4.4K
25 กันยายน 2549
" ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ร้านสะดวกซื้อ 'รถเข็น' "

 
 
"ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" แฟรนไชส์รถเข็นแบรนด์ใหญ่ มีจุดขายครอบคลุมแทบทุกตลาดนัด ตลาดสด กลายเป็นจุดแข็ง และโอกาสใหม่ที่สามารถ "ต่อยอด" ธุรกิจจนกลายเป็นร้านสะดวกซื้อขนาดย่อมๆ 
 
"เป้าหมายของเราอยากทำชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ให้เป็นร้านขายของชำ ขายของสะดวกซื้อให้กับลูกค้า เพราะจุดขายเรามีรองรับอยู่แล้ว ผมอาจให้เขาวางขายหนังสือพิมพ์สัก 2-3 ฉบับ ตอนนี้เรามีรถเข็นที่เป็นแฟรนไชส์อยู่ไม่ต่ำกว่า 1,500 คัน ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ผมก็สามารถสั่งหนังสือมาและกระจายไปวางตามจุดขายเหล่านั้นได้ คนขายก็จะมีรายได้แต่ละวันเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากขายของให้เรา" 
 
"พันธ์รบ กำลา" ประธานกรรมการบริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัด บอกว่า วันนี้แฟรนไชส์ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" มีอายุ 11-12 ปีแล้ว เป็นแบรนด์ที่ขายได้ และมีจุดขายอยู่ใกล้กับผู้บริโภค ทำให้มีทั้งความใกล้ชิดและให้ความสะดวกกับลูกค้า 
 
จุดแข็งจาก "จุดขาย" ที่มีอยู่ ทำให้ทุกวันนี้มีบริษัทหลายแห่งติดต่อเข้ามา เพื่อให้ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ช่วยขายสินค้าให้ เพราะมองเห็นโอกาสที่ว่า "ชายสี่ฯ อยู่ที่ไหนก็ขายได้" 
 
"จุดขายสำคัญยิ่งกว่าการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ ใครๆ ก็สามารถทำหนังสือพิมพ์ได้ แต่จะขายได้หรือเปล่า" 
 
เขายกตัวอย่างถึงลูกอมยี่ห้อดังรายหนึ่ง ที่ติดต่อเข้ามาให้แฟรนไชส์รถเข็นของชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ช่วยเป็นจุดวางขายให้ โดยทำเป็นแบรนด์ของชายสี่ฯ เอง ซึ่งบริษัทก็กำลังพิจารณาความเป็นไปได้อยู่
 
ส่วนพันธมิตรข้ามไลน์ธุรกิจรายแรกที่เปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ ก็คือ ดีแทค ซึ่งติดต่อให้ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เข้าไปเป็นจุดเติมเงินมือถือให้กับลูกค้าที่ใช้บริการแฮปปี้ และมีแนวคิดที่ขายไปถึงการให้เป็นตัวแทนขยายผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเกม บริการเสริมและโปรโมชั่นใหม่ๆ ของดีแทค
 
 
 
"เป็นครั้งแรกที่ชายสี่ฯ ได้มีการร่วมทำธุรกิจกับบริษัทอื่น ทั้งแฮปปี้และชายสี่ฯ ต่างก็มีแนวความคิดตรงกันในการสร้างบริการที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า และสำหรับร้านค้าที่เป็นสมาชิกเฟรนไชส์ของชายสี่ฯ เอง นอกจากรายได้จากการขายบะหมี่แล้ว ก็ยังจะมีช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วย" 
 
"พันธ์รบ" บอกว่า ธุรกิจรถเข็นเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสำหรับทุกฝ่าย ในส่วนของตัวเขาเองก็สามารถนำจุดขายที่มีอยู่มาสร้างกำไรให้กับบริษัท ขณะที่ ผู้ที่ซื้อสินค้าจากบริษัทไปนั้น ทางเขาก็เข้าไปร่วมมองโอกาสว่าจะนำจุดแข็งและจุดขายที่มีอยู่ ไปทำอะไรต่อเนื่องได้ 
 
"อย่าลืมว่าคนไปที่ไหน เขาก็ต้องมีเงินติดตัวไปด้วย มันก็เป็นผลต่อเนื่อง เป็นโอกาสให้ลูกค้าอาจอยากซื้อสินค้า เช่น คนที่มาเติมเงินของแฮปปี้ออนไลน์ที่เรา เขาอาจไม่ได้ตั้งใจมาทานบะหมี่ แต่พอมาถึงแล้วได้กลิ่นหอมของเส้นบะหมี่ ก็อาจอยากนั่งทาน หรือซื้อของอร่อยๆ กลับไปฝากคนที่บ้าน หรือเห็นหนังสือวางขายอยู่ ก็อาจอยากซื้อขึ้นมา แต่ละวันคนขายก็จะได้กำไร ที่เราแบ่งให้เป็นรายได้เพิ่มกลับไป" 
 
หลายคนคงแปลกใจถ้ารู้ว่า ปัจจุบันบนรถเข็นชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว 1 คัน มีสินค้าขายอยู่ 20-30 รายการ ซึ่งล้วนแต่ต่อยอดมาจาก "บะหมี่-เกี๊ยว" ซึ่งเป็นสินค้าหลักของแฟรนไชส์เจ้านี้ 
 
ทุกวันนี้ ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ของชายสี่ฯ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระดับตามขนาดของรถเข็น ได้แก่ แฟรนไชส์ราคา 37,000 บาท, 40,000 บาท และ 45,000 บาท จะได้รับรถเข็นพร้อมอุปกรณ์ครบชุดที่สามารถไปตั้งขายได้ทันที และแต่ละวันทางบริษัทก็จะจัดวัตถุดิบทั้งเส้นบะหมี่ เกี๊ยว และเครื่องปรุงสำเร็จรูปสำหรับทำน้ำซุป หมักเนื้อหมูแดงส่งให้ถึงที่
เครื่องปรุงสำเร็จรูปเหล่านี้อยู่ในแพ็คเกจจิ้งอย่างดี เพื่อที่คนขายจะได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องเสียเวลามานั่งปรุงน้ำซุป หรือปรุงเครื่องหมักเนื้อหมูแดงเอง รวมทั้งทำให้รสชาติบะหมี่เกี๊ยวของชายสี่ฯ ในทุกสาขามีมาตรฐานเดียวกัน
 
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการผลิตนั้นเน้นจ้างผู้ผลิตรายอื่นทำให้แทบทุกอย่าง ยกเว้นเส้นบะหมี่และแผ่นเกี๊ยว ที่บริษัท ชายสี่ฯ ยังทำเองอยู่ เพราะมองว่าการจ้างจะสะดวกกว่า ทำให้คุมต้นทุนได้ เมื่อเทียบกับถ้าทำเองทั้งหมด ก็อาจมีปัจจัยเรื่องการจ้างคน และต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาขึ้น-ลง ขณะที่ การทำเป็นเครื่องปรุงสำเร็จรูป ผู้ผลิตอาจส่งของให้ในราคาซองละ 10 บาท และบริษัทนำไปขายราคา 15 บาท ทำให้รู้ต้นทุนและบริหารกำไรได้
 
"เราเริ่มทำเป็นเครื่องปรุงแบบสำเร็จรูปตั้งแต่กลางปี 2548 เพราะมองว่าธุรกิจเราโตขึ้น มีจุดขายทั่วประเทศ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีปัญหาเข้ามา จึงมานั่งคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร และทำให้ชายสี่ฯ มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมาแม้เราจะบอกสูตรคนซื้อแฟรนไชส์เราไป แต่ก็ไม่ได้ไปยืนคุม เขาก็อาจลดเครื่องปรุงบางส่วนลง เพราะอยากได้กำไรมากขึ้น หรือบางครั้งเจ้าของร้านไม่อยู่ ลูกน้องก็ปรุงได้ไม่เหมือน" 
 
เขาบอกว่าการปรับรูปแบบใหม่นี้ นอกจากจะทำให้ลูกค้ามั่นใจใน "มาตรฐาน" ของชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวมากขึ้นแล้ว เมื่อเทียบกับสูตรเดิมที่ร้านค้าต้องไปซื้อวัตถุดิบมาปรุงเอง ร้านค้าจะประหยัดค่าวัตถุดิบขึ้น และสะดวกขึ้นด้วย 
 
ความสำเร็จของเครือข่ายรถเข็นขายบะหมี่-เกี๊ยวในประเทศไทย ยังทำให้ผู้ประกอบการจากหลายประเทศ อาทิเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ลาว และมาเลเซีย ติดต่อที่จะขอนำ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" ไปขาย ณ ต่างแดนแล้ว 
 
"เรากำลังฟอร์มทีมงานขึ้นมาดูตรงนี้ เพราะถ้าจะไปเราต้องไปแบบสำเร็จรูป ต้องคิดรูปแบบให้เขายกไปขายได้ทันที รวมถึงยังมีเรื่องของรสชาติ ที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับรสนิยมของแต่ละประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนธงที่อยู่บนยอด ที่เราต้องเดินไปให้ได้"
 
ส่วนอีกแผนงานใหญ่ของแฟรนไชส์อายุ 12 ปีนี้ก็คือ การขยายจุดขายให้ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วไทย หรือ "1 อำเภอ 1 ชายสี่" นั่นเอง
 
"เป็นครั้งแรกที่ชายสี่ฯ ได้มีการร่วมทำธุรกิจกับบริษัทอื่น ทั้งแฮปปี้และชายสี่ฯ ต่างก็มีแนวความคิดตรงกันในการสร้างบริการที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า และสำหรับร้านค้าที่เป็นสมาชิกแฟรนไชส์ของชายสี่ฯ เอง นอกจากรายได้จากการขายบะหมี่แล้ว ก็ยังจะมีช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วย" 
 
 
 
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
5,493
PLAY Q by CST bright u..
1,067
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
940
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
931
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
783
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
755
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด