2.9K
26 ธันวาคม 2558
แอลเอ็มอี ป้อนแฟชั่นทั่วอาเซียน แท็กทีมพาร์ตเนอร์ตั้งศูนย์กระจายสินค้าในจีน


"แอลเอ็มอี" เร่งเครื่องบุกตลาดแฟชั่นอาเซียน จับมือพันธมิตรตั้งบริษัทโลจิสติกส์-ศูนย์กระจายสินค้าในจีน เดินหน้าเจรจาขอสิทธิ์แบรนด์ดังทำตลาดทั่วภูมิภาค ประกาศรุกธุรกิจร้านอาหาร เผยปีหน้าเปิดร้านอาหารจีน-อาหารญี่ปุ่น เสริม "แฮร์รอดส์ ที รูม" เล็งแตกไลน์ธุรกิจใหม่ หาแฟรนไชส์-ไลเซนส์ ป้อนเออีซี


นายบุญชัย คงปักไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล เอ็ม อี จำกัด ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าแฟชั่น อาทิ เอสพาด้า, อีพี, อีเอสพี, ฟ็อกซ์, แอลทีดี, เอฟ แฟชั่น ฯลฯ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อรองรับการแข่งขันของตลาดแฟชั่นที่มีความรุนแรงมากขึ้น

รวมทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้น บริษัทได้จ้างที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์จากสหรัฐอเมริกามาช่วยยกระดับการบริหารงานภายในองค์กร และเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้า และได้ลงทุนด้านระบบไอทีและข้อมูล 100 ล้านบาท เพื่อวางแผนการผลิตสินค้า

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์จากประเทศจีน จัดตั้งบริษัทโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า รวมทั้งมีการลงทุนตั้งศูนย์การกระจายสินค้าในจีนด้วย หลังสร้างศูนย์การกระจายเสร็จจะทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพในการป้อนสินค้าเข้าไปทำตลาดมากขึ้น จึงวางแผนจะขยายตลาดให้ครอบคลุมทั้งอาเซียน จากปัจจุบันที่ส่งแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นเอง อาทิ เอสพาด้า, อีพี, อีเอสพี ฯลฯ เข้าไปทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คาดว่าสัดส่วนของตลาดต่างประเทศในปี 2559 จะอยู่ที่ 10% จากปัจจุบันรายได้ต่างประเทศสัดส่วน 5%

( ภาพจาก  www.facebook.com/espada.th )

"ก่อนหน้านี้เราส่งสินค้าไปหลายประเทศทั้งกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะระบบหลังบ้านยังแข็งแรงไม่พอ จึงหยุดทำตลาดไป 2-3 ปีเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น และตอนนี้เรามีความพร้อมมากขึ้น จึงจะเริ่มบุกตลาดอาเซียนอีกครั้ง"

นายบุญชัยกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ได้ลิขสิทธิ์ผลิตและจัดจำหน่าย รวมทั้งแบรนด์ที่ได้สิทธิ์ในการทำแฟรนไชส์ เพื่อขยายสิทธิ์ในการทำตลาดให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดแบรนด์ วอนดัช และเอฟ แฟชั่น ได้อนุญาตแล้วและจะเริ่มขยายตลาดไปประเทศต่าง ๆ ในเร็ว ๆ นี้

และจากนี้ไปบริษัทจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดกลุ่มไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ยังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก โดยปีหน้ามีแผนจะเปิดร้านอาหารจากญี่ปุ่น 1 แบรนด์ และจะเปิดร้านอาหารจีนที่พัฒนาเองอีก 1 แบรนด์ จากเดิมที่ได้สิทธิ์ในการทำตลาด แฮร์รอดส์ ที รูม จากอังกฤษ เมื่อปี 2556 ปัจจุบันมี 3 สาขา ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ชื่อ แอพโค่ (APKO)

ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่น เพื่อแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ซึ่งจะเป็นการหาแฟรนไชส์และลิขสิทธิ์จากแบรนด์ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก และกระจายให้ผู้ที่สนใจรับไปทำตลาดในอาเซียน

ด้านธุรกิจในประเทศ นายบุญชัยกล่าวว่า ได้ปรับรูปแบบการทำตลาด รวมถึงบริหารร้านค้า เพื่อรับมือกับการแข่งขันและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งร้านให้สะดุดตา สินค้าที่มีดีไซน์กับฟิตติ้งที่โดนใจผู้บริโภค ราคาที่เหมาะสม เข้าถึงง่าย รวมทั้งการทำโปรโมชั่นเพื่อรักษายอดขาย

อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,196
PLAY Q by CST bright u..
1,325
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
947
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
945
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
794
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด