2.0K
18 กรกฎาคม 2561
“ซักผ้าหยอดเหรียญ” ร้อนฉ่า แบรนด์นอกตบเท้าบุก-เร่งขายแฟรนไชส์
 
 

สะดวกซักหยอดเหรียญระดับพรีเมี่ยมแข่งแรง แบรนด์นอกดาหน้าบุกขอเป็นทางเลือก “อ๊อตเทริ” แบรนด์ไทยสไตล์ญี่ปุ่น เดินหน้าเสริมแกร่งทุกจุดขาย เพิ่มระบบไอโอที-บริการจับมือแบงก์เพิ่มความสะดวกขอสินเชื่อหวังดึงดูดลูกค้าแฟรนไชส์ มั่นใจสยายปีกครบ 130 สาขา
 
ร้านซักผ้าหยอดเหรียญหรือร้านสะดวกซักกำลังเป็นเทรนด์มาแรง ด้วยดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเขตเมืองและที่อยู่อาศัยทั้งแนวสูงอย่างคอนโดฯ หอพักและหมู่บ้านในแนวราบ รวมถึงไลฟ์สไตล์เร่งรีบ ทำให้บริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกอย่างการซักผ้า-อบผ้า กลายเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทุกระดับ สอดคล้องกับภาพความเคลื่อนไหวของตลาดเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่ผุดขึ้นเต็มพื้นที่ทั่วทุกหย่อมหญ้า ผู้ประกอบการไทย-ต่างประเทศตบเท้าเข้ามาด้วยธุรกิจพร้อมขายแฟรนไชส์
 
ต่างชาติตบเท้าบุก
 
นายกวิน นิทัศนจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารเชนร้านซักผ้าหยอดเหรียญหรือร้านสะดวกซักแบรนด์ “อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย” (Otteri wash and dry) ซึ่งมีสาขากว่า 60 สาขาทั่วประเทศในเวลา 2 ปี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดร้านซักผ้าหยอดเหรียญในประเทศมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะใน กทม.และหัวเมือง เนื่องจากความหนาแน่นของประชากรและไลฟ์สไตล์ที่ยอมลงทุนแลกกับความสะดวกรวดเร็วในการทำงานบ้านต่าง ๆ รวมถึงการซักผ้า สะท้อนจากจำนวนร้านซักผ้าหยอดเหรียญที่ผุดขึ้นทั่วไป ทำให้ดึงดูดผู้ประกอบการธุรกิจนี้ทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนเปิดกิจการ-ขายแฟรนด์ไชส์
 
โดยบริษัทจะชูจุดขายเรื่องเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ความรวดเร็วและความทนทานของเครื่องซักระดับอุตสาหกรรมความจุ 10-20 กิโลกรัม ใช้เวลาซักน้อยกว่าเครื่องครัวเรือนถึง 50% และรวมเวลาซัก-อบเพียง 60 นาที และอายุใช้งาน 10 ปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายและการเสียโอกาสขณะซ่อมบำรุง ตอบโจทย์ทั้งไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและความคุ้มค่าของแฟรนไชซี
 
“ภายในปีนี้จะมีแบรนด์เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 2-3 รายเป็นมากกว่า 10 รายทั้งไทย มาเลเซีย ไต้หวันและอื่น ๆ ส่งผลให้การแข่งขันด้านค่าแฟรนไชส์และคุณภาพของตัวเครื่องซัก-อบผ้าดุเดือดขึ้นตามไปด้วย”
 
ชูไอโอที-ออนไลน์เพย์เมนต์
 
ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มทดลองใช้งาน “ลอนดรี ฟาร์ม” (Laundry Farm) ระบบไอโอทีและออนไลน์เพย์เมนท์ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและอำนวยความสะดวก โดยผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบข้อมูลของเครื่อง เช่น สภาพเครื่อง รายได้ จำนวนเหรียญ ส่วนลูกค้าสามารถดูสถานะว่าเครื่องวางหรือไม่แบบเรียลไทม์ เช่นเดียวกับการชำระเงินผ่านมือถือด้วยการหักจากบัญชีธนาคารโดยตรง ซึ่งอนาคตจะต่อยอดเพื่อเก็บบิ๊กดาต้าและนำมาอัพเกรดการบริการ-การตลาดของแต่ละสาขาให้สัมพันธ์กับลูกค้าในพื้นที่
 
ขณะเดียวกันเตรียมตั้งออฟฟิศต่างจังหวัดแห่งแรกในพัทยา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมีประชากรหนาแน่นและเต็มไปด้วยที่พักรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงอยู่ไม่ไกลกทม.เกินไปจึงประสานงานได้ง่าย โดยปัจจุบันบริษัทมีสาขาในภาคตะวันออก 9 สาขา
 
ซัก-อบเริ่มต้น 40 บาท
 

ซึ่งระบบใหม่นี้จะเป็นการอัพเกรดธุรกิจ รวมถึงการวางโพซิชั่นเป็นเชนร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงสไตล์ญี่ปุ่นแบบครบวงจร ให้บริการทั้งเครื่องซัก-อบผ้าระดับอุตสาหกรรม ตะกร้าผ้าและโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งรอ รวมถึงบริการฟรีไวไฟ พร้อมตกแต่งด้วยสีสันสว่างสดใสเป็นระเบียบเรียบร้อย มีค่าใช้บริการซัก 40-80 บาท ตามขนาดเครื่อง และค่าอบอีก 40 บาท
 
เน้นขยายสาขาในย่านชุมชนระดับกลาง-บน ด้วย 2 โมเดล คือไซซ์ M พื้นที่ 40-60 ตร.ม. มี 5-6 เครื่อง และ L พื้นที่ 60 ตร.ม.ขึ้นไปใช้เครื่องประมาณ 13 เครื่อง ราคา 2.2 และ 3 ล้านบาทตามลำดับ แบ่งจ่าย 3 ปี และมีค่ารอยัลตี้ฟีตั้งแต่ปีที่ 4 อีก 86,000 บาทและ 110,000 บาทต่อปีตามลำดับ ถือว่าอยู่ระดับกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อาทิ “คลีนโปร” จากมาเลเซีย
 
โดยชูจุดขายเรื่องความเร็วในการซัก 30 นาทีและอบ 30 นาที สั้นกว่าร้านทั่วไปที่ใช้เวลาซักอย่างเดียว 1 ชั่วโมง พร้อมความคุ้มค่าจากความทนทานของเครื่องที่มีอายุใช้งาน 10 ปีและการรับประกันนาน 3 ปี มีศูนย์บริการกระจายทั่วประเทศทั้ง กทม. เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ฯลฯ รวมถึงโปรโมชั่นและกิจกรรมซีเอสอาร์-การตลาด อาทิ ราคาพิเศษช่วงหลังเที่ยงคืน รับซัก-อบฟรีสำหรับผ้าที่จะนำไปบริจาค การทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้โดยมีโอกาสคืนทุนใน 2-3 ปี
 
ดีลแบงก์หนุนแฟรนไชส์
 
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าจับมือกับสถาบันการเงิน อาทิ เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารกสิกรไทยเพื่ออำนวยความสะดวกด้านขอสินเชื่อ ตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการแฟรนด์ไชส์และผู้บริโภครุ่นใหม่ระดับกลาง-บนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างสะท้อนจากการขยายสาขารวดเร็ว 10-12 สาขาต่อเดือน จนปัจจุบันเริ่มประสบปัญหาสินค้าขาดจึงเร่งทำความเข้าใจกับแฟรนไชซีให้รอคิวเปิดสาขาใหม่ประมาณ 60-75 วัน พร้อมเร่งหาสินค้าเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้มั่นใจว่าจะสามารถขยายสาขาต่อเนื่องจนมีประมาณ 120-130 สาขาภายในสิ้นปี ต่ำกว่าเป้า 200 สาขาที่วางไว้เล็กน้อย แต่สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งขยายได้ 42 สาขา สร้างรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท หลังจาก 6 เดือนแรกสามารถทำรายได้แล้วกว่า 70 ล้านบาท เติบโตจาก 35 ล้านบาทในปีที่แล้วตามจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
942
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
645
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
553
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
517
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด