906
26 สิงหาคม 2562
แฟรนไชส์2แสนล้านสะเทือน! ออกกฎคุมขาใหญ่เอาเปรียบ
 

 
ธุรกิจแฟรนไชส์ 2.2 แสนล้านสะเทือน บอร์ดแข่งขันทางการค้าเตรียมออกกฎเหล็กคุมเข้ม สกัดขาใหญ่มัดมือชกรายย่อย กำหนดเงื่อนไขให้เปิดเผยข้อมูล-แจงค่าใช้จ่ายยิบ โฟกัส 6 พฤติกรรมเสี่ยงบีบซื้อสินค้า-บริการไม่เป็นธรรม ฝ่าฝืนโทษปรับไม่เกิน10% ของรายได้ ชี้ “ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม-การศึกษา” ฮิตแฟรนไชซอร์ทะลัก 572 ราย 
 
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวปฏิบัติการค้าที่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายลำดับรองด้านการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่ออกตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 23 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประกอบการพิจารณายกร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. …. ตามบทบัญญัติมาตรา 57 การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
 
 
 
ขณะเดียวกัน นอกจากการจัดประชาพิจารณ์ในวันดังกล่าวแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถแสดงความเห็นต่อร่างประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานแข่งขันทางการค้า ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม-20 กันยายน 2562 จากนั้นจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้มาพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศดังกล่าวก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป
 
คุมเข้มธุรกิจแฟรนไชส์ 2 แสน ล.
 
ร่างไกด์ไลน์นี้กำหนดขึ้นเพื่อให้การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชซอร์ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายกับคนที่ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชซี

ซึ่งปัจจุบันตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าตลาดปีละ 2.2-2.3 แสนล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2549-2560 ปีละ 10% โดยปี 2560 มีเจ้าของแฟรนไชซอร์ 572 ราย เพิ่มขึ้น 8.3% โดยเฉพาะแฟรนไชส์ธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจการศึกษามีจำนวนมาก หากมีพฤติกรรมที่แข่งขันไม่เป็นธรรม จะมีความผิดตามมาตรา 57 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
 
งัดกฎเหล็กต้องเปิดข้อมูล
 
นายสันติชัยกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศจะกำกับดูแลแฟรนไชส์ (franchise) โดยกำหนดให้การประกอบธุรกิจในลักษณะที่เป็น “แฟรนไชซอร์” (franchisor) หรือเจ้าของแฟรนไชส์ ที่ทำสัญญาให้ “แฟรนไชซี” (franchisee) ประกอบธุรกิจ โดยใช้รูปแบบ ระบบ ขั้นตอน และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตน หรือที่ตนมีสิทธิที่จะให้ผู้อื่นใช้

เพื่อประกอบธุรกิจภายในระยะเวลา หรือเขตพื้นที่ที่กำหนด ต้องดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ และการประกอบธุรกิจต้องอยู่ภายใต้การส่งเสริมและควบคุมของกฎหมาย ตามแผนการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชซอร์

ขณะที่แฟรนไชซีมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่แฟรนไชซอร์ เพื่อให้เกิดการทำธุรกิจที่เป็นธรรม โดยกำหนดเงื่อนไขให้แฟรนไชซอร์ต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของตนให้แฟรนไชซีทราบ 4 เรื่องหลัก ๆ ให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย
 
ให้แจงยิบสารพัดค่าใช้จ่าย
 
ประกอบด้วย 1) ข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายก่อนดำเนินการ และค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินการ เช่น ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (franchise fee) ค่าสิทธิ (royalty fee) ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ วิธีการคำนวณค่าใช้จ่าย รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงิน และเงื่อนไขในการคืนเงิน เป็นต้น
 
2) ต้องเปิดเผยรายละเอียดแผนการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น การให้ความช่วยเหลือในการบริหารจัดการ การฝึกอบรม การให้คำแนะนำ จำนวนและสถานที่ตั้งของแฟรนไชซีในพื้นที่ใกล้เคียงในปัจจุบันและอนาคต และรายละเอียดการส่งเสริมการขาย เป็นต้น

3) ต้องเปิดเผยข้อมูลสาระเกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลาที่มีผลบังคับใช้ ขอบเขตการอนุญาต รวมทั้งเงื่อนไขข้อจำกัด 4) ต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการต่อสัญญาแฟรนไชส์ การแก้ไข การยกเลิก การเพิกถอนสัญญาแฟรนไชส์

 
ขยายสาขาต้องให้รายเดิมก่อน
 
นอกจากนี้ ร่างประกาศดังกล่าวได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่แฟรนไชซอร์ต้องการเปิดร้าน หรือสาขาเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีร้านแฟรนไชซีรายเดิมอยู่แล้ว โดยกำหนดเงื่อนไขให้เจ้าของแฟรนไชส์ต้องแจ้งให้แฟรนไชซีเดิมในพื้นที่ทราบก่อนล่วงหน้า และให้สิทธิ์ในการเปิดร้าน หรือสาขาเพิ่มเติมแก่แฟรนไชซีรายเดิมในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก

โดยให้มีหนังสือแจ้งแฟรนไชซีเป็นลายลักษณ์อักษร และกำหนดให้แฟรนไชซีแจ้งความประสงค์ในการเปิดร้าน หรือสาขาเพิ่มเติม เป็นลายลักษณ์อักษรแก่เฟรนไชซอร์ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้คำนึงถึงศักยภาพของแฟรนไชซีรายเดิมในการประกอบการเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณา
 
สกัดขาใหญ่มัดมือชกแฟรนไชซี
 
ขณะเดียวกันได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการปฏิบัติทางการค้าของแฟรนไชซอร์ ที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่แฟรนไชซี ตามมาตรา 57 ด้วย โดยมีแนวทางในการพิจารณา 7 ด้าน ได้แก่
  1. การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิของแฟรนไชซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น การกำหนดให้แฟรนไชซีต้องซื้อสินค้าหรือบริการอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง กับสินค้าหรือบริการแฟรนไชส์ หรือสินค้าหรือบริการประกอบแฟรนไชส์ จากแฟรนไชซอร์ หรือจากซัพพลายเออร์ที่แฟรนไชซอร์กำหนดเท่านั้น
  2. การกำหนดโควตาให้แฟรนไชซีต้องซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการใช้จริง และห้ามคืนสินค้าหรือวัตถุดิบส่วนเกิน
  3. การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้แฟรนไชซีต้องปฏิบัติภายหลังการลงนามในสัญญาร่วมกันแล้ว เช่น กำหนดให้แฟรนไชซีซื้อสินค้าหรือบริการอื่น หรือกระทำการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแฟรนไชส์
  4. การห้ามแฟรนไชซีซื้อสินค้าหรือบริการกับซัพพลายเออร์ (supplier) รายอื่นที่ขายสินค้า หรือบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และราคาถูกกว่า โดยให้ซื้อจากแฟรนไชซอร์ หรือจากซัพพลายเออร์ที่แฟรนไชซอร์กำหนดเท่านั้น หากพบว่าการกำหนดเงื่อนไขเป็นไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
  5. การห้ามแฟรนไชซีขายลดราคาสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย (perishable goods) หรือใกล้หมดอายุ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
  6. การกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างแฟรนไชซีโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (discrimination) และ
  7. การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์นอกเหนือจากการรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียง คุณภาพ และมาตรฐานของแฟรนไชซอร์ตามสัญญา
ฝ่าฝืนปรับ 10% ของรายได้
 
สำหรับบทกำหนดโทษของผู้ที่กระทำการฝ่าฝืน บทบัญญัติตามมาตรา 57 ซึ่งถือเป็นการลงโทษทางการปกครอง ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า กฎหมายกำหนดให้ลงโทษปรับในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่ได้กระทำความผิด แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ กฎหมายกำหนดให้ชำระค่าปรับทางการปกครองในอัตราไม่เกิน 1,000,000 บาท
 
อาหาร-เครื่องดื่ม-การศึกษา ฮิต
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าตลาดปีละ 2.2-2.3 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2549-2560 ปีละ 10% โดยปี 2560 มีเจ้าของแฟรนไชซอร์ 572 ราย เพิ่มขึ้น 8.3% ประเภทแฟรนไชส์ยอดนิยมจะเป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจการศึกษา ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก สำหรับการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ค้าขายรายใหม่ ๆ ที่ต้องการประกอบธุรกิจภายใต้แฟรนไชส์ วงเงินลงทุนเริ่มต้นมีตั้งแต่ไม่ถึง 10,000 บาท จนถึงหลักกว่า 1,000,000 บาท
 
อย่างไรก็ตาม จากที่ธุรกิจนี้ขยายตัวต่อเนื่องทุกปี และเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ผู้ค้ารายย่อยจำนวนมาก ทำให้ที่ผ่านมามีปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมในลักษณะเอารัดเอาเปรียบ หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นจำนวนมากตามไปด้วย สาเหตุหลักมาจากยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจแฟรนไชส์โดยตรง
 
 
อ้างอิงจาก  https://www.prachachat.net
 
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,096
PLAY Q by CST bright u..
1,313
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
941
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
790
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด