2.9K
23 มิถุนายน 2556
แอเรียเผยย่านธุรกิจเปลี่ยนจากสีลมสู่สยามสแควร์ แนะนักลงทุนจับตาพื้นที่เกิดใหม่

 
 
แอเรีย แนะนักลงทุนบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยการจับทิศทางการเติบโตของเมือง แย้มอาจจะมีพื้นที่เกิดใหม่ หลังเส้นทางรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ เผยราคาที่ดินที่แพงที่สุด เปลี่ยนจากเยาวราชสู่สีลม เป็นสยามสแควร์ คาดปี 2558 ที่ดินสยามสแควร์ราคาพุ่งตารางวาละ 2 ล้านบาท
 
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด เปิดเผยว่า ทำเลธุรกิจของไทยเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด โดยในช่วง 200 ปีแรก ทำเลย่านธุรกิจคือบริเวณพาหุรัด-สำเพ็ง และเยาวราช รวมถึงบางลำพูอีกด้วย
 
แม้ศูนย์ธุรกิจยุคใหม่จะย้ายออกจากเยาวราชซึ่งเป็นย่านธุรกิจจีน (China Town) มาสู่สีลมในช่วงปี2525 เป็นต้นมาก็ตาม แต่ราคาที่ดินที่แพงที่สุดยังอยู่ที่เยาวราช จนถึงปี 2548 ราคาที่ดินที่เยาวราชสูงถึงตารางวาละ 600,000 บาท ในขณะที่ที่สีลมมีราคา 500,000 บาท และสยามสแควร์ มีราคา 550,000 บาทต่อตารางวา
 
สาเหตุที่ที่ดินบริเวณสีลมมีราคาแพงมากขึ้นและกลายเป็นศูนย์ธุรกิจก็คือ ระบบถนนที่ดีกว่าเยาวราช-เจริญกรุง โดยมีถนนเกือบจะขนานกัน 4 เส้นคือ ถนนสี่พระยา ถนนสุริวงศ์ ถนนสีลม และถนนสาทรทั้งเหนือและใต้ นอกจากนั้นยังมีถนนตัดขวางกลายเป็นกลุ่มก้อนที่ดินหลายเส้น เช่น ถนนศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ถนนพิพัฒน์ ถนนปั้น ถนนประมวญ ถนนสุรศักดิ์ เป็นต้น

ด้วยระบบถนนเช่นนี้ จึงทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อน (Block) เหมาะแก่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์
โดยเฉพาะกลุ่มอาคารสำนักงานยุคใหม่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ราคาที่ดินย่านสีลมจึงแพงกว่าราคาย่านเยาวราช ในปี 2552 โดยมีราคาตารางวาละ 850,000 บาท ในขณะที่บริเวณเยาวราช ราคาตารางวาละ 800,000 บาท
 
 
 
ส่วนการที่บริเวณสยามสแควร์ มีราคาแพงขึ้นนั้น ปัจจัยสำคัญก็คือ การที่ย่านนี้เป็นแหล่งธุรกิจค้าปลีก มีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ปกติศูนย์การค้าจะไม่รวมกันโดยเฉพาะในเขตชานเมือง และศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ แต่ในใจกลางเมือง การอยู่รวมกันทำให้เกิดการดึงดูดกำลังซื้อร่วมกัน นอกจากนั้นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำใหัสยามสแควร์มีราคาแพงขึ้นก็เพราะการมีระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเริ่มมีขึ้นในปี 2541
 
ราคาที่ดินที่สยามสแควร์ ในปี 2537 มีราคา 400,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งถูกกว่าสีลมที่มีราคา 450,000 บาท และเยาวราชที่มีราคา 700,000 บาทต่อตารางวา ราคาที่ดินที่สยามสแควร์เริ่มแซงสีลมในปี 2547 หรือเพียง 6 ปีหลังจากมีรถไฟฟ้า โดยในปีดังกล่าว ที่ดินที่สยามสแควร์มีราคา 500,000 บาทต่อตารางวา ในขณะที่ที่สีลม ราคา 480,000 บาท และที่เยาวราชราคา 580,000 บาท
 
ตามข้อมูลการสำรวจรายปีของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่า ราคาที่ดินที่สยามสแควร์ ราคาแซงหน้าราคาที่ดินที่เยาวราชในอีก 2 ปีต่อมา คือ ปี 2549 โดยมีราคาตารางวาละ 640,000 บาท ในขณะที่เยาวราชมีราคา 600,000 บาท และสีลมมีราคา 560,000 บาท และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ราคาที่ดินที่สยามสแควร์ก็เป็นพื้นที่ที่มีราคาสูงสุดมาโดยตลอด
 
 
 
การที่ราคาที่ดินที่สีลมที่ถือเป็นศูนย์ธุรกิจใจกลางเมือง (Central Business District หรือ Financial District) มีราคาต่ำกว่าที่สยามสแควร์ ก็เพราะว่า ที่สีลมสามารถก่อสร้างอาคารเป็นสำนักงาน ซึ่งมีค่าเช่าต่อตารางเมตรเพียงไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าแถวสยามที่สามารถสร้างศูนย์การค้าที่ให้เช่าได้ตารางเมตรละ 3,000-5,000 บาท แม้ศูนย์การค้าจะมีสัดส่วนพื้นที่เช่าต่ำกว่า และมีค่าดูแลสูงกว่า แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการพัฒนาอาคารสำนักงาน และแม้ศูนย์การค้าจะมีสัดส่วนพื้นที่เช่าต่ำกว่า และมีค่าดูแลสูงกว่า แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการพัฒนาอาคารสำนักงาน และถึงแม้ว่าจะมีการก่อสร้างศูนย์การค้าในย่านสีลมบ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย และไม่อาจดึงดูดการจับจ่ายได้เท่าแถวสยามสแควร์
 
สำหรับพื้นที่สยามสแควร์ที่กล่าวถึงนี้ ยังรวมไปถึงบริเวณรถไฟฟ้าชิดลมและเพลินจิต ซึ่งมีราคาที่ดินต่อตารางวาที่ 1.5 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 และคาดว่าจะเป็น 1.7 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย คาดว่า ณ สิ้นปี 2558 ราคาที่ดินใจกลางเมืองแห่งนี้น่าจะสูงขึ้นถึงตารางวาละ 2 ล้านบาท
 
ในอนาคต หากมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมากขึ้น พื้นที่ใจกลางเมืองทั้ง 3 บริเวณ ก็ยังจะพัฒนาต่อเนื่องขึ้น และราคาที่ดินก็ยังจะขยายตัวสูงล้ำเกินพื้นที่อื่นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทำให้การเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองสะดวกยิ่งขึ้นด้วยระบบรถไฟฟ้า จะสังเกตได้ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินริมรถไฟฟ้า มีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ต่อปี ในขณะที่ราคาที่ดินในบริเวณอื่น มีอัตราการเพิ่มขึ้นเพียง 3-5% ต่อปีเท่านั้น
 
ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือในอนาคต มีโอกาสที่จะเกิดทำเลใหม่ที่ราคาที่ดินแพงกว่าสยามสแควร์หรือไม่ กรณีอาจเกิดขึ้นได้หากมีการวางแผนการพัฒนาใหม่ เช่น การเอาพื้นที่ค่ายทหารสนามเป้า ที่ด้านหนึ่งติดถนนพหลโยธินและอีกด้านหนึ่งติดถนนวิภาวดีรังสิต ขนาด 900 ไร่ มาทำศูนย์ธุรกิจยุคใหม่และแห่งใหม่ เช่นที่มีการรื้อย้ายค่ายทหารใหญ่ ๆ ออกนอกกรุงมะนิลา หรือการนำพื้นที่บางกระเจ้ามาพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองใหม่เยี่ยงเซี่ยงไฮ้ และโฮชิมินห์ซิตี้ ที่กำลังยกระดับศูนย์ธุรกิจใหม่ในทำนองนี้ แต่ปรากฏการณ์นี้คงไม่สามารถเห็นได้ในเร็ววันสำหรับประเทศไทย ที่ยังติดกับระบบราชการอยู่เป็นอันมาก

อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
งาน กินอร่อยร้อยเมนู อร่อยแสงออก..
453
คอกาแฟไม่ควรพลาด! เทศกาลกาแฟที่ใ..
437
งาน มหกรรมรับสร้างบ้าน 2024
423
งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่..
417
งาน THE MALL LIFESTORE THAPRA BI..
417
เซ็นทรัลพัฒนา ส่งต่อความสดจากทะเ..
407
ข่าวทำเลค้าขายมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด