8.2K
 1 สิงหาคม 2549 
สูตรสำเร็จ 'สมาร์ท อิงลิช' แจ้งเกิดแฟรนไชซี่คุณภาพ



การสร้างระบบแฟรนไชส์ให้น่าเชื่อถือเป็นเรื่องไม่ง่าย ยิ่งเป็นแฟรนไชส์สายพันธุ์ไทยการยืนอยู่บนเส้นทางนี้ยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่สำหรับ 'สมาร์ท อิงลิช' ที่อยู่บนธุรกิจนี้กว่า 8 ปี กับการมีจุดยืน ทำธุรกิจอย่างเชื่อมั่น ระมัดระวัง จนสามารถยืนในฐานะสถาบันสอนภาษาสำหรับเด็กแถวหน้า ที่มีสาขาแตะ 60 สาขา ทั่วประเทศอย่างวันนี้ได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2539 สมาร์ท อิงลิช เริ่มต้นขึ้นในฐานะ ศูนย์สอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กภายในห้องแถวเล็กๆ ที่จังหวัดตรัง จนเมื่อ 8 ปี ที่ผ่านมาพวกเขาก็เริ่มขายแฟรนไชส์ทำอย่างค่อยไปค่อยไป จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในวันนี้ได้ ความสำเร็จที่ไม่น่าจะง่ายของการสร้างแบรนด์สถาบันสอนภาษา กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่นักลงทุนหลายรายอยากเข้าไปล่วงรู้

“อาทิตย์ คงนคร” ประธานบริหารกลุ่มสมาร์ท อิงลิช พูดคุยอย่างสบายๆ กับผลงานตลอด 8 ปีที่ผ่านมา หลังเปิดขายแฟรนไชส์ ด้วยอัตราการเติบโต 10-20 สาขา ต่อปี และที่ก้าวกระโดดอย่างงดงามคือผลงานในปี 2548 กับสาขาที่เพิ่มขึ้น 30 สาขา จนทำให้สมาร์ท อิงลิช สถาบันสอนภาษาสำหรับวัยซน กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วถึง 60 สาขา มีนักเรียนรวมกว่า 8,000 ราย

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลงานของพวกเขาก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง สิ่งที่คนกุมบังเหียนบอกเรา ก็คือ ความแตกต่าง บนจุดยืนที่มั่นคงนั่นเอง


เขาเลือกจะเป็นสเปเชียลลิสต์สอนภาษาเด็กวัยอนุบาล ถึง มัธยมต้นเท่านั้น


'คู่แข่งโดยตรงเราแทบไม่มีเลย เพราะทุกวันนี้มีสถาบันสอนภาษาเกิดขึ้นมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่ สอนคลุมตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยทำงานเลย แต่เราไม่ทำ เราเน้นเฉพาะเด็กเท่านั้น เลือกทำแค่นี้เพราะเราเริ่มจากเด็ก มีความถนัด เราต้องการวางตัวเองให้เป็นสเปเชียลลิสต์มากกว่า'

ขณะที่เด็กมัธยมปลายเป้าหมายคือการเอนทรานซ์ โรงเรียนกวดวิชาจึงเป็นสิ่งที่พวกเขา 'เลือก' มากกว่า



นอกจากนี้การสอนที่นี่แตกต่างจากที่อื่น ครูที่สอนเป็นคนไทยที่เหมือนพี่เลี้ยงแนะนำการสอนตามตำราที่มี โดยมีระยะเวลาในการเทรนครูถึงกว่าปีเต็ม เพื่อให้ได้คุณภาพอย่างที่ต้องการในที่สุด

'เราเน้นครูคนไทย เพราะเห็นปัญหามาตลอดว่า เด็กเล็กๆ ที่เราให้เริ่มเรียนกับต่างชาติเลย เวลาเขามีอะไรสงสัย อยากถามก็จะไม่กล้าถาม และต่างชาติก็ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ และต้องยอมรับว่าครูไทยสอนเก่ง เราเลยมีจุดยืนเลยว่าต้องเป็นครูคนไทยเท่านั้น แต่ที่นี่ไม่ได้ให้ครูมีบทบาทสำคัญที่สุด เราเน้นเป็นเพียง คนดูแลและสอนตามหลักสูตรที่มีให้อยู่แล้ว'

ต่อเนื่องจากครูผู้สอนในฐานะผู้ชี้นำหรือดูแลเด็ก ความสำคัญถูกโยนมาไว้กับหลักสูตร ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาเอง ตามแบบฉบับ สมาร์ท อิงลิช เพื่อความเข้าใจง่ายๆ และหรรษาประสาเด็กไทยจริงๆ

'สอดคล้องกับที่เราเลือกกลุ่มเด็กตั้งแต่แรก ก็เพื่อให้สามารถพัฒนาเชิงลึกได้ โดยเฉพาะเรื่องของหลักสูตร เราเน้นหลักสูตรที่เข้าถึงเด็กให้มากที่สุด พัฒนาไปตามช่วงวัยและความเข้าใจของเขา เด็กที่นี่หลังมาเรียนจะเห็นพัฒนาการมากขึ้น อาจจะเป็นเกรดที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือเราเห็นว่าเด็ก รักในภาษาอังกฤษมากขึ้นด้วย'


ขณะเดียวกันต้องวางรากฐานการบริหารจัดการให้แข็งแรง เพราะนี่คือปัจจัยหนุนด้านธุรกิจ

'เราให้ความสำคัญกับการเลือกแฟรนไชซีมาก เพราะถ้าเลือกที่ดีตั้งแต่แรก ก็จะส่งผลกับการอยู่รอดของแฟรนไชส์ในช่วงต่อไป อย่างในปีนี้มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาถึง 500 ราย แต่เราก็เลือกเพียง 30 ราย โดยเน้นว่าเขาต้องมีทัศนคติตรงกับเราจริงๆ บางรายที่เข้ามาเพราะมีเงินมาก อยากลงทุน อยากค้ากำไร เราก็จะบอกตรงๆ ว่าธุรกิจนี้เหมือนน้ำซึมบ่อทราย ไปได้เรื่อยๆ แต่ยอดไม่หวือหวานะ

สำหรับคนที่ตัดสินใจจะลงทุนจริงๆ เราจะคุยกับเขาเยอะมาก บอกเขาตรงๆ ไปเลย โดยพยายามพูดให้ติดลบ เพื่อชี้ให้เขาเห็น ว่ามันมีอะไรบ้างที่หนัก และอาจไม่เป็นอย่างที่คิด เช่น มันเหนื่อยนะ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ บางครั้งอาจต้องไปล้างห้องน้ำเด็กเอง จะทำได้ไหม อย่างตัวเลขที่คิดว่าดีมาก อาจไม่เป็นอย่างนั้นนะ มันขึ้นกับปัจจัยอะไรบ้าง เราพยายามหาประเด็นให้เขาคิด เรียกว่าเบรกความคิดเขาให้ได้ ถ้าผ่านตรงนี้ได้ ถึงจะเริ่มพูดคุยงานกัน'


สิ่งที่ผู้บริหารสมาร์ท อิงลิช บอกกับเรา ภายหลังการพูดคุยที่เฟ้นอย่างสาหัสแล้ว ก็คือ การ 'ซื่อสัตย์ในคำพูด' เมื่อพูดไปอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น และนี่เองที่สามารถรักษาแฟรนไชซีที่ดีให้กับพวกเขาได้จนถึง 60 สาขา

แม้จะพูดคุยกันอย่างเปิดกว้างเมื่อแฟรนไชซีมีปัญหา แต่อาทิตย์บอกเราว่า จะเข้าไปวุ่นวายกับแฟรนไชซีให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ การตัดสินใจขายแฟรนไชส์ที่เงิน 3.5 แสนบาท โดยไม่มีค่าการตลาดใดๆ ก็เพื่อรักษาความเป็นธรรมและระยะห่างตรงจุดนี้ไว้ อย่างให้ผู้ร่วมธุรกิจ เป็นพันธมิตรที่ดีและรู้สึกสบายใจกับการลงทุนครั้งนี้ มากกว่าหวังผลทางการค้าจนเกินไป ที่สำคัญต้องย้ำแฟรนไชซีตลอด ถึงการต่อยอดธุรกิจ ไม่ใช่ซื้อไปแล้วก็ไม่คิดพัฒนาอะไรต่อไป หวังเก็บเกี่ยวดอกผลที่ไม่ลงมือทำก็คงเป็นไปไม่ได้



'สิ่งที่ผมพยายามบอกแฟรนไชซีก็คือ ซื้อเราไปก็เหมือนซื้อต้นไม้ไปปลูก ถ้าไม่รดน้ำพรวนดินมันก็คงไม่ออกดอกออกผลฉะนั้นแฟรนไชซีที่ดีจะต้องสามารถต่อยอดธุรกิจ โดยอยู่ภายใต้การแนะนำของแฟรนไชซอร์เท่านั้น'

สำหรับแฟรนไชซีที่จะอยู่ได้ อาทิตย์ บอกเราว่า ควรจะมีนักเรียนหมุนเวียนต่อสาขาประมาณ 30-40 คน ถ้าต่ำกว่านี้ ก็ถือว่าเริ่มส่งสัญญาณอันตรายและต้องปรับตัวเองต่อไป ที่ผ่านมาบางสาขามีเด็กถึงกว่า 100 คน ซึ่งเขาก็บอกว่า ต้องอาศัยการเปิดมานานพอสมควร จนสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากเด็กๆ ผู้ปกครอง และผู้ทำธุรกิจได้

นี่คือ 'จุดยืน' ธุรกิจที่ชัดเจน เข้มแข็ง ไม่ไหวไปตามกระแส จนทำให้รากฐาน 'ระบบ'แฟรนไชส์เข้มแข็ง

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ
 
สุดยอดแฟรนไชส์น่าสนใจ

มาโนอิ

MANOI マノイมาโนอิ จากความชื่นชอบดื่มชานมไข่มุก ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะสานต่อความชอบให้ออกมาในรูปแบบของธุรกิจ ส่งต่อความอร่อยแบบห..

ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส

ก๋วยเตี๋ยวปัญจะรสแฟรนไชส์ที่พร้อมสร้างอาชีพให้คนไทยได้แท้จริง มาพร้อมมาตรฐานและระบบบริหารจัดการดีเยี่ยม อร่อยเหมือนกันได้ทุกสาขาเพ..