2.5K
5 สิงหาคม 2556
สสว.ควัก 10 ล้าน ปั้น “แก่ตกงาน” เป็นผู้ประกอบการใหม่

 
 
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ที่สองจากขวา) และนายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รักษาการผู้อำนวยการ สสว. (ที่สามจากขวา) กล่าวในงานเปิดโครงการเสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่
 
สสว.ควักงบ 10 ล้านบาท ผุดโครงการช่วยเหลือแรงงานที่ต้องตกงานจากผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บาท โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุให้ก้าวมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ แจงช่วยเหลือสร้างอาชีพแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มจนตั้งกิจการได้จริง กำหนดเปิดรับ 3 พันคน วางเป้าเกิดเถ้าแก่ใหม่ได้จริงอย่างน้อย 300 ราย
 
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่ว่า จากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น แม้ข้อมูลของกระทรวงแรงงานจะพบว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากอย่างที่เกรงในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม พบว่า ตามปกติจะมีธุรกิจตั้งใหม่ประมาณ 30,000 รายต่อปี ขณะที่อัตราการเลิกกิจการอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เมื่อเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่าธุรกิจที่ปิดตัวส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขาดความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ ขาดทักษะ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทดแทนธุรกิจเดิม ทำให้รายได้ลดลง ขณะที่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานสูงอายุ
 
จากภาวะเกิดการเลิกจ้างของธุรกิจขนาดเล็กและเลิกจ้างแรงงานอายุมากดังกล่าว ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ได้จัดทำโครงการ “เสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่” โดยนำหน่วยงานที่เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง รวมถึงผู้ที่กำลังมองหาอาชีพให้กลายมาเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่
 
สำหรับการดำเนินโครงการจะครบวงจร ตั้งแต่ช่วยเริ่มต้นจนสามารถตั้งธุรกิจของตัวเองได้สำเร็จ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกเน้นให้ความรู้ทางวิชาการ เช่น ความรู้ด้านทำตลาด ความรู้การทำธุรกิจ เป็นต้น ระยะที่ 2 ให้ความรู้ทางปฏิบัติฝึกทักษะฝีมืออาชีพ และระยะที่ 3 สนับสนุนเงินทุนตั้งธุรกิจได้จริง โดยจะส่งเสริมสร้างอาชีพทั้งด้วยตัวเอง และแบบธุรกิจแฟรนไชส์ โดยทีมพี่เลี้ยงดูแลตลอดที่เข้าร่วมโครงการ
 
ด้านนายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รักษาการผู้อำนวยการ สสว.กล่าวเสริมว่า สสว.ใช้งบประมาณในโครงการนี้ จำนวน 10 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการเดือนธันวาคม 2556 โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นปีคาดมีกิจการเอสเอ็มอีต้องปิดตัวประมาณ 2-3 พันราย แต่ละรายจะมีอัตราจ้างแรงงานประมาณ 1-9 คนต่อกิจการ โดยสาเหตุที่ สสว.ให้ความสำคัญในการช่วยแรงงานที่มีอายุมากนั้น เพราะจากการเก็บข้อมูลพบว่า แรงงานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปเมื่อถูกเลิกจ้างแล้ว จะหางานใหม่ได้ยากมาก ต่างจากแรงงานหนุ่มสาวแทบไม่ได้รับผลกระทบ เพราะแม้กิจการเดิมจะปิดตัวก็จะมีกิจการอื่นๆ คอยรองรับอยู่แล้ว
 
สำหรับการดำเนินโครงการนั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง สสว.จะลงพื้นที่ 10 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบการจากปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าโครงการจำนวน 3,000 คน โดยเปิดรับทั้งผู้ประกอบการหน้าเก่าและหน้าใหม่ โดยเกณฑ์คัดเลือกจากความตั้งใจจริง
 
ทั้งนี้ หลักสูตรที่จะเปิดสอนนั้น รวม 10 อาชีพ ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ทำง่ายๆ และสามารถประกอบอาชีพได้จริง เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ทำเบเกอรี เครื่องดื่ม ช่างต่างๆ เป็นต้น วางเป้าว่า จาก 3,000 คนที่เข้าอบรมจะต้องกลายมาเป็นผู้ประกอบการจริงอย่างน้อย 300 ราย และหลังจากตั้งกิจการแล้ว ต้องประสบความสำเร็จด้วย โดยวางเป้าแต่ละรายจะมีรายได้ในช่วง 3 เดือนแรกอย่างน้อย 30,000 บาทต่อเดือน และตลอดทั้งปีไม่ต่ำกว่า 360,000 บาท
 
นายชาวันย์กล่าวด้วยว่า จุดเด่นของโครงการนี้ คือการปั้นผู้ประกอบการแบบครบวงจร ตั้งแต่ให้ความรู้จนถึงตั้งกิจการได้จริง แหล่งเงินทุน นอกจากนั้น ยังมีทีมตรวจสอบความสำเร็จหลังตั้งกิจการด้วย ซึ่งหากโครงการครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เตรียมจะเพิ่มจำนวนเปิดรับสมัครผู้เข้าโครงการมากยิ่งขึ้นในปีต่อไป
 
สำหรับสถานการณ์การตั้งกิจการใหม่ของผู้ประกอบการ ในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2556) พบว่า มีการจัดตั้งกิจการใหม่ รวมประมาณ 30,629 ราย เพิ่มขึ้นประมาณ 21.49% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีกิจการยกเลิก รวม 4,221 ราย ลดลง 6.86% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
 
สำหรับประเภทกิจการที่มีการยกเลิกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างทั่วไป บริการนันทนาการ อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร และขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยมีการเกิดและล้มเลิกกิจการจากภาวะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และภาวะหมุนเวียนแรงงาน
 
ขณะที่จังหวัดที่มีการเพิ่มค่าแรง 20-30% และมีการจ้างงานเกินกว่า 1แสนคน มีจำนวน 12 จังหวัด เช่น เชียงราย นครสวรรค์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ เป็นต้น และจังหวัดที่มีการเพิ่มค่าแรงมากกว่า 30% ได้แก่ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ลำปาง และแพร่
 
สำหรับสาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ภาคผลิต ได้แก่ สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม ภาคค้าปลีกค้าส่ง ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก กลุ่มซ่อมแซมยานยนต์ สถานีบริการน้ำมัน และสำหรับภาคบริการ ได้แก่ ภัตตาคาร และร้านอาหาร

อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
นำโชคลอตเตอรี่ “ธุรกิจ..
3,515
ประมวลภาพสุดยิ่งใหญ่งา..
1,181
คลิ๊กโรบอท เอ็นจิเนียร..
1,027
ธงไชยผัดไทย เปิดโครงกา..
1,014
“นาด้า” ร่วมแข่งขันจิน..
904
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
760
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด