1.9K
11 ธันวาคม 2558
นักวิจัยมธบ. ชี้กลุ่มธุรกิจ SMEs 1 ใน 3 มีแนวโน้ม ปิดตัวลงภายใน 3 ปี



สำรวจทุนมนุษย์กับศักยภาพแข่งขันทางเศรษฐกิจพบ“สิงคโปร์” อันดับ 1 ตามด้วยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขณะที่ไทยอยู่อันดับปานกลาง พบทุนมนุษย์สูงกว่าอินโดนีเซียแต่ศักยภาพแข่งขันทำได้น้อยกว่า  ด้านภาคธุรกิจสะท้อนการศึกษาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ  ชี้ธุรกิจ SME ไทย สัดส่วนสูง แต่มีอายุขัยเพียง 3 ปี  เหตุขาดแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย  นำร่องผลิตคนให้ตรงกับทิศทางเศรษฐกิจ 3 จังหวัด “เชียงใหม่-ภูเก็ต-ตราด”

เมื่อเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีการจัดงานแถลงข่าว “สำรวจทุนมนุษย์ไทยเมื่อก้าวสู่เออีซี” ศักยภาพการแข่งขันหรือตัวฉุดรั้งการพัฒนา โดยดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์แรงงาน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า นับถอยหลังอีก 29 วัน ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามหากดูจากการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ปี 2015 โดยเวทีเศรษฐกิจโลกหรือเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญของการลงทุนและการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยมีการจัดอันดับประเทศทั้งสิ้น 124 ประเทศจะพบว่า สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นอันใน 1 ในอาเซียน (ลำดับที่24 ของโลก) รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ (46) มาเลเซีย (52) ไทย (56) และเวียดนาม (59)

“ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแรงงานที่มีทักษะ โดยพบว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาความยากในการจ้างงานที่มีทักษะ โดยอยู่ในอันดับที่ 5 ในอาเซียน และอันดับที่ 69 ของโลก ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีความสามารถในการจ้างแรงงานที่มีทักษะได้มากกว่า"

สิ่งที่น่าสนใจ ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า  แม้ประเทศไทยจะมีดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ในอันดับปานกลาง แต่ความสามารถในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ไปสู่ศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจกลับพบว่า ไทยทำได้เท่ากับค่าเฉลี่ย

ในขณะที่ประเทศอื่นทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย โดยประเทศที่สามารถแปลงทุนมนุษย์เป็นความสามารถในการแข่งขันได้ดีเป็นอันดับ1 คือ สิงคโปร์ ตามด้วยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย  ซึ่งอินโดนีเซียที่ทุนมนุษย์น้อยกว่าไทย แต่ความสามารถในการแข่งขันทำได้ดีใกล้เคียงกับไทย
 
หากเจาะลึกถึงประสิทธิภาพแรงงานไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผลิตภาพของแรงงานไทยอยู่ในระดับคงที่ เนื่องจากการผลิตของไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นแรงงานไร้ฝีมือ โดยเฉพาะภาคการเกษตรและภาคการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ขณะที่ภาคการเงินส่วนใหญ่ 80% เป็นแรงงานมีฝีมือจึงสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงกว่า

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวถึงความขาดแคลนทักษะแรงงานที่หลากหลายเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งมีจำนวนถึง 2.7 ล้านราย โดย 1 ใน 3 มีแนวโน้มจะปิดตัวลงภายใน 3 ปีหลังจากเริ่มเปิดกิจการ

ด้านศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ  กรรมการสสค. กล่าวว่า ข้อค้นพบสำคัญจากการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์พบว่า ระบบการศึกษาของไทยยังขาดความเชื่อมโยงเรื่องการเรียนและการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจ

ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาไทยที่ลงเรียนสายสังคมศาสตร์ ธุรกิจและกฎหมายสูงที่สุดจำนวนถึง 1,337,272 คน (คิดเป็น 53% ของนักเรียนทั้งหมด) ขณะที่สายวิศวกรรม การผลิต และการก่อสร้างมีเพียง 247,883 คน หรือ 9% สายวิทยาศาสตร์ 8% และการบริการ 1.8%

"มุมมองจากภาคธุรกิจเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนคุณภาพการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าประเทศที่มีระดับทุนมนุษย์ใกล้เคียงกัน โดยนักธุรกิจไทยให้คะแนนคุณภาพการศึกษาในระดับ 3.89 ซึ่งต่ำกว่าเวียดนาม และอินโดนีเซีย และยังพบปัญหาลูกจ้างขาดทักษะตามที่นายจ้างคาดหวังในทุกด้าน ทั้งทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะคอมพิวเตอร์ การคำนวณ การบริหารจัดการ หรือแม้แต่ทักษะความสามารถเฉพาะทางวิชาชีพ"

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยอมโรค เพราะการศึกษาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการ ระบบการศึกษายังคงจัดการเรื่องธรรมดาทั่วไปยังอยู่ในศตวรรษที่ 19 ขณะที่โลกเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็วก้าวสู่ศตวรรษที่ 21  ดังนั้นการศึกษาที่ตอบโจทย์ต้องเริ่มตั้งแต่ม.ต้นให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเอง และต้องวางแผนอาชีวศึกษาโดยให้ภาคเอกชนเข้าร่วมมือ

ส่วนภาคอุดมศึกษา กรรมการสสค. กล่าวว่า ต้องปรับบทบาทของตัวเองเพราะจำนวนเด็กที่ลดลงจะเกิดการยุบตัวของสถาบันลงอีก 20 แห่ง จึงต้องปรับบทบาทผลิตคนที่ตรงกับความต้องการของตลาด ลดจำนวนการเปิดสอนสายสังคม และทำงานเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายและให้การสนับสนุน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ท้องถิ่น ท้องที่เข้ามาเป็นผู้จัดการศึกษาเองอย่างจริงจัง

ส่วนน.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการสสค. กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพประชากรให้ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต้องทำใน 2 กลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มแรงงานในปัจจุบัน และกลุ่มเด็กเยาวชนที่จะเป็นแรงงานในอนาคต โดยจุดคานงัดของการพัฒนาคือการทำงานในระดับพื้นที่ เนื่องจากประสบการณ์ของสสค.ที่ทำงานร่วมกับจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ พบว่า การจัดการในพื้นที่ง่ายกว่าระดับประเทศถึง 100 เท่า และยังสอดรับกับทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมและการบริการ หากมีการพัฒนาคนในพื้นที่รองรับจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ซึ่งขณะนี้สสค.ได้ดำเนินการใน 3 จังหวัดนำร่องคือ เชียงใหม่ ตราด และภูเก็ต ในการพัฒนากำลังคนรองรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดด้วยการสำรวจทิศทางความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และการออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตกำลังคนรองรับ โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน สถานศึกษา ภาควิชาการ และท้องถิ่น เช่น จ.เชียงใหม่ พบว่าจะมีอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในอนาคตคือ การดูแลผู้สูงอายุ เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และทิศทางการพัฒนาจังหวัดคือ Wellness City จึงมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด โดยสามารถเรียนสาขาพยาบาลหรือทางการแพทย์ได้ ส่วนจ.ตราด จะเน้นการยกระดับเกษตรพาณิชย์ และจ.ภูเก็ต จะเน้นการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

อ้างอิงจาก   www.isranews.org
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
นำโชคลอตเตอรี่ “ธุรกิจ..
3,515
ประมวลภาพสุดยิ่งใหญ่งา..
1,181
คลิ๊กโรบอท เอ็นจิเนียร..
1,027
ธงไชยผัดไทย เปิดโครงกา..
1,014
“นาด้า” ร่วมแข่งขันจิน..
904
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
760
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด