1.9K
28 พฤษภาคม 2558
เมืองเล็ก โอดไร้เมกะโปรเจ็กต์กระตุ้นเศรษฐกิจ วอนเจียดงบลงทุน


จังหวัดเล็กทำใจ เศรษฐกิจนิ่งสนิท ไม่มีเมกะโปรเจ็กต์รัฐช่วยพยุง ได้แค่งบฯซ่อมแซมถนน "เมืองสิงห์-พะเยา" หันพึ่งตลาดนัด-จัดเทศกาลปลุกมู้ดจับจ่ายในจังหวัด "กาฬสินธุ์" วืดรถไฟทางคู่ เบนเข็มส่งเสริมท่องเที่ยวดึงเม็ดเงินแทน ด้านเมืองขุนเขา "แม่ฮ่องสอน" วอนรัฐเปิดด่านห้วยต้นนุ่น "ยโสธร" หวั่นเม็ดเงินโครงการขนาดใหญ่กระจุกในมือกับคนไม่กี่กลุ่ม


นายนที แนวทัศน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยว่า แม้การลงทุนภาครัฐและเมกะโปรเจ็กต์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่สำหรับจังหวัดสิงห์บุรีปีงบประมาณ 2558 นี้ ส่วนใหญ่มีเพียงการบำรุง ซ่อมสร้างถนนระยะทางไม่เกิน 2 กิโลเมตรเท่านั้น และไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างถาวร ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจัดงานจำหน่ายสินค้าเล็ก ๆ อย่างตลาดนัดมากกว่าหวังโครงการใหญ่ ๆ จากภาครัฐ

"หากเป็นไปได้ก็ต้องการให้มีการลงทุนจากภาครัฐมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีโครงการที่วางแผนกันไว้ แต่ก็มีหลายโครงการที่ต้องพับไป ตอนนี้จึงจัดงานเล็ก ๆ เช่น ตลาดนัด ตลาดนัดเกษตร เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าและเกษตรกรรายย่อยในจังหวัด และเรายังไปจัดริมถนนสายเอเชีย เพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวและคนเดินทาง เนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจในจังหวัดนิ่งมาก"

นายนิพนธ์ คำพา ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า ปีนี้ไม่มีโครงการลงทุนจากภาครัฐในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยประชาชนยังต้องพึ่งพาภาคเกษตร เศรษฐกิจพอเพียง และภาคบริการเป็นหลัก ซึ่งหากมีการลงทุนโครงการใหญ่ ๆ จากภาครัฐบ้างก็จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ตอนนี้การลงทุนในจังหวัดก็ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก

ทั้งนี้ ในปัจจุบันจังหวัดใกล้เคียงที่มีพื้นที่ติดชายแดน เช่น จังหวัดเชียงราย ตาก มีสะพานมิตรภาพไปยังเมียนมา ซึ่งหากแม่ฮ่องสอนมีสะพานเช่นนี้ได้ ก็จะช่วยให้การค้า การท่องเที่ยวกับฝั่งเมียนมาร์สะดวกและเศรษฐกิจจะคึกคักขึ้น

ส่วนการพัฒนาจากภาครัฐที่ชาวแม่ฮ่องสอนรอคอยอยู่ คือ การยกระดับจุดผ่านแดนห้วยต้นนุ่นให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรให้เร็วที่สุดเพื่อส่งเสริมศักยภาพการค้าชายแดนและการลงทุนในจังหวัดรวมทั้งปรับปรุงถนน 2 สายจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่คือถนนสายแยกทางหลวงชนบทสาย 108 และ 1095 เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางในการท่องเที่ยวและการขนส่ง

ด้านนายวิษุวัต มั่งสุวรรณ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ก็เคยเป็นหนึ่งในเส้นทางของรถไฟทางคู่เช่นกัน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนไปสร้างในจังหวัดใหญ่อย่างขอนแก่นแทน ขณะที่โครงการลงทุนภาครัฐส่วนใหญ่ในปี 2558 ของจังหวัดกาฬสินธุ์คือการซ่อมถนน ซ่อมสถานที่สาธารณะ การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งในอนาคตก็หวังว่าจะมีการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์จากภาครัฐในจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วยเช่นกัน

"ตอนนี้ทางจังหวัดกาฬสินธุ์จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเพื่อช่วยดึงเม็ดเงินเข้ามาในจังหวัดแทนเช่นการจัดงานถนนคนเดินการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้ราว 30% ปัจจุบันเศรษฐกิจในจังหวัดชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วเหลือราว 65-70% เนื่องจากพืชหลัก ๆ อย่างข้าว มันสำปะหลัง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและพายุฤดูร้อน"

สอดคล้องกับนายไพศาล แจ่มจำรัส เลขาธิการหอการค้าจังหวัดยโสธร กล่าวว่ายโสธรเป็นเมืองที่มีรายได้น้อย พึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลัก ปัจจุบันยังไม่มีโครงการลงทุนภาครัฐใหญ่ ๆ ในจังหวัดยโสธรเช่นกันแต่มองว่าหากมีการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐเกิดขึ้นจริง ประโยชน์อาจจะตกอยู่กับคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

"โครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐนั้น ต้องบอกว่าไม่อยากได้ เนื่องจากโครงการใหญ่ ๆ ประโยชน์ก็มักไปตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม
เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เม็ดเงินไม่ได้กระจายลงสู่ท้องถิ่นจริง ๆ จึงอยากให้การลงทุนจากภาครัฐลงทุนแบบกระจาย เช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์โอท็อปของจังหวัดหรือพืชเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเหลือเศรษฐกิจในจังหวัดได้มากกว่า"

พยุงเศรษฐกิจ - ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รัฐบาลเร่งการใช้จ่ายภาครัฐและโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ลงสู่พื้นที่ต่างจังหวัด หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แต่ในจังหวัดเล็ก ๆ กลับไม่มีการลงทุนภาครัฐ หลายจังหวัดต้องหันมาพยุงเศรษฐกิจภายในจังหวัดด้วยการจัดตลาดนัด หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างงรายได้เข้าสู่จังหวัด

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้การลงทุนจากรัฐเป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งการสร้างถนนอาจได้ประโยชน์มากกว่าสะพาน หรือประชาชนอาจต้องการให้ขยายถนนมากกว่าการรื้อถนนที่ยังไม่พังมาสร้างใหม่ เพื่อให้คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุน และเกิดประโยชน์ต่อจังหวัดอย่างแท้จริง

ด้านนายธีระศักดิ์ สิทธิชัยธนะกิจ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดพะเยากล่าวว่า พะเยาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ไม่มีโครงการขนาดใหญ่จากรัฐบาลเข้ามาในช่วงปี 2558 ทำให้ไม่เกิดการจ้างงาน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดชะลอตัว

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเร่งระบายสินค้าโดยจำหน่ายในตลาดนัดและวิสาหกิจชุมชน แต่ก็ประสบปัญหากำลังซื้อภาคประชาชนลดลงต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

นายธีระศักดิ์กล่าวด้วยว่า จังหวัดพะเยามีโครงการจากภาครัฐเข้ามาน้อย ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวช้า และส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยพะเยา หากต้องการให้เศรษฐกิจของพะเยาขยายตัวจะต้องเร่งอนุมัติโครงการถนนวงแหวนระยะทาง 17 กิโลเมตร ตั้งแต่บ้านร่อง 5 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง-สามแยกเกษตรสุข อำเภอเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสนอรัฐบาลไปแล้วหลายครั้ง หากอนุมัติโครงการนี้จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงเส้นทาง R3A ไปยังจังหวัดเชียงรายด้วย

อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
1,190
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
799
“เติมพลังความรู้” กับ ..
633
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
612
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
606
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
548
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด