11K
18 ธันวาคม 2557
นารายา จัดทัพรุกครั้งใหญ่แฟชั่น แตก 2 แบรนด์ขยายฐาน/เล็งสปีดธุรกิจเข้าตลาดหุ้น


นารายาแตก 2 แบรนด์น้องใหม่ขยายฐานลูกค้า ส่ง "นารา" บุกพารากอนจับลูกค้าไฮเอนด์ พร้อมเพิ่มไลน์สินค้าผู้ชาย เตรียมส่งแบรนด์ "ลาลามะ"

เปิดตลาดแฟชั่นเดินหน้าขึ้นโรงงานใหม่เพิ่มกำลังการผลิตรองรับดีมานด์ รุกหนักตลาดต่างประเทศทุ่มลงทุน "แฟลกชิปสโตร์" ในโตเกียวยกคอนเซ็ปต์ 3 แบรนด์ไปพร้อมกัน สนใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด

ตลอด 25 ปีที่โลดแล่นในธุรกิจอาจเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้ทำตลาดหวือหวาและเปรี้ยงปร้างนัก แต่น้อยคนหนักที่จะไม่รู้จักแบรนด์กระเป๋าผ้า "นารายา" ไม่เพียงกลุ่มลูกค้าคนไทยเท่านั้น แต่เหมือนว่าลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย 1 ใน "Must Have" ที่ต้องไม่พลาดคือการต้องมาร้านนารายา

ความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งโซนเอเชียและยุโรป ที่ให้ความสนใจหาซื้อใช้เป็นส่วนตัวหรือของฝากเป็นจำนวนมาก ทำให้ในวันนี้ "นารายา" ไม่ได้มีสาขาเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ได้กระจายสาขาไปยังหลากหลายประเทศตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญและล่าสุดของแบรนด์ "นารายา" ล้วนน่าจับตามองเส้นทางการเติบโตเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้เตรียมแตกแบรนด์ใหม่ เพื่อขยายตลาดและกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น การเปิดตลาดต่างประเทศในโมเดลแฟลกชิปสโตร์ รวมถึงการเพิ่มแวลูให้กับธุรกิจสำหรับการเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ


แตกแบรนด์น้องใหม่บุกแฟชั่น

นางวาสนา ลาทูรัส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์นารายา (NaRaYa) เปิดเผยว่า หลังจากทำตลาดแบรนด์นารายามา 25 ปี บริษัทได้แตกแบรนด์ใหม่อีก 2 แบรนด์เข้ามาเสริมในธุรกิจ คือนารา บาย นารายา (NARA By NaRaYa) ที่เปิดให้บริการแล้วในศูนย์การค้าสยามพารากอน และแบรนด์ลาลามะ บาย นารายา (LaLaMa By NaRaYa) ในศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ แบรนด์นารา บาย นารายา ได้วางโพซิชันนิ่งเป็นแบรนด์ระดับไฮเอนด์ มีราคาสูงขึ้นจากแบรนด์นารายา และเป็นครั้งแรกที่ขยายไลน์สินค้าสำหรับผู้ชายออกมาทำตลาด เพื่อให้มีความหลากหลายของสินค้าและครอบคลุม โดยแบ่งเป็นกลุ่มสินค้า "นารา เมน" และ "นารา เลดี้" รวมถึงสินค้าของเด็ก

"แบรนด์นารายังไม่ได้ทำการตลาดมากนัก เปิดตัวครั้งแรกปลายปีที่แล้ว แต่ก็ต้องปิด ๆ เปิด ๆ ร้านตามศูนย์การค้าที่มีปัญหาทางการเมือง ทำให้หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักแบรนด์ แต่เรามีโฆษณาและทำการตลาดสื่อสารบนเครื่องบินสายการบินไทย และก็เริ่มมีกลุ่มลูกค้ามาสั่งซื้อเป็นของขวัญเทศกาลปีใหม่ ลูกค้าองค์กรก็มีคำสั่งซื้อเข้ามา"

ในส่วนของแบรนด์ลาลามะ บาย นารายา นั้น หัวเรือใหญ่นารายาขยายความว่า จะแตกธุรกิจสู่การเป็นแบรนด์แฟชั่น เนื่องจากมองเห็นโอกาสของตลาดโดยจุดเด่นของแบรนด์นี้จะนำผ้าไทย อาทิ ผ้าไหมอีสาน ผ้าไหมมัดหมี่ นำมาพัฒนาเป็นกระเป๋าและเสื้อผ้าสร้างความแตกต่างสำหรับจับกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน รวมถึงนักท่องเที่ยว


ส่ง "แฟลกชิปสโตร์" ลุย ตปท.

ปัจจุบัน แบรนด์นารายาและนาราเปิดให้บริการแล้ว 21 สาขาในทำเลหลักที่เป็นไพรมโลเกชั่นเท่านั้น ทั้งรูปแบบสแตนด์อะโลน และสาขาที่ตั้งอยู่ตามศูนย์กลางค้าใจกลางเมือง ย่านธุรกิจ และหัวเมืองท่องเที่ยว โดยแผนธุรกิจในปีหน้าจะเปิดให้บริการในโครงการบลูพอร์ต หัวหิน ควบคู่กับแผนการลงทุนขยายสาขาในต่างประเทศในรูปแบบใหม่ ๆ โดยจะนำร่องเปิดโมเดล "แฟลกชิปสโตร์" ในญี่ปุ่นด้วยการส่ง 3 แบรนด์มารวมอยู่ภายในร้านเดียวกัน

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษากฎหมายการตั้งบริษัทและการร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการไตรมาสแรกของปีหน้า

ปัจจุบัน การลงทุนในต่างประเทศของนารายา นางวาสนา ลาทูรัส ขยายความว่า มีทั้งการลงทุนเองของบริษัท อาทิ ในฮ่องกง มาเก๊า และระบบตัวแทนจำหน่าย อาทิ มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม โดยล่าสุดเตรียมที่จะเปิดรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งจะเริ่มนำร่องในมาเลเซียที่มีแผนจะขยายแฟรนไชส์ในปีหน้า

"โมเดลที่จะเปิดในญี่ปุ่นลงทุนเอง จากนั้นคงจะเป็นแฟรนไชส์หรือไม่ก็ค่อยว่ากันอีกที เอาคอนเซ็ปต์ไปก่อน เป็นร้านสแตนด์อะโลนในโตเกียว พื้นที่ 200-300 ตร.ม.งบฯลงทุนหลัก 100 ล้านบาทขึ้นไป เรามีดีไซเนอร์เป็นคนญี่ปุ่น ที่ผ่านมาการรับรู้ในแบรนด์ที่ญี่ปุ่นเป็นที่พอใจผ่านของฝากและรู้จากคนอื่น"


เล็งเข้าตลาด-เพิ่มกำลังการผลิต

แม่ทัพใหญ่กลุ่มนารายากล่าวว่า บริษัทมีความสนใจจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อช่วยให้ ธุรกิจขยายตัวเร็ว แต่จะพิจารณาหลังจากโมเดลร้านในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ เพื่อเพิ่มแวลูให้ธุรกิจ ทั้งนี้ ยังมองโอกาสที่จะขยายโรงงานแห่งใหม่ ๆ โดยปีที่ผ่านมาได้ปิดโรงงานที่ขอนแก่น และเช่าโรงงานใหม่ที่นครราชสีมา ซึ่งได้ลงทุนเครื่องจักรไปประมาณ 4-5 ล้านบาท ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 20%

ทั้งนี้ ปัจจุบันนารายามีโรงงาน 5 แห่งควบคู่กับกำลังการผลิตที่เป็นแรงงานฝีมือชาวบ้านที่ส่งให้บริษัท โดยแบ่งสัดส่วนการผลิตจากโรงงาน 40% จากแรงงานฝีมือชาวบ้าน 60% โดยแต่ละปีมียอดขายเฉลี่ยมากกว่า 10 ล้านชิ้น


อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
933
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
635
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
552
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
514
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด