9.4K
10 พฤษภาคม 2557
ปรับ "ทรูช้อป" ย้ำคอนเวอร์เจนซ์เร่งเพิ่มสาขา


"กลุ่มทรู" ปรับปรุงช่องทางขาย ย้ำ ยุทธศาสตร์ "คอนเวอร์เจนซ์" พร้อมผนึกดีลเลอร์และเครือข่ายค้าปลีกไอที เร่งขยายสาขาทั่วประเทศอุดช่องว่างการตลาด เดินหน้าหั่นราคาเครื่องยกแผงทั้งบิ๊กแบรนด์-เฮาส์แบรนด์ขายพ่วงแพ็กเกจ 3G ปั๊มยอดเต็มสูบ

นายกิตติณัฐ ทีคะวรรณ ผู้อำนวยการธุรกิจรีเทล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ได้วางแผนปรับปรุงและขยายสาขาร้านทรูช้อป โดยจะลงทุนปรับปรุงสินค้ากับการจัดการร้านใหม่เพื่อให้มีทุกสินค้าและบริการ จากเดิมบางบริการ เช่น ทรูออนไลน์ ไม่มีการแสดงให้เห็นความเร็วของไฮสปีดอินเทอร์เน็ตว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน จึงต้องมีการนำคอมพิวเตอร์ไปติดตั้ง และลากสายอินเทอร์เน็ตให้บริการตามความเร็วจริง ซึ่งมีการทยอยแก้ไขเกือบครบทุกสาขาแล้ว

ส่วนการขยายสาขา แยกออกเป็นสองรูปแบบ คือ ทรูช้อปขนาดใหญ่ มีสินค้าและบริการครบ เน้นเปิดในห้างสรรพสินค้าและในพื้นที่ที่มีประชาชนหนาแน่น บางแห่งมีบริการทรูคอฟฟี่ด้วย อีกรูปแบบเป็น "ทรู พาร์ทเนอร์" เป็นร้านย่อย มีขนาดเล็กกว่า แต่มีสินค้าและบริการแสดงเกือบทุกรุ่น เน้นต่างจังหวัด เพื่อตอบโจทย์การกระจายเข้าไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ปัจจุบันทรูช้อปมี 250 สาขา และทรูพาร์ทเนอร์ 130 สาขา

"ต้องขยายให้ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกแม้ตอนนี้จะมีในพื้นที่หลัก ๆ ครบแล้วการจัดวางร้านต้องมีดิสเพลย์สินค้าในทรูช้อป 50-60% ของพื้นที่ร้าน ส่วนอื่นจะเป็นเคาน์เตอร์ชำระเงินหรือมีทรูคอฟฟี่รวมอยู่ด้วย ส่วนร้านทรูพาร์ทเนอร์ เป็นร้านของดีลเลอร์ ไม่มีค่าแฟรนไชส์รายปี ร้านรูปแบบนี้ไม่ได้เร่งขยายมากนัก ในภาพรวมสาขาทั้งหมดจะเพิ่มกว่า 400 แห่ง และรุกช่องทางขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นด้วย"


อย่างไรก็ตาม ในทรูช้อปมี 10% เป็นแฟรนไชส์ รวมถึงการไปขยายทรูช้อปภายในค้าปลีกไอที เช่น "บานาน่า ไอที" ในเบื้องต้นมี 40 สาขา ในร้านจะมีสินค้าและบริการบางส่วน พร้อมเคาน์เตอร์ชำระค่าบริการ ซึ่งการขยายสาขารูปแบบนี้จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเปิดร้าน แต่ต้องบริหารสินค้าภายในร้านใหม่เพื่อให้มีสภาพคล่องสูงสุด

นายกิตติณัฐกล่าวถึงธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือด้วยว่า ทรูวางแผนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และแท็บเลตครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า เพื่อสร้างรายได้จากการจำหน่ายเครื่องเพิ่ม แม้ปีก่อนจะทำได้ดี ขณะที่ปีนี้คาดว่ามูลค่าจะมากกว่าปี 2556 ไม่มากนัก แต่จำนวนเครื่องจะเพิ่มจาก 12-13 ล้านเครื่องเป็น 18-19 ล้านเครื่อง โดยสมาร์ทโฟนมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็นครึ่งหนึ่ง เนื่องจากมีเครื่องระดับราคาปานกลาง (ระหว่าง 3,000-10,000 บาท) มากขึ้น

"ถ้ามองตลาดรวมต้องแบ่งเป็น 2 แบบคือ มูลค่ากับจำนวนเครื่อง ส่วนแรกคงไม่เพิ่ม เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาสมาร์ทโฟนระดับบนจะมีราคา 2 หมื่นบาทขึ้นไป เมื่อรวมฟีเจอร์โฟนจะมีมูลค่าน้อยกว่าปีนี้เล็กน้อย จากการที่ครึ่งหนึ่งเป็นสมาร์ทโฟน แต่รุ่นระดับกลางจะขายได้มากสุด ส่วนไฮเอนด์จะลดลง"

บริษัทเพิ่งวางจำหน่ายฟีเจอร์โฟน 3G รุ่นใหม่ ได้แก่ GoLive Facebook Phone ราคา 1,450 บาท มีปุ่มพิเศษเข้าใช้เฟซบุ๊กได้ทันที ตัวเครื่องเป็นบาร์ไทป์ หน้าจอใหญ่ แต่ไม่ใช่ทัชสกรีน รองรับ 3G พร้อมโปรโมชั่นให้ค่าโทร.เท่าราคาเครื่อง

สำหรับโปรโมชั่นลดค่าเครื่อง 50% ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จะมีเครื่องให้เลือกหลากหลายรุ่น แต่ต้องเลือกแพ็กเกจรายเดือน 6-12 เดือน เช่น ไอโฟน 4S เหลือ 7,450 บาท ใช้คู่กับแพ็กเกจ 899 หรือ 999 บาท นาน 1 ปี

"กำลังซื้อในขณะนี้อาจมีลดลงบ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลระยะยาวทำให้การจำหน่ายมือถือในภาพรวมยังไปได้ดี ความต้องการสมาร์ทโฟนยังมีอีกมาก โดยผู้บริโภคขยายจากกลุ่มบนลงมาระดับกลางและล่างมากขึ้น จากราคาเครื่องที่ถูกลง การบริหารสต๊อกเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือจะทำอย่างไรให้ขายหมด ผู้บริโภคจะได้มาซื้อได้ตลอด เช่นร่วมกับเวนเดอร์เป็นดิสทริบิวเตอร์ทำตลาดบางรุ่น"

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,469
PLAY Q by CST bright u..
1,350
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
956
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
953
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
802
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
774
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด