บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
4.1K
4 นาที
27 ธันวาคม 2560
ความท้าทายครั้งใหม่! แฟรนไชส์ไทย ปี 2561 โดยนายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย


กระแสความนิยมธุรกิจแฟรนไชส์ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ได้ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนเข้ามาช่วยพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในระบบแฟรนไชส์มากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ 

ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนแฟรนไชส์ให้สามารถแข่งขันในตลาด AEC ด้วยการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจแฟรนไชส์ รวมทั้งการผลักดันสร้างโอกาสให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลก

แม้ว่าสถานการณ์และภาพรวมของแฟรนไชส์ตลอดทั้งปี 2560 จะยังไม่เติบโตมากนัก อันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง แต่กูรูด้านแฟรนไชส์ไทยหลายคนยังมองว่า โน้มธุรกิจแฟรนไชส์ปี 2561 มีโอกาสสดใสมากกว่าปี 2560  


วันนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย กูรูด้านแฟรนไชส์ของไทยอีกท่านหนึ่ง ถึงสถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ไทย-ต่างประเทศในปี 2561

ตลอดจนความท้าทายของเจ้าของแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ในปี 2561 โอกาสของธุรกิจและสินค้าใหม่ๆ รวมถึงวิธีการทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างมั่นคงในปี 2561...ต้องไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ
   
ภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ไทย-ต่างประเทศ ตลอดช่วงปี 2560

คุณสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย

ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา การเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ ยังคงไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก โดยภาพรวมน่าจะเติบโตราว 15% แต่มีจุดที่น่าสนใจของการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิตอล ก็คือ

1. ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้ความสนใจในเรื่องแฟรนไชส์มากขึ้น และมีความอยากรู้เรื่องของการสร้างระบบแฟรนไชส์ที่ดี ที่ถูกต้อง และมีโอกาสสร้างความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น

2. นักธุรกิจรอบบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา จีน และอินโดนีเซีย ให้ความสนใจธุรกิจของคนไทย นักธุรกิจอาเซียนมีความประทับในสินค้าและบริการของไทย และต้องการนำธุกริจหรือกิจการไปเปิดที่ประเทศของเขา 

อาจเรียกได้ว่า แฟรนไชส์ไทยเนื้อหอม ถ้าแบรนด์ใดมีภาพลักษณ์ที่ดี มีความพร้อม ก็มีโอกาสขยายไปสู่ต่างประเทศได้ง่าย โดยปัจจุบันก็มีแฟรนไชส์ไทยออกสู่ต่างประเทศไปแล้วหลายราย เช่น แบล็คแคนย่อน กาแฟอเมซอน ตำมั่ว N&B เป็นต้น 

3. ปัญหาเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อกำลังซื้อ โดยปี 2560 ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อภายในประเทศมีปัญหา โดยเฉพาะภาคเกษตร ประชาชนทั่วไปมีรายได้ลดลง ทำให้ธุรกิจทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ แต่ก็หวังว่าในปี 2561 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย อาจจะมีทิศทางไปในทางบวก เติบโตเพิ่มมากขึ้น  

ปัญหาของระบบแฟรนไชส์ไทย 
 

1.เข้าใจผิดในเรื่องของแฟรนไชส์

เนื่องจากยุคนี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำธุรกิจกันเยอะ และเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยลงในการเป็นเจ้าของกิจการ แต่ถือเป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่ จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต แต่ปัญหาก็คือ เจ้าของกิจการยุคใหม่ ต้องการความสำเร็จที่รวดเร็ว ทำให้เข้าใจว่า แฟรนไชส์ คือ เส้นทางที่จะสร้างความสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น 

นั่นเป็นความเข้าใจผิด ที่คิดว่าใครๆ ก็ทำแฟรนไชส์ได้ แท้จริงแล้ว ปัจจัยความสำเร็จเจ้าของแฟรนไชส์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งมาก่อน คือ เป็นธุรกิจที่มีกำไรแล้ว มีความชำนาญที่แท้จริง มีอายุของธุรกิจมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงจะเพียงพอที่จะมีประสบการณ์ และรู้วิธีการแก้ไข เพื่อนำความสำเร็จนั้น ไปขายแฟรนไชส์ให้ผู้อื่นได้

ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม ที่ต้องการความสำเร็จในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ สามารถจับหลัก Key Success ของแฟรนไชส์ได้ แล้วยึดหลักความสำเร็จ แล้วลงมือทำอย่างจริงจัง



2.ไม่มีระบบมาตรฐานแฟรนไชส์


ถามว่าผู้ที่ขายแฟรนไชส์ เข้าใจในเรื่องของระบบการบริหาร-จัดการ ร้านหรือไม่ รู้เรื่องการสร้างระบบมาตรฐานหรือไม่ ตอบได้ว่า ส่วนใหญ่ไม่รู้ นี่คือปัญหาของผู้ที่ขายแฟรนไชส์ส่วนใหญ่

ไม่สามรถควบคุม มาตรฐานคุณภาพสินค้า มาตรฐานในการให้บริการ มาตรฐานด้านความสะอาด และบรรยากาศของร้านได้ ซึ่งผู้ที่ขายแฟรนไชส์จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องสร้างระบบมาตรฐานที่ดี เพื่อสร้างความพึงพอใจ ให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำแล้วซ้ำเล่า 



3.การตลาดไม่เก่ง

การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่นิยม คือหน้าที่ของผู้ที่ขายแฟรนไชส์ เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ส่วนใหญ่ขาดทักษะในเรื่องนี้ ทำให้การขายแฟรนไชส์ออกไปแล้ว ร้านที่เปิดใหม่เงียบงัน สร้างความผิดหวังให้กับผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์

ดังนั้นผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่จะประสบความสำเร็จ จำเป็นมากที่ต้องลงแรง ลงทุน และเก่งเรื่องการสร้างตลาดและการสร้างแบรนด์ สร้างความนิยมในกลุ่มเป้าหมาย ที่จะทำให้ทางบริษัทแม่เอง ก็จะได้ค่าตอบแทนกลับมา เช่นกัน

ความท้าทายของแฟรนไชส์ในปี 2561 



1.ความท้าทายของแฟรนไชส์ซอร์ 

รู้จักจับคอนเซ็ปต์ที่ใช่ ปี 2561 โอกาสของการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ยังมีอยู่เยอะ แต่ผู้ที่จะนำธุรกิจของตัวเองเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ได้นั้น ต้องไม่ธรรมดา ต้องมีความพิเศษที่โดดเด่น มีสิ่งที่โดนใจผู้บริโภคที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน 

กล้าเอาจุดเด่นไทยไปขายต่างประเทศ อาหารไทยอะไรที่คนต่างชาติชื่นชอบ เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น บริการทางการแพทย์ ความงาม สปา เสริมสวย นวดไทย กีฬามวยไทย จะเป็นธุรกิจที่ส่งออกไปได้ทั่วโลกหรือไม่ หากคุณคิดว่าจะสร้างอนาคตที่ไปได้ไกลๆ ลองนำธุรกิจที่มีตลาดกว้าง มีโอกาสขยายไปทั่วโลกมาพัฒนา โดยมีเป้าหมายขยายแฟรนไชส์ไปทั่วโลก น่าจะเป็นโอกาสที่ท้าทายอยู่ตรงหน้า

ร้านที่ฮ็อตฮิต เปลี่ยนแนวคิด ทำธุรกิจแบบใหม่ คุณผู้อ่านรู้ไหมว่า มีร้านอาหารไทยหลายร้าน ที่ถูกโปรโมทแบบไม่รู้ตัว จากไกด์บุค จากนักรีวิว จากบล็อกเกอร์ต่างๆ ในต่างประเทศ ทำให้จู่ๆ ขายดีขึ้นมา จึงมีนักธุรกิจต้องการมาขอซื้อแฟรนไชส์ แต่กิจการเหล่านั้นไม่ทันตั้งตัว และไม่มีศักยภาพที่จะขยายสาขาได้ ทั้งๆ ที่โอกาสทองมาถึงตัวแล้ว

นั่นเป็นเพราะแนวคิดการทำธุรกิจที่มีรูปแบบดั้งเดิม ที่ยึดติดที่ตัวบุคคล ซึ่งสูตรอาหาร รสชาติ ก็จะตายหรือกลายพันธ์ไปกับตัวบุคคลที่ตายไป หรือเปลี่ยนไป ดังนั้น ใครต้องการต่อยอดธุรกิจ ต้องสร้างแนวคิดใหม่อย่างสิ้นเชิง ไม่ให้กิจการยึดติดกับตัวบุคคล แต่หันมายึดติดกับระบบงานแทน เพราะจะทำให้คนอื่นได้เรียนรู้ สานต่อ และขยายสาขาออกไปไกลๆ ได้
 



2.ความท้าทายของแฟรนไชส์ซี 

สตาร์ทอัพ ก้าวข้ามการสร้างตัว ลองสังเกตดูว่า นักธุรกิจระดับพันล้าน หรือคนที่รวยเร็วๆ พวกเขาเหล่านั้นมีวิธีการที่คล้ายๆ กัน คือ เทกโอเวอร์กิจการต่างๆ นำมาต่อยอด เพราะนั่นเป็นการร่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูก แต่สำหรับกระแสในช่วงนี้ มีการส่งเสริมสตาร์ทอัพ หานวัตกรรมธุรกิจใหม่ๆ กันอย่างหนักหน่วง แต่โอกาสของคนที่เริ่มต้นได้สำเร็จ ในความเป็นจริงนั้นมีน้อยนิด 

แต่ทั้งนี้ จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าคนที่เริ่มต้นธุรกิจ ลดความเสี่ยง ร่นระยะเวลาการลองผิดลองถูก มาลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อก้าวข้ามการสร้างตัว ที่ปกติจะต้องใช้เวลายาวนานในการสร้างตัว อาจมีคำถามต่อว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ธุรกิจที่เราเลือกนั้น เป็นแฟรนไชส์ไหนดี...ดูข้อแนะนำในหัวข้อต่อไป

เช็คร้านที่มีอยู่ก่อนตัดสินใจ ก่อนที่จะสตาร์อัพด้วยการซื้อแฟรนไชส์ ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะรู้ว่า แฟรนไชส์ที่คุณสนใจอยู่โอเคหรือไม่ สิ่งที่ต้องลงมือทำก็คือ สำรวจแฟรนไชส์ที่ทำอยู่ ศึกษาว่า เขาเหล่านั้นทำไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

เช่น ได้กำไรจริงไหม ได้รับการดูแลจากบริษัทแม่ดีหรือไม่  และจะต้องสำรวจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าร้านส่วนใหญ่ดำเนินกิจการได้ดี มากกว่าร้านที่แย่ ก็จะได้ข้อมูลมาเองโดยอัตโนมัติ ที่ทำให้ตัดสินใจได้แม่นยำว่า แฟรนไชส์ที่กำลังจะตัดสินใจลงทุนนั้น ดีจริงหรือไม่

แนวโน้มของแฟรนไชส์ไทย ปี 2561


แนวโน้มของธุรกิจแฟรนไชส์ปี 2561 น่าจะดีมากๆ แต่ปัญหาอยู่ที่ธุรกิจของคนไทยเองที่ไปไม่ถึง เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ของคนไทย ยังไม่ได้มีแนวคิดในการขยายสาขาออกสู่ต่างประเทศ แต่มีนักธุรกิจประเทศรอบบ้านของไทย กลับมองว่าธุรกิจของคนไทยหลายอย่าง น่าสนใจ และต้องการนำไปเปิดบริการที่ประเทศของเขาบ้าง 

โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีมาตรฐาน เช่น เอสแอนด์พี, ร้านอร่อยที่ถูกแนะนำในไกด์บุคต่างๆ, นวดไทย ที่มีระบบมาตรฐานทุกๆ ด้าน, ด้านการเสริมสวย, ความงาม, ยิมออกกำลังมวยไทย, สินค้าเกษตรออแกนิค, หัตกรรมประยุกต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของแฟรนไชส์ที่จะก้าวไกลได้จริง ก็ย่อมขึ้นกลับความร่วมมือของหลายฝ่ายที่มีศักยภาพ ในการร่วมกันคิด ร่วมกันทำในสิ่งใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมๆ ที่จะทำให้งบประมาณการสนับสนุนของ เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ เกิดประโยชน์ได้จริง และคุ้มค่าในการใช้จ่าย



ควรซื้อแฟรนไชส์ หรือ สร้างธุรกิจด้วยตัวเอง ปี 2561  

วิธีการทำธุรกิจ ทุกวิธีการ ล้วนมีทั้งข้อดี-ข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น

การสร้างธุรกิจของตัวเอง 


มีข้อดี
คือ หากประสบความสำเร็จ ก็ทำให้ร่ำรวยได้จริงในอนาคต และคนสร้างธุรกิจของตัวเอง มีอิสระในการสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด 

แต่ข้อเสีย ก็คือ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ตามสถิติแล้วจะมีน้อยนิด ไม่น่าจะไม่เกิน 20% ของคนทั้งหมดที่เริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเอง และสิ่งที่เป็นจริงที่สุดก็คือ คนที่ถูกสร้างมาเพื่อให้เป็นเจ้าของกิจการนั้น ไม่ใช่ทุกคน เพราะมนุษย์ที่เกิดมาเพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจ จะเป็นคนที่อดทนต่อปัญหาได้สูง มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า มีจิตวิทยาในการใช้คน มีทักษะที่ดีในการจัดการทางการเงิน เป็นต้น 

การซื้อแฟรนไชส์ 



ข้อดี
คือ ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพราะมีต้นแบบให้เห็นแล้วว่า กิจการมีหน้าตาเป็นอย่างไร มีลูกค้าเป็นใคร สามารถทำเงินได้หรือไม่ เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถร่นระยะเวลาในการตั้งตัวได้ เพราะเริ่มได้ทันทีทันใด แต่การสร้างกิจการของตัวเอง ต้องใช้เวลานานกว่า จะเริ่มกิจการขึ้นมาได้ กว่าจะสร้างฐานลูกค้า กว่าจะมั่นคง อาจกิจเวลายาวนานหลายๆ ปี

ข้อเสีย คือ ความเสี่ยงจากบริษัทแม่ ที่ไม่ได้สร้างระบบที่ดีรองรับ ทำให้ธุรกิจไปไม่รอดได้เช่นกัน และการซื้อแฟรนไชส์ จะขาดอิสระในการสร้างสรรค์ ซึ่งการซื้อแฟรนไชส์ ก็จะเหมาะสำหรับคนที่ชอบทำงานตามระเบียบ รวมถึงคนที่ต้องการทำกิจการที่ตัวเองไม่มีทักษะเลย เช่น อาจเป็นคนอยู่ในงานราชการมาก่อน แต่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ หรือบางคนอาจเป็นแพทย์ แต่อยากทำร้านอาหารขึ้นมา เป็นต้น


ทั้งหมดเป็นบทวิเคราะห์ แนวความคิดของ คุณสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย เกี่ยวกับสถานการณ์แฟรนไชส์ไทย ความท้าย แนวโน้มการเติบโตของแฟรนไชส์ รวมถึงวิธีการสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจแฟรนไชส์ ในปี 2561 ให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ทั้งการขยายสาขาในประเทศและออกสู่ต่างประเทศ

ทีมงานไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ เชื่อว่าบทสัมภาษณ์ที่นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทยได้วิเคราะห์ไปนั้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในระบบแฟรนไชส์ นักลงทุน ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ และผู้ที่อยากทำแฟรนไชส์ในปี 2561 ไม่มากก็น้อยครับ 

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
อ่านจดหมายข่าว ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ อื่นๆ  www.thaifranchisecenter.com/newsletter/index.php
หรือสนใจซื้อแฟรนไชส์ www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php 

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ตู้น้ำด่างRO SAFE ธุรกิจน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ! ติดต..
2,543
10 แฟรนไชส์ขายดี สงกรานต์ 2568
548
ไม่แก่เกิน! 60+ ลงทุนแฟรนไชส์อะไรดี?
456
จัดให้! รวม 10 แฟรนไชส์สายเครื่องดื่ม หน้าร้อนนี..
452
บุกไทยแล้ว! แฟรนไชส์ Fish With You ร้านอาหารจีนต..
431
ระวัง! แฟรนไชส์จีนเต้าหู้ ระเบิดเวลาที่นักลงทุนไ..
428
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด