1.4K
13 มีนาคม 2562
เอ็นไอเอ ติดปีกธุรกิจนวัตกรรม จับมือ ตลท. ดัน 80 นวัตกรรมท่องเที่ยวเข้าตลาด MAI
 
 
 
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เดินหน้าโครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมทำหลักสูตรส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการบริการและการท่องเที่ยวจำนวน 80 ธุรกิจ เชื่อจะมีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างน้อย 20% หรือประมาณ 16 ราย ภายในระยะเวลา 5 ปี 
 
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ให้ก้าวสู่การเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อยกระดับธุรกิจนวัตกรรมให้มีการเติบโตยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถระดมทุน เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจ รวมถึงการจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมต่อการดำเนินกิจการ และยังเป็นแรงจูงใจในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ เพื่อให้แนวนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ NIA จึงได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ดำเนินโครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรม สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเติบโตในตลาดทุน ซึ่งโครงการ IDE to IPO นี้มีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดองค์ความรู้ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการสร้างความแตกต่างให้กับบริการและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศมีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น เนื่องจากโครงการจะมุ่งเน้นการผลักดันกลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีโอกาสขยายตัวค่อนข้างสูง (S-Curve และ New S-Curve) เช่น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจบริการและท่องเที่ยว ฯลฯ
 
ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า ความสำเร็จจากการดำเนินงาน 2 รุ่นที่ผ่านมาพบว่า บริษัทที่ร่วมโครงการมีการเติบโตสูงในด้านการลงทุนและมีความสามารถในการบริหารจัดการที่มากขึ้น โดยผลการจัดหลักสูตรในรุ่นที่ 1 มีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 56 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และจากระบบติดตามการเติบโต มีจำนวน 8 บริษัทที่วางแผนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี ส่วนในรุ่นที่ 2 นั้น มีผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 100 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ และจากระบบติดตามการเติบโต พบว่ามีจำนวน 16 บริษัท ที่วางแผนการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี
 
สำหรับการดำเนินโครงการในรุ่นที่ 3 NIA และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการบริการและการท่องเที่ยว โดยได้คัดเลือกผู้ประกอบการ 80 สาขาธุรกิจที่มีศักยภาพและเชื่อมโยงกับกับกิจกรรมการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร เอนเตอร์เทนเมนท์ การเดินทาง-ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมกันกำหนดหลักสูตรและกิจกรรมที่อัดแน่นไปด้วยความรู้และปัจจัยที่จำเป็นต่อการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดทำแผนธุรกิจ การบริหารจัดการองค์กร กฎหมาย การวางระบบบัญชี การเตรียมพร้อมบุคลากร เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้รวดเร็วขึ้นทาง NIA ยังมีกลไกสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรม ทั้งโปรแกรมการส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิด นวัตกรรมแบบมุ่งเป้า พร้อมด้วยทุนที่ปรึกษาธุรกิจ Mind Credit ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดพัฒนานวัตกรรมในองค์กร สามารถรับทุนสนับสนุนจาก NIA เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการนวัตกรรมเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
 
ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า การดำเนินหลักสูตร IDE to IPO รุ่นที่ 3 นี้ ทั้ง NIA และ ตลท.มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศได้อย่างมหาศาล ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ขณะนี้ควรจะต้องเชื่อมโยงหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เติบโตด้วยวิธีการที่ทันสมัย โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทรงพลังที่สุดในโลกธุรกิจและการค้าในยุคปัจจุบัน
 
นายประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานในรุ่นที่ 3 พบว่า สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการเข้าร่วมของผู้ประกอบการในธุรกิจหลากหลายสาขาแล้วก็คือ อายุเฉลี่ยของผู้ที่เข้าร่วมโครงการซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 40 ปี และอายุเฉลี่ยของแต่ละกิจการอยู่ที่ไม่เกิน 13 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้ดำเนินธุรกิจยุคใหม่ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการเตรียมตัวและปรับปรุงศักยภาพในด้านต่างๆ ขององค์กรเพื่อให้ก้าวสู่การเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในทิศทางที่ดีขึ้น และหลังจบหลักสูตร IDE to IPO จะมีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างน้อย 20% หรือจำนวน 16 รายภายในระยะเวลา 5 ปี รวมถึงเห็นโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ และเป็นผู้ประกอบการในระดับยูนิคอร์นโลดแล่นในเวทีโลก

อ้างอิงจาก : MGROnline.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
963
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
662
“เติมพลังความรู้” กับ ..
595
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
564
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
557
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
519
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด