1.5K
12 ตุลาคม 2560
ญี่ปุ่นซุ่มผุดคอมมิวนิตี้มอลล์ ขนแบรนด์เสริมทัพ-รุก CLMV

 

ทุนญี่ปุ่นยึดหัวหาดเมืองไทยผุดคอมมิวนิตี้มอลล์ “เจแปน วิลเลจ” นำร่องเชียงใหม่ ก่อนควงพาร์ตเนอร์ขยายสาขาในกรุง ลุยค้าปลีก CLMV ขนแบรนด์ร้านอาหาร-ความงาม-ไลฟ์สไตล์ จากญี่ปุ่นเสริมทัพ เปิด “ออนไลน์” ทำตลาดครบวงจร
 
นายโคจิ โคราตะ ประธานบริษัท อครอส (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้บริหารคอมมิวนิตี้มอลล์ เจแปนวิลเลจ (Japan Village) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค้าปลีกเมืองไทยมีทิศทางการขยายตัวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นที่ต้องการออกมาลงทุนนอกประเทศ ซึ่งเมืองไทยเป็นตลาดที่แบรนด์ญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนโดยธุรกิจเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นเองพยายามรุกตลาดต่างประเทศหลังตลาดการขยายตัวของธุรกิจในตลาดญี่ปุ่นเริ่มนิ่งและเข้าสู่สังคมสูงอายุ นอกจากนี้ เมืองไทยเป็นตลาดที่มีความต้องการของสินค้าและบริการจากญี่ปุ่นสูงผลจากความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมานาน

“ที่ผ่านมามีแบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆ ในญี่ปุ่นต้องการที่จะเข้ามาขยายตลาดในต่างประเทศ รวมทั้งเมืองไทยเองจำนวนมาก แต่ไม่มีทั้งประสบการณ์และช่องทางหาคู่ค้าในต่างประเทศ เราจึงเหมือนเป็นตัวกลางที่พาแบรนด์เหล่านั้นเข้ามาเปิดตลาดใหม่”
 
ประธานบริษัทอครอสยังกล่าวด้วยว่า โอกาสทางการตลาดที่ขยายตัว บริษัทจึงได้ตั้งบริษัทสำหรับทำธุรกิจบิสซิเนสแมตชิ่งในการป็นตัวกลางที่นำแบรนด์สินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามา รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในรูปแบบคอมมิวนิตี้มอลล์ “เจแปน วิลเลจ” (Japan Village) เข้ามารองรับแบรนด์สินค้า โดยนำร่องที่พื้นที่เชียงใหม่ ขนาด 1,400 ตร.ม. บนถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 15 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะขยายสาขาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
 
นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนต่อจากนี้โดยจะเปิดสาขา 2 ในกรุงเทพฯ ช่วงปีหน้าซึ่งอยู่ระหว่างหาพื้นที่และพันธมิตร รวมถึงวางเป้าหมายระยะยาวเตรียมขยายไปยังประเทศเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ภายในปี 2563
 
“นำร่องที่เชียงใหม่เปิดโครงการเพราะจากการเป็นเมืองท่องเที่ยวมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เพื่อทำการทดลองตลาด โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นที่นำธุรกิจและสินค้ามาเปิด ก่อนที่จะขยายไปยังทำเลอื่นๆ”
 
ทั้งนี้ บริษัทจะให้บริการครบวงจรตั้งแต่พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกสำหรับให้ร้านค้าและแบรนด์สินค้าจัดหาอุปกรณ์ตกแต่งร้าน ขนส่งสินค้าจากโกดังในญี่ปุ่นมาไทย วิจัยการตลาด ทำการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ ขายโปรโมตสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซและโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงการจัดอีเวนต์แนะนำสินค้า และการส่งฟีดแบ็กลูกค้ากลับไปญี่ปุ่นเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์และปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะกับผู้บริโภค
 
“สินค้าที่นำมาขายนั้นจะคัดเลือกที่ชื่อของญี่ปุ่นและยังไม่มีขายในไทย พร้อมตั้งราคาให้แข่งขันได้เพื่อดึงดูดลูกค้ากระตุ้นให้เกิดการซื้อไปทดลองใช้และบอกต่อ ส่วนรายได้จะมาจากค่าเช่าพื้นที่และค่าวางสินค้า ในรูปแบบแพ็กเกจสัญญาเช่า 6 เดือน ด้านเจ้าของแบรนด์ สินค้ารับผิดชอบการจัดหาสินค้าและภาษีการค้า 7% ค่ารอยัลตี้ 3% และค่าจ้างพนักงานในร้านของตนตามอัตราค่าแรงญี่ปุ่น”
 
ปัจจุบันในพื้นที่คอมมิวนิตี้มอลล์ จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ วีบิสโท (V-Bisto) โซนร้านอาหาร, วีบิวตี้ (V-Beauty) เป็นร้านความงาม, วีบอกซ์ (V-Box) รองรับสินค้าชิ้นเล็กต่าง ๆ และวีบาร์ (V-Bar) เป็นบาร์สไตล์ตะวันตก โดยในช่วงที่ทดลองทำตลาดมาตั้งแต่ต้นปีนั้นได้รับการตอบรับที่ดี เป้าหมายปีแรกจะเน้นสร้างแบรนด์ผ่านสื่อครบวงจร เน้นจัดอีเวนต์ต่อเนื่องรายสัปดาห์ และจับมือพันธมิตรในการทำธุรกิจร่วมกัน
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
คิง เพาเวอร์ ปลุกกระแสสงกรานต์โก..
446
งาน สงกรานต์มหาสนุก มาร์เก็ต Tru..
430
เซ็นทรัลพัฒนา ทุ่ม 500 ล้านบาท จ..
430
สยามพารากอน ฉลองสงกรานต์สุดยิ่งใ..
425
ครัวคุณต๋อยยกทัพ บุก เซ็นทรัล ปิ..
420
งาน 12,000 FEET DEEP ณ สุดพื้นบา..
408
ข่าวทำเลค้าขายมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด