ชาตรามือปูพรมสาขา เข้มดีลิเวอรี่สู้โควิด-งัดแฟรนไชส์ลุยตปท.
“ชาตรามือ” ประกาศเปิดเกมรุก เพิ่มโปรดักต์ใหม่เสริมพอร์ต ทยอยกระหน่ำโปรโมชั่นต่อเนื่อง ลงทุนปูพรมขยายสาขาทั่วสารทิศ ควบคู่ชูโมเดลแฟรนไชส์โกอินเตอร์ เล็งเจาะ “ตะวันออกกลาง-ยุโรป-อเมริกา” รับโอกาสโต หลังกวาดรายได้เข้ากระเป๋าแล้วกว่า 30% เปิดแผนใช้สื่อออนไลน์สร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์ โอดพิษโควิด-19 ทำลูกค้าต่างประเทศลดวูบ-ยอดร่วง งัดดีลิเวอรี่สู้ เข้มความสะอาด-ระยะห่าง รอเปิดหลังสถานการณ์ไวรัสคลี่คลาย
กลับมาสร้างความฮือฮาให้กับตลาดเครื่องดื่มอีกครั้ง สำหรับ “ชาตรามือ” แบรนด์ระดับตำนานที่มีอายุมากกว่า 75 ปี ภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล จากการเปิดตัวเครื่องดื่ม “ชากุหลาบ” เมื่อช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมาพร้อมสรรพคุณปรับฮอร์โมน ช่วยระบบขับถ่าย ภาพลูกค้ายืนต่อคิวเพื่อซื้อเครื่องดื่มยอดนิยมยาวเหยียดออกไปนอกร้าน จนเกิดกระแสไวรัลแชร์บนโลกออนไลน์ ทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ รู้จักแบรนด์มากขึ้น และตามต่อด้วยการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนวันนี้มีร้านมากกว่า 100 สาขา
เดินหน้าเพิ่มโปรดักต์-เพิ่มสาขา
ภาพจาก www.facebook.com/ChaTraMue/
นางสาวพราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เอฟ บี โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชา และร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม “ชาตรามือ” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มชนิดชงประเภทต่าง ๆ ทั้งร้านกาแฟ ร้านชา เป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง หากสังเกตจะเห็นได้ว่ามีผู้เล่นรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มชาชงที่ใช้งบฯการลงทุนไม่สูงมาก และมีการแข่งขันสูงทั้งในแง่ความหลากหลายของเมนูเครื่องดื่ม และราคาที่เข้าถึงง่าย
สำหรับชาตรามือ แม้จะมีมาร์เก็ตแชร์มากเป็นอันดับ 1 หรือประมาณ 70% ของเซ็กเมนต์ตลาดชาไทยพร้อมดื่ม ที่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 16,500 ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการที่วัตถุดิบชาต่าง ๆ อย่างหลากหลาย และซัพพอร์ตให้กับร้านชา ร้านกาแฟ และมีหน้าร้านขายเครื่องดื่มเป็นของตัวเอง โดยยุทธศาสตร์การดำเนินงานจากนี้ไป บริษัทจะให้ความสำคัญให้การขยายไลน์โปรดักต์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการต่อยอดนำผลิตภัณฑ์ชามาทำเป็นเมนูเครื่องดื่มในร้าน
ภาพจาก www.facebook.com/ChaTraMue/
ล่าสุดได้ลอนช์สินค้าใหม่ ชาส้มยูสุ วิตามินซีสูง เข้ามาจำหน่ายในช่วงโควิด-19 จากปัจจุบันนอกจากเครื่องดื่มชาชงรสชาติต่าง ๆ แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ชาที่ลูกค้าสามารถซื้อกลับไปชงดื่มได้เองที่บ้าน ชาปรุงสำเร็จ (3 อิน 1) ชาสมุนไพร ชาอู่หลง และชามะลิ เป็นต้น มีทั้งบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋อง บรรจุภัณฑ์แบบซองในถุงแบบซิปล็อก ชาพร้อมดื่มบรรจุในขวด (ทูโก) รสชาติต่าง ๆ
พร้อมเดินหน้าลงทุนเพื่อขยายร้านชาตรามือ ทั้งการเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงการขยายสาขาในทำเลใหม่ ๆ อาทิ ตามแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ และสำนักงานต่าง ๆ ย่านที่มีทราฟฟิกสูง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
นางสาวพราวนรินทร์ย้ำว่า นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือ การสร้างแบรนด์ชาตรามือให้แข็งแกร่ง เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์และร้านเป็นที่รู้จักและให้เข้าถึงลูกค้าทั้งระดับบนและระดับล่าง โดยจะเน้นสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ รวมทั้งการอัพเดตความเคลื่อนไหวของแบรนด์ และแจ้งเมนูใหม่และโปรโมชั่นต่าง ๆ ล่าสุดได้จัดแคมเปญ “อร่อยเหมาร้าน ฟินได้ไม่จำกัด” โดยลดราคาเหลือ 30 บาท จากปกติที่ขาย 40 บาท ไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
เล็งบุกตะวันออกกลาง-ยุโรป
ภาพจาก www.facebook.com/ChaTraMue/
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เอฟ บีฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ยังมีแผนจะขยายสาขาร้านชาตรามือในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะมุ่งไปที่ตลาดตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา อยู่ระหว่างการเจรจากับคู่ค้าจากที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดร้านชาตรามือ ซึ่งนอกจากเมนูเครื่องดื่มชาต่าง ๆ แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ชาไทย ทั้งชาแห้ง และชาปรุงสำเร็จวางจำหน่ายด้วย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และจีน เน้นเปิดสาขาในแหล่งช็อปปิ้งใจกลางเมือง ทั้งในห้างสรรพสินค้าและตามอาคารสำนักงาน
“ร้านในต่างประเทศทุกร้านจะเป็นโมเดลแฟรนไชส์ โดยบริษัทจะเป็นซัพพอร์ตทั้งในแง่ของโนว์ฮาว วัตถุดิบ ตั้งแต่ใบชา เมล็ดกาแฟ มะนาว และน้ำผึ้งที่นำเข้าจากไทย รวมถึงสูตรเมนูต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และนักลงทุนต่างชาติสนใจและต้องการจะนำแบรนด์ชาตรามือเข้าไปทำตลาด ซึ่งที่ผ่านมาตลาดต่างประเทศสามารถทำรายได้ให้บริษัทเป็นสัดส่วนถึง 30% ของรายได้รวม
“บุกดีลิเวอรี่รับมือโควิด-19
ภาพจาก www.facebook.com/ChaTraMue/
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น นางสาวพราวนรินทร์กล่าวว่า ส่งผลให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักหายไป นอกจากนี้ การประกาศปิดห้างสรรพสินค้าเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้สาขาร้านชาตรามือปิดให้บริการชั่วคราวไปกว่า 10 สาขา จากที่มีสาขาอยู่มากกว่า 100 สาขา อาทิ สาขาไอคอนสยาม, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี, ไอแอมไชน่าทาวน์, เอ็มบีเค, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, เซ็นทรัล วิลเลจ (สุวรรณภูมิ) เป็นต้น ส่งผลให้ช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายลดลงเกือบเท่าตัว
สำหรับสาขาที่ยังเปิดให้บริการอยู่ขณะนี้ บริษัทหันมาเน้นการซื้อกลับบ้าน (takehome) และจัดส่งดีลิเวอรี่เท่านั้น รวมถึงการเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า และช้อปปี้ นอกจากนี้ยังร่วมกับ แกร็บฟู้ด, เก็ท และไลน์แมน เพื่อให้บริการผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ซึ่งช่องทางนี้บริษัทจะเน้นโปรโมตผลิตภัณฑ์ชาขวดทูโกเป็นหลัก อาทิ ชาไทย ชาเขียวนม และชากุหลาบนม เน้นในเรื่องของความสะดวก รับประทานง่าย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า
“แม้ว่าช่องทางดีลิเวอรี่จะเป็นรายได้ส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับที่เคยได้รับจากสถานการณ์ปกติ แต่ดีลิเวอรี่ก็จะช่วยทดแทนรายได้หลักที่หายไป และในระยะยาวก็ผลักดันให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปิดร้านหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายลง ขณะนี้แต่ละสาขาได้เพิ่มมาตรการความสะอาด ความปลอดภัย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามสัดส่วนพื้นที่ หรือระยะห่าง (social distancing) และเพิ่มจุดกั้นรับ-ส่งสินค้า เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้า” นางสาวพราวนรินทร์กล่าว (หน้า 13, 14)