4.3K
3 พฤษภาคม 2553

SMEs ควรทราบ..ผ่ามาตรการเยียวยาวิกฤติราชประสงค์


ถ้อยแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดที่ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในปีนี้และแนวโน้มในปีหน้าว่า หากไม่มีผลกระทบจากวิกฤตการณ์ของการชุมนุมทางการเมืองแล้ว

เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสจะทะยานถึง 5.2–6.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีพีดี) จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

แต่ด้วยวิกฤติทางการเมืองที่ไทยเผชิญอยู่และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะแผ่วเบาลงในช่วงที่เหลือของปี จึงทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจขยายตัวลดลงจากที่ควรจะเป็นถึง 0.9% ของจีดีพี

ยังผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 4.3-5.8% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 อยู่ที่ 3-5% ของจีดีพี

และหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอีกจนถึงสิ้นปี กระทรวงการคลังและศูนย์วิจัยกสิกรไทย  มองตรงกันว่าจะฉุดเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวลดลงถึง  2%  ซึ่งหมายถึงประเทศไทยจะกลับเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งและยากลำบากมากที่จะประคับประคองตัวให้พ้นปากเหว
 


น่าเสียดายโอกาสทองของประเทศไทย เพราะหากพิจารณาปัจจัยเกื้อหนุนทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เป็นทุนเดิม แม้เราจะเผชิญวิกฤติทางการเมืองต่อเนื่องหลายปี แต่ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การท่องเที่ยวที่โดดเด่น ส่งออกที่ขยับดีขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 8%

ย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดโอกาสที่ไทยจะพลิกฟื้นกลับมายืนผงาดบนเวทีโลกนั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อม!

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองอันยืดเยื้อ โดยที่ภาครัฐยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็น "นิติรัฐ" ได้อย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ "บั่นทอน" ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจน้อย-ใหญ่ลงไปถนัดตา

แน่นอน! ทุกฝ่ายรู้สาแก่ใจดีถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การชุมนุมที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ แต่เมื่อหันมาดูมาตรการเยียวยาของภาครัฐในเวลานี้ เรากลับยิ่งกังวลในมาตรการเยียวยาต่างๆของภาครัฐที่ยังคงเต็มไปด้วยความล่าช้า ขาดการบูรณาการและยังคงเดินสะเปะสะปะไปคนละทิศ

ทุกวันเวลาที่ผ่านไป ลูกจ้างและผู้ประกอบการกำลังเดือดร้อนหนักขึ้น แม้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันจะเร่งรัดให้เร็วขึ้น แต่สุดท้ายแล้วการผลักดันมาตรการเยียวยาดังกล่าวจะทันการณ์หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

"ทีมเศรษฐกิจ"  ประมวลให้เห็นถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ยังคงไม่สะเด็ดน้ำกันเสียที  ดังนี้ :
 

ยืดภาษี–ดึงเอสเอ็มอีแบงก์เยียวยา

มาตรการเยียวยาของภาครัฐแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 1.มาตรการด้านภาษีของกระทรวงการคลัง 2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและเอสเอ็มอี และ 3.มาตรการช่วยเหลือแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยในส่วนมาตรการด้านภาษีที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ประกอบไปด้วย 1.การขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุด 31 ธ.ค.52 จากปกติที่ต้องยื่นภายในวันที่ 30 พ.ค.53 โดยให้ขยายเวลายื่นเสียภาษีออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.53

2.การขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) จากปกติให้ชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปให้ขยายออกไปอีก 2 เดือนนับจากวันสิ้นสุดการชุมนุม และ 3. ให้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.3) ซึ่งปกติให้ชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป โดยให้ ขยายการยื่นแบบออกไป 2 เดือน นับจากวันสิ้นสุดการชุมนุมเช่นกัน

ดูจะเป็นมาตรการเยียวยาที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดเวลานี้!!

ครม.ยังอนุมัติมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.)

นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ชี้แจงว่า การปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 5,000 ล้านบาทนั้น ในสัปดาห์นี้ธนาคารจะหารือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเปิดให้บริการสินเชื่อภายในกลางเดือน พ.ค.นี้ โดยคาดจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้รับประมาณ 3,000 ราย โดยหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อตามมติ ครม. ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลบ 3% 2 ปีแรก ต่อจากนั้น คิดอัตราเอ็มแอลอาร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7% ที่สำคัญเงื่อนไขการผ่อนชำระปีแรก ยังปลอดเงินต้นชำระเพียงดอกเบี้ยอย่างเดียวอีกด้วย


"ยอมรับว่าวงเงิน 5,000 ล้านบาทตามมติ ครม.นั้น คงไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่อย่างร้านอาหารและโรมแรมได้ แต่หากผู้ประกอบการต้องการกู้เงินในวงเงินที่มากกว่า 3 ล้านบาท ก็สามารถเข้าติดต่อธนาคารขอวงเงินสินเชื่อโครงการ SME POWER เพื่อการท่องเที่ยวและสินเชื่อ SME POWER ไทยเข้มแข็งได้อีก"

สำหรับสินเชื่อ SME POWER เพื่อการท่องเที่ยวนั้น ครม.มีมติให้ธนาคารช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยววงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งยังเหลือวงเงินอีก 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ลบ 3% เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์มีระยะเวลาการกู้ 5 ปีโดยปีแรกปลอดเงินต้น
 

ปัดฝุ่น  "เรนโบว์  โปรเจกต์"  ช่วย

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองโดยเฉพาะมาตรการเสริมสร้างอาชีพ   เพราะคาดว่าการชุมนุมที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบให้ต้องปลดคนงานและเกิดปัญหาว่างงานตามมา โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปัดฝุ่น "โครงการสร้างอาชีพ" หรือ "เรนโบว์ โปรเจกต์" ที่เคยใช้ช่วยเหลือคนว่างงานในช่วงวิกฤติในปีที่ผ่านมากลับมา โดยเน้นสร้างอาชีพในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ อาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจขายตรง พร้อมประสานธนาคารรัฐปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเปิดกิจการให้ด้วย

นอกจากนั้น ยังเตรียมจัดงาน "ไทยแลนด์ แกรนด์เซล" ลักษณะงานขายสินค้าธงฟ้าในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด   เพื่อนำสินค้าของผู้ประกอบการมีค้างสต๊อกอยู่   แต่ไม่มีที่ขายมาขายในงาน   เพื่อช่วยลดผลกระทบการขาดรายได้จากการชุมนุมที่ยืดเยื้อด้วย
 

ด้าน นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้อนุมัติเงินกองทุนจำนวน 410 ล้านบาท สำหรับใช้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของไทย โดยกิจกรรมหลักที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ภายหลังจากการชุมนุมสงบแล้วก็คือ "โครงการไทยแลนด์ แฟชั่นเอ็กซ์โป ทู บี นัมเบอร์วัน" ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ที่บริเวณราชประสงค์

"กระทรวงพาณิชย์คาดว่ากว่าถึงช่วงเวลานั้น สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลงไปแล้ว จึงจะใช้โอกาสนี้เรียกความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าจากต่างประเทศกลับเข้ามาร่วมงานในประเทศถือเป็นมาตรการเยียวยาหนึ่งที่รัฐบาลประสงค์ช่วยเหลือภาคเอกชน เพราะในงานจะเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียง นางแบบ นักออกแบบเครื่องแต่งกายชั้นนำระดับโลกเข้ามาร่วมงานอย่างคับคั่ง ทำให้เป็นจุดสนใจ ดึงดูดผู้คนทั่วโลกมาร่วมงานได้"
 

แจกเช็คช่วยชาติแรงงาน

ในส่วนมาตรการช่วยเหลือแรงงานและลูกจ้าง ในพื้นที่ราชประสงค์ ผ่านฟ้าฯ ราชดำเนิน สีลม และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กระทรวงแรงงานรับเป็นเจ้าภาพหลัก


โดยล่าสุดได้หารือร่วมกับผู้แทนการค้าไทย ผู้ประกอบการโรงแรม ห้างสรรพสินค้าและตัวแทนร้านค้าปลีกรายใหญ่ในพื้นที่ชุมนุมได้มีข้อยุติแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างแรงงานต่างๆ โดยลูกจ้างที่ทำงานในบริเวณดังกล่าวจะได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนรายละ 3,000 บาท ครอบคลุมลูกจ้างแรงงานกว่า 93,755 ราย รวมเป็นเม็ดเงิน 281.32 ล้านบาท

ในจำนวนแรงงานดังกล่าว เป็นแรงงานในระบบตามที่ผู้ประกอบการแจ้งรายชื่อมาประมาณ 20,000 ราย แยกเป็นลูกจ้างของโรงแรม 10 แห่ง บนพื้นที่ราชประสงค์จำนวน 3,297 คน และลูกจ้างของผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ภายในอาคารห้างสรรพสินค้า 1,700 ราย จำนวน 17,000 คน ที่เหลือเป็นลูกจ้างนอกระบบ

ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ หาบเร่ แผงลอย ที่บริเวณผ่านฟ้าฯ และราชประสงค์ ซึ่งมีอยู่ 1,500 ราย จะได้รับเงินช่วยเหลือซึ่งคำนวณจากรายได้เฉลี่ยของผู้ประกอบอาชีพอิสระในอัตรารายละ 10,000 บาท รวม 15 ล้านบาท นอกจากนี้ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม  กรณีตกงานยังใช้สิทธิ์ตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งจะจ่ายค่าจ้างในอัตรา 75% ของเงินเดือนให้อีก 6 เดือน

แต่เม็ดเงินเยียวยาแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้จะตกถึงมือช้าเร็วปานใดนั้นยังต้องลุ้นระทึกกันต่อไปอีกหลายเฮือก
 

เอสเอ็มอีท่องเที่ยวยังเคว้ง

มาตรการที่ดูจะเป็นปัญหามากที่สุด ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเอสเอ็มอีด้านท่องเที่ยวที่กระทบอย่างหนัก และไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพื้นที่ชุมนุมหรือใกล้เคียงเท่านั้น

แม้ว่า นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะระบุว่าได้เตรียมแผนฟื้นฟูวิกฤติการท่องเที่ยวไทยเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวให้กลับมาโดยเร็วแล้ว โดยเตรียมของบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติมอีก 5,000 ล้านบาท และจะขยายเวลาการผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยของวงเงินสินเชื่อเดิมออกไปอีก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งยังจะของบทำประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ดึงการท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีก 1,600 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีข้างต้น ยังคงต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐที่ยังคงไม่สามารถหาข้อยุติตัวเลขผลกระทบของการชุมนุมและความเสียหายที่แท้จริงได้

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุความเสียหายของสมาชิกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงในปีนี้ที่คาดจะเหลืออยู่ 12.7-14.1 ล้านคน หรือลดลง 10% เป็นอย่างน้อยและประมาณการว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเวลานี้ส่งผลให้สูญเสียรายได้ด้านท่องเที่ยวไปแล้ว 80,000-100,000 ล้านบาท

แต่กระทรวงการท่องเที่ยวฯกลับประเมินความเสียหายไว้เพียง 50,000 ล้านบาทเท่านั้น และความไม่แน่ชัดในมาตรการที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯนำเสนอนั้น จะทำให้ที่ประชุม ครม.ตั้งแท่นตีกลับไปนับ 1 ใหม่ด้วยเห็นว่าเป็นมาตรการที่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ ครม.ได้อนุมัติไปก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว

แต่ทั้งหลายทั้งปวงมาตรการเยียวยาเหล่านี้ยังเป็นเพียงมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เท่านั้น

หากรัฐไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองให้ยุติลงโดยเร็วได้   ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในระยะยาวนั้นคงไม่ใช่เพียงแค่นี้แน่!
 

สรุปมาตรการเยียวยา

มาตรการด้านภาษี

  1. ขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุด31ธ.ค. 52 จากปกติที่ต้องยื่นภายในวันที่30 พ.ค.53 โดยให้ขยายเวลายื่นเสียภาษีออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.53
  2. ขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.30) จากปกติให้ชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยให้ขยายออกไปอีก 2 เดือน นับจากวันสิ้นสุดการชุมนุม
  3. ขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1และภ.ง.ด.3) ซึ่งปกติให้ชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป โดยให้ขยายการยื่นแบบออกไป 2 เดือน นับจากวันสิ้นสุดการชุมนุม

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ/เอสเอ็มอี

  1. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ปล่อยกู้ สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ MLR-3% วงเงิน 5,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท
  2. กรณีมีความต้องการเงินกู้เกิน 3 ล้านบาท สามารถเข้าร่วมโครงการ SME POWER
  3. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอของบช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านท่องเที่ยว 5,000 ล้านบาท
  4. ธนาคารพาณิชย์ลดวงเงินผ่อนลง 40% และยืดเวลาให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยไป 6 เดือน–1ปีสำหรับสินเชื่อบ้าน
  5. ปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับสินเชื่อปกติ โดยลดวงเงินการผ่อนชำระยืดเวลาการชำระหนี้  และปล่อยสินเชื่อใหม่ในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน

มาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง-ผู้ประกันตน

  1. กระทรวงแรงงานจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานลูกจ้างในพื้นที่ชุมนุมรายละ 3,000 บาท
  2. กระทรวงแรงงานจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระรายละ 10,000 บาท
  3. กรณีตกงานลูกจ้างยังใช้สิทธิ์ตามมาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 จ่ายค่าจ้าง75%อีก 6 เดือน
     

สิทธิพิเศษ"แบงก์"ช่วยลูกหนี้พิษม็อบ

สถาบันการเงินตั้งโต๊ะเจรจาลูกหนี้ภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมฯ เปิดทางยืดหนี้–ผ่อนน้อย–ผ่อนนาน–ปลอดเงินต้น–ลดดอกเบี้ย–อัดฉีดเงินกู้เพิ่ม

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยคนใหม่ เปิดเผยว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย   สิ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนคือ  การหารือเพื่อวางกรอบความช่วยเหลือให้กับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์

ทุกแห่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเขตราชประสงค์-สีลม และในเขตอื่นที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง   โดยกรอบการช่วยเหลือเบื้องต้น จะให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละธนาคารเข้าไปดูแลลูกค้าของตนเองอย่างใกล้ชิด และให้การช่วยเหลือตามความจำเป็น

กสิกรไทย–ธอส.ลดค่าผ่อนบ้าน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย  กล่าวว่า เพื่อช่วยลูกค้าสินเชื่อบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ธนาคารได้ออกมาตรการลดค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนเหลือ 40%  ของค่างวดจริงเป็นระยะเวลา  1  ปี  โดยลูกค้าที่สามารถใช้สิทธิ์ ได้แก่ ร้านค้าหรือผู้ประกอบการและลูกค้าที่ทำงานในพื้นที่ราชประสงค์ สีลม ประตูน้ำ และราชดำเนิน   ครอบคลุมไปถึงธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมด้วย ส่วนลูกหนี้ทั่วไป หากลูกค้าต้องการความช่วยเหลือให้เข้ามาเจรจา   โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ   เช่น   ยืดเวลาผ่อนชำระ ให้ผ่อนชำระน้อยลง หรือจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยช่วงหนึ่ง

ด้าน นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ได้ออก 3 มาตรการช่วยลูกหนี้ของ  ธอส.ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมคือ 1.ให้ผ่อนเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้บวกเงินต้น 100 บาท เป็นเวลา 6 เดือน 2.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกหนี้สวัสดิการ ปีที่ 1-2 คิดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ลบ 2% ปีต่อไปเอ็มอาร์อาร์ลบ 1% ส่วนลูกหนี้รายย่อยทั่วไป ปีที่ 1-2 คิดเอ็มอาร์อาร์ ลบ 2% ปีที่ 3 เอ็มอาร์อาร์ลบ 1% ปีต่อไปเอ็มอาร์อาร์ลบ 0.5% และ 3.ขยายระยะเวลาการกู้เพื่อให้เงินงวดผ่อนชำระต่อเดือนน้อยลง ลูกค้ายื่นคำร้องได้วันนี้ถึง 30 ก.ค.นี้
 

นครหลวงไทย–กรุงไทยปล่อยเงินกู้เพิ่ม

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้เตรียมมาตรการความช่วยเหลือลูกค้า "สินเชื่อบ้านธนาคารนครหลวงไทย" ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ด้วยการลดค่างวดผ่อนชำระลงเป็นระยะเวลาหนึ่งตามรายได้ที่ลดลงของผู้กู้ รวมถึงความช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องผ่าน "สินเชื่อเคหะทวีสุข" สินเชื่อที่ให้กับลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีประวัติการผ่อนชำระดีต่อเนื่องมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี และไม่เคยค้างชำระกับธนาคาร โดยให้วงเงินกู้เพิ่มไม่เกิน  80% ของเงินต้นที่ลดลง คิดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลบ 0.50% ต่อปี กู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ลูกหนี้สามารถติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาผ่านได้   จนถึงวันที่  30  มิ.ย.นี้

ส่วน นายเวทย์ นุชเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ธุรกิจโรงแรมที่ธนาคารจะเข้าไปเจรจามี 30 รายที่ต้องการความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคใต้ ซึ่งธนาคารอาจเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

ไปก่อนเพื่อนำไปสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายค่าจ้าง ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง  ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ตัวแทนสายการบิน ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ขายของ โรงภาพยนตร์ อัญมณี ร้านอาหาร ที่มีลูกค้ามาใช้บริการน้อยลง ส่วนนี้ถ้ามีปัญหาอยากให้ลูกค้าเข้ามาคุยกับแบงก์แล้วแบงก์จะแนะนำเอง โดยรายที่มีปัญหาต้องปรับปรุงเงื่อนไขชำระหนี้อาจพิจารณาขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ หรือชำระเงินต้นน้อยลง ขณะที่รายที่กระทบหนักอาจหยุดชำระเงินต้นไปก่อน เช่น 6 เดือน
 

กรุงเทพ–กรุงศรีฯ–ไทยพาณิชย์ยืดหนี้ลดดอก

นางรัชนี นพเมือง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารยินดีรับการเจรจาและช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้านของธนาคารอย่างเต็มที่โดยลูกหนี้สามารถติดต่อสาขาธนาคารได้โดยตรง เบื้องต้นจะช่วยเหลือผ่านการยืดอายุหนี้ตามความสามารถลูกหนี้ และการผ่อนปรนดอกเบี้ย

ด้าน นางภาสพรรณ สุวรรณจินดา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารให้ความช่วยเลือกลูกค้าทุกกลุ่มอย่างดีที่สุด ซึ่งได้พยายามติดต่อลูกค้าซึ่งล่าสุดมีลูกค้ายื่นขอความช่วยเหลือแล้ว โดยธนาคารจะมีการยืดระยะเวลาการชำระหนี้และลดดอกเบี้ยให้

นายภุชงค์ ตัณฑศรี ผู้อำนวยการที่อยู่อาศัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา   กล่าวว่า ธนาคารยินดีช่วยเหลือลูกค้าถ้ามีปัญหาด้านรายได้ให้เข้ามาคุยกัน หากตรวจสอบพบว่าลูกค้ามีปัญหาจริงๆ จะได้ปรับเงื่อนไข เช่น การผ่อนชำระค่างวดหนักไปขอผ่อนน้อยลง ผ่อนนานขึ้น หรือเงื่อนไขอื่นๆให้สอดคล้องกับรายได้
 

อ้างอิงจาก ไทยรัฐ

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
5,962
PLAY Q by CST bright u..
1,290
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
941
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
789
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
768
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด