14K
3 เมษายน 2553

องค์การเภสัชเดินหน้าขยายตลาด ปักธง10สาขารุกแฟรนไชส์ร้านยา

 

องค์การเภสัชฯฟิต ยกเครื่องร้านขายยาระบบแฟรนไชส์ เร่งเปิดต้นแบบกลางปี ตั้งเป้าขยายเพิ่ม 10 สาขา ย้ำไม่เน้นแข่งเอกชน หวังเพิ่มช่องทางขายและให้คนเข้าถึงยาราคาถูกง่ายขึ้น พร้อมช่วยร้านขายยารายย่อย จับตามาตรฐานใหม่สำหรับกระบวนการผลิตยาตามกรอบอาเซียน ส่งผลกระทบผู้ผลิตในไทย เล็งร่วมมือโรงงานขนาดเล็ก ยกเครื่องโรงงานขยายตลาดเพิ่ม


นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงแนวทางในการขยายบริการเพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายยาให้ประชาชนทั่วไป และทำให้เข้าถึงยาราคายุติธรรมขององค์การเภสัชกรรมได้ง่ายขึ้นว่า ขณะนี้กำลังเร่งเปิดรูปแบบใหม่ของร้านขายยาต้นแบบขององค์การเภสัชฯที่นอกจากจะตั้งอยู่บริเวณสำนักงานองค์การเภสัชกรรมแล้ว ยังเตรียมแผนงานเข้าไปปรับปรุงขยายสาขาอีกประมาณ 10 แห่ง ภายในปี 2553

"ก่อนหน้านี้เราเคยทำโครงการนำร่องไปบ้างแล้ว ก็จะนำมาพัฒนาอย่างจริงจัง มีการออกแบบลักษณะของร้านให้ออก มาในแนวที่ทันสมัย ให้ประชาชนที่เข้าไป ใช้บริการรู้สึกแบบเดียวกับที่เข้าไปในสาขาธนาคารสมัยนี้ คิดว่าประมาณกลางปี เดือนมิถุนายนน่าจะเสร็จสำหรับร้านแรก หลังจากนั้นจะขยายไปปรับปรุงร้านอื่น ๆ ซึ่งตั้งเป้าเอาไว้ที่ประมาณ 10 แห่งก่อนในปีนี้"
 

นอกจากรูปแบบร้านขายยาองค์การเภสัชฯที่ปรับปรุงใหม่แล้ว แนวคิดดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มช่องทางสำหรับประชาชนทั่วไปจะได้เข้าถึงหรือหาซื้อยาได้สะดวกมากขึ้น ทั้งในกระบวนการผลิตขององค์การเภสัชฯก็มีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากการผลิตยาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ หรือเป็นจำนวนมาก ๆ เพื่อ ส่งไปยังโรงพยาบาล สถานบริการการแพทย์ต่าง ๆ แล้ว ขณะนี้มีการปรับมาผลิตยาในรูปแบบที่สะดวกสำหรับการจำหน่ายปลีก มีแพ็กเกจจิ้งที่เล็ก ใช้ง่าย ไม่ต่างไปจากผลิตภัณฑ์ยาที่จำหน่ายตามร้านขายยาขายปลีกทั่วไป

นายแพทย์วิทิตกล่าวอีกว่า เป้าหมายของการขยายจำนวนร้านขายยารูปแบบใหม่จะทดลองทำในลักษณะของแฟรนไชส์ในโอกาสต่อไปด้วย อย่างไรก็ตามไม่ได้มีเป้าหมายหลักในเชิงพาณิชย์ หรือแข่งขันกับระบบแฟรนไชส์ หรือเชนสโตร์จำหน่ายยาภาคเอกชน แต่จะเป็นรูปแบบทางเลือก ที่อาจจะช่วยเข้าไปปรับปรุง หรือยกระดับร้านขายยาที่ทำมานานและยังไม่ค่อยได้ปรับตัว ในลักษณะเดียวกับที่หลาย หน่วยงานก็พยายามเข้าไปพัฒนาหรือช่วยยกระดับร้านค้าปลีกโชห่วยให้แข่งขันได้นั่นเอง
 

อีกประเด็นหนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่คือในกรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น จะนำมาตรฐานตามข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในข้อตกลงด้าน ASEAN Harmonized Products ของสินค้ายาจากระบบเอกสารการขึ้นทะเบียนยาแบบ ACTD (ASEAN Common Technical Dossier) มาใช้ ซึ่งมีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะเปิดตลาดยาในประเทศจะต้องขึ้นทะเบียนยาแบบ ACTD ซึ่งเป็นระบบสากลก่อนนำไปจำหน่ายในตลาดสมาชิกอาเซียน

การขึ้นทะเบียนยาในระบบดังกล่าว อุตสาหกรรมยายังต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล GMP เพื่อให้เป็นระบบเดียวกันด้วย จุดนี้ในมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เขาพัฒนาไปพอสมควรแล้ว แต่บางประเทศอย่างเวียดนาม หรือผู้ผลิตยารายเล็กในเมืองไทย น่าจะมีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่พร้อมจะลงทุนปรับปรุงโรงงานหรือกระบวนการผลิต
 

"เรื่องนี้องค์การเภสัชฯกำลังดูว่า อาจจะเข้าไปร่วมมือกับผู้ผลิตบางรายช่วยให้เขาสามารถเดินต่อได้ ซึ่งเรามีเทคโนโลยีการผลิตและเข้าไปช่วยเรื่องมาตรฐาน ขณะที่เขาก็มีตลาดมีลูกค้าอยู่แล้ว ตรงนี้จะช่วยซึ่งกันและกันได้ แทนที่จะปล่อยให้ ล้มหายไปในที่สุด" นายแพทย์วิทิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดร้านขายยาขององค์การเภสัชฯเป็นนโยบายที่องค์การ เภสัชฯจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้ในราคาที่ไม่แพง โดยเมื่อ ปี 2550 ที่ผ่านมา องค์การเภสัชฯได้เริ่ม ร้านขายยารูปแบบใหม่ ในชื่อของจีพีโอ ช็อป ที่มีการตกแต่งดิสเพลย์ที่มีความ ทันสมัยมากขึ้น โดยเริ่มนำร่อง 6 แห่ง เป็นในกรุงเทพฯ 5 แห่ง และต่างจังหวัดอีก 1 แห่ง โดยที่ร้านต้นแบบดังกล่าวจะใช้พื้นที่ประมาณ 50 ตร.ม. ใช้งบฯลงทุน 1-3 ล้านบาท/สาขา และยังมีการนำระบบสมาชิกมาใช้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะขยายสาขาร้านขายยา จีพีโอ ช็อป ในรูปแบบของระบบแฟรนไชส์ด้วย และปัจจุบันร้าน ขายยา จีพีโอ ช็อป มีอยู่ 11 สาขา



อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
1,166
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
790
“เติมพลังความรู้” กับ ..
626
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
601
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
597
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
540
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด