือ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้มาใช้บริการที่ร้าน 
Key Success ของแดรี่ควีน 
 

แดรี่ควีน สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 30% หลังจากช่วงการระบาดโควิด-19 มาจาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ
  1. การขยายสาขา
  2. การส่งเสริมการตลาด
  3. การพัฒนาเมนูใหม่
โดยเมนูใหม่ของแดรี่ควีน ถือเป็นหนึ่งใน Key Success ของแดรี่ควีนในปี 2566 
  1. เมนูบลิซซาร์ดข้าวเหนียวมะม่วงน้ำกะทิ : ปีที่แล้วเติบโต 10-15% จึงเป็นคีย์ความสำเร็จของแบรนด์
  2. เมนูบลิซซาร์ดข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ : ขยายความสำเร็จจากข้าวเหนียวมะม่วงน้ำกะทิ
  3. เมนูบลิซซาร์ดโอวันตินภูเขาไฟ : ยอดขายเกิน 1 ล้านถ้วยใน 1 เดือน เชื่อมกับ Nostalgia (นอสตัลเจีย)
  4. เมนูบลิซซาร์ดปังกรอบชาไทย : กลับมาอีกครั้งในรอบ 6 ปี เติบโตแบบดับเบิ้ลดิจิทตามกระแสชาไทย
  5. เมนูบลิซซาร์ดข้าวหลาม : ครั้งแรกของ Dairy Queen เป็นเมนูดีไซน์จากเมนูโลคอล 
ส่องรายได้ “แดรี่ควีน” ภายใต้การบริหารของบริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด
  • ปี 2564 รายได้ 1,017,568,099 บาท กำไร 39,510,831 บาท 
  • ปี 2565 รายได้ 1,439,385,686 บาท กำไร 151,535,476 บาท 
  • ปี 2566 รายได้ 1,719,430,520 บาท กำไร 169,101,850 บาท  

ลงทุนเปิดร้านแดรี่ควีน ใช้เงินเท่าไหร่
  • ร้านขนาด 30 ตร.ม.
  • ค่าแฟรนไชส์ 1.5 ล้านบาท 
  • Royalty Fee 5%
  • Marketing Fee 6%
  • งบก่อสร้าง+ออกแบบ+ตกแต่งร้าน 3-3.5 ล้านบาท (รวมค่าเช่าพื้นที่) 
  • ระยะสัญญา 10 ปี 
เงื่อนไขการลงทุน
  • หาพื้นที่หรือทำเลเปิดร้าน 3 แห่ง  
  • เปิด 1 สาขา ใช้เงินประมาณ 3 - 3.5 ล้านบาท ต้องเปิดร้านอย่างน้อย 3 สาขา
  • วางเงินค่าแฟรนไชส์ 1.5 ล้านบาท 
  • เปิดสาขาแรกภายใน 60 วัน หลังจากทำสัญญา
  • เปิดอีก 2 สาขาภายใน 1 ปี  
  • ฝึกอบรมประมาณ 30 วัน
นั่นก็เท่ากับว่า หากใครต้องการเปิดร้านแฟรนไชส์แดรี่ควีน จะต้องเตรียมเงินไว้เกือบ 15 ล้านบาท สำหรับเปิดร้านแดรี่ควีน 3 สาขา อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และรุปแบบการตกแต่งร้านด้วย 
 
คุณธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป “แดรี่ควีน” ได้ให้สัมภาษณ์ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ว่า หลักการพิจารณาคัดเลือกแฟรนไชส์ซีของแดรี่ควีน อย่างแรกจะดูเรื่องของเงินลงทุนเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ต่อไปจะดูเรื่องพื้นที่และทำเลเปิดร้านที่ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ส่งเข้ามา โดยจะพิจารณาจากทำเลตรงนั้นจะส่งเสริมแบรนด์อิมเมจของแดรี่ควีนได้หรือไม่ รวมถึงทำเลตรงนั้นตอบโจทย์ที่ทาง LandLord ต้องการให้ส่งเสริมธุรกิจของเขา และส่งเสริมธุรกิจแดรี่ควีนทำให้มีภาพลักษณ์ดีไปด้วย 
 
แดรี่ควีนจะดูแฟรนไชส์ซีด้วยว่า เปิดร้านแล้วจะไปรอดและมีกำไรหรือไม่ จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของรีเทิร์นที่แฟรนไชส์ซีได้ จะไม่เน้นขยายสาขาเพื่อให้ได้กำไรจากการเปิดร้าน แค่หวังให้แฟรนไชส์ซีอยู่กับแบรนด์ไปได้ถึง 10 ปี ตามระยะสัญญา 
 
ต้องจับตาดูต่อไปว่า ความพยามยามของ “แดรี่ควีน” ที่จะสร้างความแตกต่างในตลาด อาจเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำศึกตลาดไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟที่มีแบรนด์คู่แข่งจากต่างชาติ ทั้งจีน อินโดฯ เข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง 
 
นอกจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่แดรี่ควีนชูว่า “ไอศกรีมของแดรี่ควีนทำมาจากนม” ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ จะช่วยรักษาความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดได้ยาวนานหรือไม่ 
 
แหล่งข้อมูล 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
5 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2568
4,049
ชมงาน TFBO 2025 แฟรนไชส์จากเกาหลี - ร้านสะดวกซัก..
2,924
3 ทหารเสือแฟรนไชส์กาแฟสด “อเมซอน - พันธุ์ไทย - อ..
841
รวยฟ้าผ่า ป้าเจนนี่ Auntea Jenny กว่า 9,100 สาขา..
806
Zhengxin Chicken Steak แฟรนไชส์ไก่ทอดจีน โตเงียบ..
803
ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ใหญ่แค่ไหน ในสายตาโลก!
611
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด