34K
21 เมษายน 2552

108 ช้อป ชูระบบโลจิสติกส์ สร้างร้านสะดวกซื้อพอเพียงเข้มแข็ง 

 

จากจุดเริ่มต้นร้านสะดวกซื้อพอเพียงที่ชื่อ "108 ช้อป"ในเครือสหพัฒน์ ซึ่งหวังให้เป็นช่องทางในการขายสินค้าของเครือสหพัฒน์เอง กับความต้องการโอบอุ้มโชห่วยซึ่งเป็นร้านค้าปลีกรายย่อยของไทยให้สามารถยืนหยัดแข่งขันกับค้าปลีกข้ามชาติได้อย่างทัดเทียม ในวันนี้ร้านค้าปลีก 108 ช้อป ภายใต้การขับเคลื่อนของนายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด กำลังจะพัฒนาการบริการอีกขั้นเพื่อยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์ 108 ช้อป ให้ทัดเทียมเชนร้านสะดวกซื้อชั้นนำ

รุกเปิด 108 ช้อป สูตรมินิเอาต์เล็ต

ภายหลังจากร้าน 108 ช้อป ดำเนินการได้ประมาณ 2-3 ปี ก็มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ด้วยการเปิดร้าน 108 ช้อปแบบเต็มรูปแบบร้านสะดวกซื้อ หรือ 108 ช้อป มินิเอาต์เล็ต ในปี 2548 ควบคู่ไปกับร้าน 108 ช้อป สูตรดั้งเดิม คือระบบสมาชิก ที่ผู้สนใจที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือร้านค้าทั่วไป สมัครเป็นสมาชิก สามารถสั่งสินค้าผ่านแคตตาล็อกที่มีทั้งสินค้าในเครือสหพัฒน์และซัพพลายเออร์ที่เป็นพันธมิตร เนื่องจากบริษัทมองว่าระบบเดิมไม่สามารถช่วยให้ร้านแข่งขันได้

พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของร้าน 108 ช้อป มินิเอาต์เล็ต เครือสหพัฒน์หันมาเน้นบริการโลจิสติกส์เต็มรูปแบบ นั่นคือสินค้าทุกอย่างที่ร้านสะดวกซื้อพึงมี โดยมีบริษัท ซันร้อยแปดฯ เดิมชื่อซันคัลเลอร์ เป็นผู้เลือกสรรให้ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะสินค้าในเครือสหพัฒน์ แต่จัดซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์อื่นเข้ามาในแวร์เฮาส์ด้วย

ปัจจุบันร้าน 108 ช้อป มินิเอาต์เล็ตมีประมาณ 700 ร้าน แต่หากรวมร้านค้าภายใต้ชื่อ 108 ช้อป ในระบบสมาชิกด้วยก็อาจมีประมาณ 900 กว่าร้าน ในจำนวนนี้มีทั้งร้านที่ยังดำเนินธุรกิจต่อไปแต่ซื้อสินค้าเองจากดิสเคาต์สโตร์ หรือบางรายอาจเลิกร้านโชห่วยไปเปิดเป็นร้านอาหารก็มี แต่ไม่ได้ปลดป้าย 108 ช้อป

 นำระบบโลจิสติกส์ช่วยโชห่วยเข้มแข็ง

เมื่อร้านโชห่วยสนใจเปิดร้าน 108 ช้อป มินิเอาต์เล็ต บริษัทให้การสนับสนุนโปรแกรมซอฟต์แวร์ในการขายให้หน้าร้าน เมื่อร้านค้าขายสินค้าข้อมูลก็จะมาปรากฏที่บริษัท ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลว่าสินค้าไหนขายดี ขายไม่ดี แล้วจัดสั่งสินค้าเข้ามาในแวร์เฮาส์ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือร้านค้าจะต้องสั่งสินค้าจากแวร์เฮาส์ ถ้าสินค้าตัวใดมีปัญหาเรื่องคุณภาพ หรือไม่เดินอย่างที่คิด บริษัทก็จะไปคุยกับซัพพลายเออร์แทนร้านค้า ให้ช่วยมาเก็บสินค้ากลับไป หรือช่วยทำโปรโมชันเพื่อกระตุ้นการขาย เมื่อซัพพลายเออร์ทำโปรโมชัน บริษัทก็จะคืนโปรโมชันที่ซัพพลายเออร์สนับสนุนกลับไปที่ร้านค้าทั้งหมด แบบนี้เหมือนเป็นการรวมพลัง

ระบบโลจิสติกส์ที่บริษัทลงให้กับร้านค้าคือโปรแกรม ซึ่งจะช่วยให้หน้าร้านได้ประโยชน์หลัก 3 ข้อคือ

ข้อแรก สินค้าที่ส่งไปให้ร้านค้า ข้อมูลออนไลน์ไปให้หน้าร้านก่อนแล้ว พอไปถึงหน้าร้านแค่กดปุ่มเดียวข้อมูลสินค้าเข้าในสต๊อก ช่วยให้คุมสต๊อกได้ โชห่วยทั่วไปมีคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ไปซื้อสินค้าจากแมคโครก็ต้องป้อนข้อมูลสินค้าที่ซื้อมา เซลส์จากสหพัฒน์มาส่งสินค้าก็ต้องลงข้อมูล หรือลีเวอร์ มาส่งก็ต้องลงข้อมูลอีก ลงข้อมูลถูกบ้างผิดบ้าง แต่ระบบของบริษัทสั่งซื้อสินค้าที่เดียว บริษัท ซันร้อยแปดฯ สินค้าไปส่ง ข้อมูลเข้าระบบ

ข้อสอง สินค้าที่ซื้อจากซันร้อยแปด ไม่ต้องซื้อจำนวนมาก เช่น โลชั่นบางตัวหนึ่งเดือนขายได้ 1 ขวด ถ้าสั่งซื้อจากฝ่ายขายของซัพพลายเออร์จะขายให้ 1 หีบ อาจจะอยู่ได้หนึ่งปี แต่ถ้าซื้อจากซันร้อยแปด ขวดเดียวก็ส่งให้ นี่คือสิ่งที่ร้านสะดวกซื้อเชนใหญ่ๆทั่วโลกทำกัน สินค้าที่ขายช้าก็ไปช้า ทีละขวด สินค้าที่ขายดีก็ไปทีละหีบ ฉะนั้นสิ่งที่ 108 ช้อป มินิเอาต์เล็ต ได้ประโยชน์คือ สต๊อกไม่บวม สั่งเฉพาะจำนวนที่คิดว่าขายได้

ข้อสาม ส่งทุกวัน กรุงเทพฯและปริมณฑล ผลจากการไปส่งถี่ๆ ทำให้หน้าร้านไม่ต้องกลัวว่า สินค้าจะล้าสมัย เคยได้ยินคนติโชห่วยว่าสินค้าฝุ่นจับ ล้าสมัย ฉะนั้นการที่สั่งทีละขวด ทีละสองขวด สั่งทุกวัน ถ้าซัพพลายเออร์มีสินค้ารุ่นใหม่ ร้านขายแค่สองขวดก็จะได้สินค้าใหม่แล้ว

"นี่คือเบสิกตอนที่เราเริ่ม 108 มินิเอาต์เล็ต สิ่งนี้คือสิ่งที่เราวิเคราะห์แล้ว โชห่วยเดี่ยวๆ ไม่สามารถทำได้ การทำหน้าร้านให้สวย ติดไฟให้สว่าง ใครก็ทำได้ แต่เรื่องโลจิสติกส์ ต่อให้ทำหน้าร้านสว่างอย่างไรก็ต้องไปซื้อแมคโครอยู่ดี ต้องรอเซลส์สหพัฒน์ โอสถสภา ลีเวอร์ แต่ไม่สามารถบริหารโลจิสติกส์ หรือดีมานด์เชน หรือซัพพลายเชนได้อย่างนี้ ฉะนั้นซันร้อยแปดจึงเริ่ม 108 ช้อปสูตรมินิเอาต์เล็ตขึ้นมา แล้วขยายไปเรื่อยๆ จากนั้นก็พัฒนาไปถึงขั้นไม่ต้องสั่ง ยิงขาย มะรืนนี้เติมให้ขวดหนึ่ง"

พอเจ้าของร้านทำงานกับบริษัทก็จะรู้ว่าซันร้อยแปดไม่ใช่สหพัฒน์ ไม่ใช่ลีเวอร์ ไม่ได้อยากขายสินค้าจำนวนมากๆ และบริษัทไม่มีโปรชัน ร้านค้าขายเท่าไร ก็ส่งสินค้าให้เท่านั้น มีการเติมสินค้าทุกวันทำให้สินค้าไม่ขาด ไม่เสียโอกาสการขาย เรียกระบบนี้ว่าออโต้ รีออร์เดอร์ ใช้มา 3 ปี

นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ที่ให้เจ้าของร้านสามารถเข้าไปสั่งสินค้าเพิ่มเกินกว่าจำนวนที่ระบบเติมให้ ในช่วงเทศกาล และสั่งระงับไม่ให้ระบบทำงานได้ด้วย หลังผ่านเทศกาล พอเปิดให้ทำงานใหม่ ระบบก็จะจัดเฉพาะยอดขายวันต่อวันในช่วงปกติ ทำให้ร้านค้าไม่ต้องกังวลเรื่องสต๊อกสินค้า

ทั้งนี้ ระบบโลจิสติกส์ของร้านเล็กหรือร้านสะดวกซื้อเป็นระบบที่ยากที่สุดแล้ว ในเมืองไทยมี เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท โลตัส เอ็กซ์เพรส และ 108 ช้อป ทำให้เราได้พันธมิตรคือ ร้านสะดวกซื้อในปั๊มบางจาก ปิโตรนาส และคาลเท็กซ์

ฉะนั้นหัวใจของร้านสะดวกซื้อคือระบบโลจิสติกส์ ไม่ใช่ จีพี คนเข้าใจผิดเห็นดิสเคาต์สโตร์ลดราคา รีบไปซื้อมาตุน จริงๆ ราคาที่เราส่งให้ก็เป็นราคาที่ร้านได้กำไรพอสมควร และส่งให้ทุกวัน การที่สินค้าลดราคาแสดงว่ารุ่นใหม่กำลังจะออก ไปเหมาของถูกมาในร้านมากๆ ทำให้สินค้าเก่า อาจจะขาดทุนโดยไม่รู้ตัว

การส่งทุกวัน ต้นทุน สินค้าเรามี 2,000 รายการ แต่สินค้าที่มีการเคลื่อนไหวในแต่ละวันมีประมาณ 400 รายการ เท่ากับ 400 ชิ้น แต่บางรายการอาจจะไม่ใช่ชิ้นเดียว รวมๆกันแล้วประมาณ 3 หีบ ระบบการจัดส่งเป็นระบบมัลติ ดรอป รถหนึ่งคันอาจจะส่ง 8 สาขา ส่งเสร็จแล้วตีรถเปล่ากลับ ดีกว่านานๆสั่ง จำนวนมาก ทำให้แผนที่วางไว้ว่ารถหนึ่งต้องส่ง 8 สาขาก็อาจจะได้แค่ 3 สาขา เพราะสินค้ามีจำนวนมาก จะยุ่งยากกว่า

เตรียมปรับแพ็กเกจใหม่สร้างแบรนด์ 108 ช้อป

การโปรโมตแบรนด์ เพื่อช่วยโชห่วย ในช่วงปีแรกที่เริ่มคอนเซ็ปต์มินิเอาต์เล็ต ทำบ้างตามอัตภาพ เพราะธุรกิจนี้ไม่ได้กำไรสูงนัก ส่งของทุกวัน แต่เราทำเพื่อช่วยโชห่วย มีการบอกปากต่อปากมาติดต่อเป็นสมาชิกของเรา บริการเราที่ดีอยู่แล้ว

การโฆษณาเป็นเรื่องเป็นราวจะทำต่อเมื่อมีร้านจำนวนมากพอสมควร และเป็นร้านที่มีคุณภาพ การโฆษณาจะเป็นการดึงคนเข้าร้าน ปัจจุบัน ร้าน 108 ช้อป มีหลายเจ้าของ บริการก็ไม่ได้เก็บเงินมาก และไม่มีการเก็บค่าแฟรนไชส์ฟี เก็บรายเดือน เดือนละ 5,000-6,000 บาท

ทำให้เจ้าของร้านหลายร้านไม่ดูแลคุณภาพตามที่เราคาดหวัง ฉะนั้นถ้าโฆษณาออกไป ทำให้ลูกค้าผิดหวังว่า ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมไม่เปิดแอร์ เจ้าของร้านบางร้านไม่เปิดแอร์ หรือไม่เปิดร้านตามเวลาที่กำหนดไว้หน้าร้าน ทำให้เสียภาพพจน์ 108 ช้อป ตอนนี้ก็ได้แต่เตือน และก็พยายามคุยกับเจ้าของร้านมาร่วมกันทำมาตรฐานของร้านให้ดี เมื่อบริษัทมีการโฆษณาออกไปจะทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ

การจะทำให้ร้าน 108 ช้อป ที่มีเจ้าของหลากหลาย มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกร้านทุกสาขา อาจต้องขอเงินมัดจำจำนวนมากจากเจ้าของร้าน ปัจจุบันบริษัทเก็บเงินประกันระบบ 50,000 บาท ซึ่งคืนให้เมื่อเจ้าของเลิกกิจการ คิดว่าเพียงพอ แต่วันนี้คิดว่าน้อยเกินไป อาจจะต้องเก็บเงินมากขึ้นแล้วให้บริการอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เป็นแพ็กเกจใหม่ที่กำลังคิดอยู่

จุดประสงค์หลักของบริษัทคือ นำระบบโลจิสติกส์ที่โชห่วยแต่ละรายทำไม่ได้เข้าไปบริการให้ แต่ตอนนี้เริ่มมีเรื่องชื่อเสียงการบริการ ภาพพจน์ร้าน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นสิ่งท้าทายที่ผมจะเดินไปอย่างไรเพื่อให้ร้าน 108 ช้อป มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น


อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,180
PLAY Q by CST bright u..
1,322
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
945
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
793
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด