3.9K
12 พฤศจิกายน 2552

รมช.ประดิษฐ์ ประกาศแผนช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี เปิดตัวโครงการ smePOWER  
  
   


 

     นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กรรมการธนาคาร และนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศแผนช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี เปิดตัวโครงการ smePOWER โดย เอสเอ็มอีแบงก์จะสนับสนุนสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ

เริ่มโครงการวันที่ 11 พฤศจิกายน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551
และจะร่วมมือกับ สวทช. ช่วยยกระดับเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีในระยะยาว และควบรวมกิจการของเอสเอ็มอี แบงก์ กับ บสย. โดยแถลงข่าว ณ ห้องบอลรูม โรงแรมโฟร์ ซีซันส์ ถ.ราชดำริ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551  
  
 

 

รมช. ประดิษฐ์ ประกาศแผนช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี เปิดตัวโครงการ smePOWER

• เล็งปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ฉุดเอสเอ็มอีให้รอดจากเศรษฐกิจขาลง
• ช่วยยกระดับเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีในระยะยาว
• ควบรวมกิจการของธนาคารเอสเอ็มอี เข้ากับ บสย. พร้อมสั่งปรับปรุงประสิทธิภาพ หยุดอัดฉีดเงินเพิ่มทุน 2,100 ล้านบาท

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้กำกับดูแลธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือธนาคารเอสเอ็มอี กับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศเปิดตัวโครงการ เอสเอ็มอี เพาเวอร์ (smePOWER) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “smePOWER เป็นโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถอยู่รอดได้กับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแข็งแกร่งขึ้นในอนาคต”

“โครงการนี้มีสองส่วน คือ หนึ่งการช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและบริการเงินร่วมลงทุน อีกด้านหนึ่งเป็นการช่วยให้เอสเอ็มอีได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการดำเนินงาน รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้ดีกว่าเดิมและประสบความสำเร็จมากขึ้น” รมช. ประดิษฐ์กล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้กล่าวต่อว่า “โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญที่มีศักยภาพ โดยไม่ขอเงินทุนเพิ่มจากรัฐแต่อย่างใด ที่ทำเช่นนี้ได้เพราะเป็นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดความซ้ำซ้อน และความสูญเปล่าในหน่วยงานของรัฐ”

“เพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จริง ประการแรก เราจะทำการควบรวมกิจการของธนาคารเอสเอ็มอี กับ บสย. เข้าด้วยกัน ซึ่งผลจากการควบรวมกิจการและงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคารเอสเอ็มอี จะทำให้เราสามารถให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้มากถึง 30,000 ล้านบาท โดยไม่ขอเงินทุนเพิ่มจากรัฐแต่อย่างใด และจะทำให้เราประหยัดงบประมาณแผ่นดินทันที 2,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่สถาบันการเงินทั้งสองขอเพิ่มทุนมานั่นเอง” รมช. ประดิษฐ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สินเชื่อจำนวน 10,000 ล้านบาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด คือ อัตรา MLR หรือ เท่ากับร้อยละ 7.25 ในปัจจุบัน และจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้คืนจาก 5 ปี เป็น 7 ปี และสำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินทุน แต่ธุรกิจยังพอดำเนินต่อไปได้ เราจะมีสินเชื่อดอกเบี้นต่ำให้ในวงเงินตั้งแต่ 3 แสนบาท ถึง 10 ล้านบาท”

“ประการที่สอง เราจะใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการยกระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของเอสเอ็มอีผ่านโครงการที่ดำเนินมาแล้วหลายปี โดยเราจะสานต่อโครงการนี้ ซึ่งปัจจุบันให้ความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีประมาณ 250 รายต่อปี โดยจะขยายจำนวนเอสเอ็มอีที่ได้รับการช่วยเหลืออีก 10 เท่าเป็น 2,500 รายต่อปี” รมช. ประดิษฐ์ กล่าว

รศ. ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจะไปเยี่ยมเอสเอ็มอีเพื่อให้คำแนะนำวิธียกระดับเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าสูงขึ้น ตลอดจนแนะนำวิธีการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานพิเศษที่กำหนดโดยตลาดส่งออกรายใหญ่ๆ อย่างสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีของเราแข่งขันในตลาดนานาชาติได้ดียิ่งขึ้น”
 

“นอกจากนี้ยังช่วยให้นักวิชาการไทยได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยช่วยเสริมความรู้ภาคปฏิบัติเข้าไปกับความเชี่ยวชาญทางทฤษฎี เพื่อนักวิชาการเหล่านี้จะได้นำความรู้กลับไปสอนนักศึกษาอีกต่อหนึ่ง” ดร.ศักรินทร์กล่าว

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้เปิดเผยต่อว่า “สถาบันการเงินที่มีหน้าที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีในขณะนี้ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง โครงการ smePOWER ภายใต้ธนาคารเอสเอ็มอีที่ปรับโครงสร้างใหม่ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการสนับสนุนที่จำเป็น นอกจากนี้ยังทำให้รัฐมีสถาบันการเงินที่แข็งแรงมั่นคงยิ่งขึ้น มาช่วยสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี และหยุดการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปอุดหนุน ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมา รัฐต้องอัดฉีดเงินให้กับธนาคารเอสเอ็มอี และบสย.ไปแล้วถึง 10,000 ล้านบาท”

“นี่คือข้อพิสูจน์ว่าหากเราต้องการจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เราไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินเข้าไปมากมายก็ได้ แค่รู้ว่าจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นได้อย่างไรก็พอแล้ว” รมช. ประดิษฐ์ กล่าว

โครงการ smePOWER เป็นการยกเครื่องวิธีการให้ความสนับสนุนแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ครั้งใหญ่ของรัฐบาล

“สิ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จของโครงการคือคณะกรรมการของธนาคารเอสเอ็มอีที่มีความเป็นอิสระ ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย การเงินและการธนาคาร นอกจากนี้ผมยังได้สั่งให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของธนาคารเอสเอ็มอีใหม่หมดเพื่อรองรับโครงการ smePOWER” รมช. ประดิษฐ์ กล่าว

รมช. ประดิษฐ์ ยังได้กล่าวอีกว่า “ธุรกิจเอสเอ็มอีของเราถือว่าอยู่ในฐานะที่เปราะบางอย่างมาก เพราะว่ามีเงินลงทุนจำกัด ยากที่จะเอาตัวรอดจากสภาวะเศรษฐกิจขาลงได้ เอสเอ็มอีหลายรายต้องพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองภาคส่วนต่างก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งภายนอกและภายในประเทศ”

“นอกจากนี้การช่วยเหลือเอสเอ็มอียังมีความสมเหตุสมผล สอดคล้องกับสภาวะการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ เพราะการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเท่ากับเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากในธุรกิจ เอสเอ็มอีจะมีการจ้างงานถึง 9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ร้อยละ 40 มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี และเป็นยอดการส่งออกถึงร้อยละ 30


นอกจากนั้นธุรกิจเอสเอ็มอียังได้กระจายอยู่ทั่วทุกแห่งของประเทศไทย โดยร้อยละ 70 ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ดังนั้นหากเราปล่อยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีล้มก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไปด้วย” รมช. ประดิษฐ์ กล่าว

ผู้ที่สนใจโครงการ smePOWER สามารถยื่นแสดงเจตน์จำนง มาที่ธนาคารเอสเอ็มอี ได้ตั้งแต่วันที่ 11 เดือน 11 เป็นต้นไป หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์ฮอตไลน์ ธนาคารเอสเอ็มอี หมายเลข 1357 หรือ www.smebank.co.th
 

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ

การปรับโครงสร้าง ธนาคารเอสเอ็มอีภายใต้โครงการ smePOWER จะเป็นการแก้ปัญหาทางการเงินและการบริหารจัดการของ ธนาคารเอสเอ็มอี และ บสย.ในระยะยาว

• คณะทำงานที่นำโดยนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการธนาคารได้พิจารณาปัญหาของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งอย่างรอบคอบ และเห็นควรให้มีการปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการของธนาคารเอสเอ็มอีและบสย. คณะทำงานได้ปฎิเสธคำขอเพิ่มทุนของสถาบันการเงินทั้งสองเนื่องจากเห็นว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนการขยายสินเชื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอี หากแต่เป็นการเพิ่มทุนเพื่อนำไปซึมซับความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารงานมากกว่า
• คณะทำงานจึงเสนอให้มีการควบรวมสถาบันการเงินทั้งสองเข้าด้วยกันและให้มีการปรับโครงสร้างทีมผู้บริหาร

บริการทางการเงิน ที่นำเสนอภายใต้โครงการ smePOWER ประกอบด้วย

• บริการด้านสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินกิจการและเติบโตต่อไป ผู้ประกอบการจึงต้องการเงินทุนเพื่อใช้ขยายธุรกิจ โดยธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มักจะพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือเสนอดอกเบี้ยที่จูงใจให้กับลูกค้ารายใหญ่เท่านั้น และถึงแม้เอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ ก็ยังขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาขยายกิจการไม่ได้ แต่ภายใต้โครงการ smePOWER เราจะสามารถให้สินเชื่อกับเอสเอ็มอีที่สมควรได้รับ ได้มากถึง 30,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อจำนวน 10,000 ล้านบาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด คืออัตรา MLR หรือเท่ากับร้อยละ 7.25 ในปัจจุบันและจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้คืนจาก 5 ปีเป็น 7 ปี และสำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินทุน แต่ธุรกิจยังพอดำเนินต่อไปได้ เราจะมีสินเชื่อดอกเบี้นต่ำให้ในวงเงินตั้งแต่ 3 แสนบาท ถึง 10 ล้านบาท

• บริการเงินร่วมลงทุน เพื่อช่วยเอสเอ็มอีในการเริ่มต้น เราจะจัดสรรเงินจำนวน 500 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนแก่เอสเอ็มอีในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจที่กำลังขยายกิจการซึ่งต้องการเงินทุนเพิ่มแต่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอสำหรับการขอสินเชื่อ ธนาคารเอสเอ็มอีจะถือหุ้นส่วนน้อยในกิจการ พร้อมกับอัดฉีดเงินร่วมลงทุนให้กับเอสเอ็มอีนั้นๆ และเมื่อกิจการนั้นประสบความสำเร็จ ธนาคารเอสเอ็มอีก็จะขายหุ้นและปล่อยให้ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของกิจการอย่างเต็มตัว ธนาคารเอสเอ็มอี ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในบริการนี้ แต่มีการดำเนินธุรกิจคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ซึ่งเน้นการให้สินเชื่อและกำไรสูงสุดเท่านั้น

• บริการค้ำประกันสินเชื่อ - เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยสนับสนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีในการดำเนินการและขยายกิจการ

เงื่อนไขปกติที่ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีหนึ่งๆ มักจะทำให้ต้นทุนของสินเชื่อสูงกว่าระดับที่ยอมรับได้ ทั้งนี้เพราะความเสี่ยงของการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีนั้นมีสูง ขณะที่ธนาคารเอสเอ็มอีจะช่วยค้ำประกันสินเชื่อส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้กับเอสเอ็มอีในส่วนที่หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ วิธีนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถให้บริการแก่ผู้กู้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่จำนวนมากได้ ซึ่งข้อดีจากการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมคือ

- สามารถระดมสินเชื่อจำนวนมากได้ โดยรัฐไม่ต้องลงทุนมาก
- ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับบริการที่ดีกว่า เพราะธนาคารพาณิชย์จะทำงานได้รวดเร็วกว่า
- จะเป็นหลักประกันว่าการปล่อยสินเชื่อมีความโปร่งใส และไปถึงมือเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ และ สมควรจะได้สินเชื่อมากที่สุด โดยมีการคัดกรองผู้ขอสินเชื่อ อย่างเหมาะสม ลดการฉ้อฉลจากระบบการทำงาน และการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
 

เราจะจัดสรรเงินทุนจำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์

บริการคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางวิชาการ – ภายใต้โครงการ smePOWER เพื่อช่วยเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

• ธนาคารเอสเอ็มอี จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสวทช. และหน่วยงานที่มีความชำนาญพิเศษภายใต้ สวทช.ให้ทำการศึกษาเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด เพื่อช่วยเหลือในการลดต้นทุนการผลิต และการดำเนินงาน ด้วยการปรับปรุงวิธีการทำงานและเทคโนโลยีให้ดีขึ้น

• นอกจากนี้ที่ปรึกษาจะแนะนำว่าเอสเอ็มอีนั้นๆ จะสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร ด้วยการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

• นอกจากนั้นยังจะได้ให้คำแนะนำวิธีผลิตสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานที่สูงเป็นพิเศษของตลาดส่งออกรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น

มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2,000 รายที่ได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือของสวทช. ทั้งในกลุ่มธุรกิจด้านอาหาร เฟอร์นิเจอร์ วิศวกรรมและเกษตรกรรม 
 

 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,036
PLAY Q by CST bright u..
1,290
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
941
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
790
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
768
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด