2.4K
9 มกราคม 2557
ส่องกล้อง SMEs ปี57 ส่งสัญญาณอาชาเดินซึมหลังฟื้นไข้

 
 
เผยบทสรุปสถานการณ์เอสเอ็มอีไทย ใน พ.ศ.2556 หลังผจญวิกฤตหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และนโยบายปรับค่าแรง ส่งให้ยอดขายหด ขณะเดียวกันต้นทุนพุ่ง พร้อมส่องกล้องมองทิศทางเอสเอ็มอี พ.ศ.2557 ว่าจะเป็นไปแนวโน้มใด ตลอดจนตรวจแถวดูปัจจัยบวกและลบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปีม้าที่ส่อแววเศรษฐกิจจะเหงาหงอย
 
ระบุ ศก.ชะลอตัว ส่งเอสเอ็มอีโตแผ่ว
 
ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้ข้อมูลว่า การขยายตัวเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี หรือ GDP SMEs ในปี 2556 โต 3.3% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ต้นปีที่ 4-5% ซึ่งเป็นทิศทางล้อกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุ GDP โตเพียง 3% ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้โต 4-5% โดยเป็นผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ประเทศคู่ค้าต่างชาติอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาพืชผลการเกษตรหลายประเภทตกต่ำ การส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลส่งออกในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2556) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า การส่งออกของเอสเอ็มอีมีมูลค่ารวม 1,571,145.18 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกัน 9.3% นอกจากนั้น มีปัจจัยลบจากต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง
 
 
 
ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
 
ส่วนการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า เอสเอ็มอีมีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ จำนวน 59,999 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 โดยเดือนตุลาคม มีกิจการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ จำนวน 5,262 ราย กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการยกเลิกกิจการในรอบ 10 เดือน มีจำนวน 11,070 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 โดยเดือนตุลาคม มีกิจการที่ยกเลิกจำนวน 1,581 ราย กิจการที่ยกเลิกสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการนันทนาการ และอสังหาริมทรัพย์
 
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลการวิจัย ระบุว่า อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคชะลอตัว เกิดจากครัวเรือนเงินเก็บน้อยลง และมีหนี้สินเพิ่ม เพราะนำไปผ่อนชำระรถยนต์คันแรก ประกอบกับค่าครองชีพพุ่งสูง ขณะที่ครึ่งปีหลังเกิดวิกฤตทางเมืองทำให้ผู้คนเก็บออม งดการจับจ่าย ทำให้เงินในระบบไม่สะพัดและเติบโตเท่าที่ควร
 
 
คาดปี 57 แค่ฟื้นไข้ เอสเอ็มอีโตบอนไซ
 
ผอ.สสว. กล่าวด้วยว่า จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจของ SMEs ในปัจจุบัน ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยมีสัญญาณจากตัวเลข ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2556 เกิดการขยายตัวของยอดการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์นั่ง พาหนะเพื่อการพาณิชย์ ซีเมนต์ผสม ฯลฯ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงในช่วงปลายปี
 
สำหรับแนวโน้มปี 2557 คาดการขยายตัวของเอสเอ็มอี SMEs (GDP SMEs) สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศ โดยคาดมีอัตราขยายที่ 4.3-4.7% เป็นผลมาจากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ขยายตัวดีขึ้นเกือบทุกด้าน ทั้งการบริโภคภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มคงที่ในระดับต่ำซึ่งสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภค การใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นตามงบประมาณปี 2557 ที่เพิ่มขึ้น 5% ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ผลจากการเติบโตของการลงทุนของรัฐบาล ที่จะเพิ่มขึ้นในอัตรา 9.9% จากโครงการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
 
 
 
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
 
นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการปรับลด QE ของสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าขยายตัว โดยเฉพาะด้านบริการที่สำคัญคือการท่องเที่ยวของประเทศ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวม มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 7.2%
 
ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดอัตราเติบโตใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 4.5% ภาคการส่งออกไทยจะเติบโตถึง 7% ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ส่งผลภาคธุรกิจส่งของไทยเติบโตขึ้น แต่อาจไม่เทียบเท่าปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดในประเทศ จะฟื้นตัวขึ้น หากการสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายโดยเร็ว มีการจัดตั้งเลือกตั้งได้รัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยคาดว่าจะทำให้ภาพรวมการลงทุนจากต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น
 
สอดคล้องกับข้อมูลโดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยว่า แนวโน้มการเติบโตของเอสเอ็มอี ยังคงเป็นไปในทิศทางคล้อยตามเศรษฐกิจรวมของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะจะเติบโตเล็กน้อยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจรวมชะลอตัว โดยมีอัตรา GDP SMEs เติบโตอย่างมากที่สุดประมาณ 4-4.5%
 
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า อีกปัจจัยสำคัญที่จะหนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คือ การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล และกระแส 3จี เพราะจะมีเงินในการประมูล และการลงทุนกว่า 1-2 หมื่นล้านบาทเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจเทคโนโลยีและสื่อสาร ตลอดธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินดังกล่าว
 
 
ชี้ปัจจัยเสี่ยง ศก.โตซึม ยอดขายหด หั่นสายป่วนสั้นจู๋
 
เมื่อถามไปถึงปัจจัยเสี่ยงในปีหน้านั้น ดร.ปฏิมา ระบุไปที่ปัจจัยภายนอก ซึ่งเศรษฐกิจโลกเพิ่งจะฟื้นตัว ทำให้การเติบโตยังเป็นไปลักษณะชะลอตัว อีกทั้ง ยังมีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังคงเติบโตด้วยดี แต่อาจมีผลทางอ้อม กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และความจับจ่ายของผู้บริโภค
 
 
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองปัจจัยเสี่ยง ไปที่ทิศทางต้นทุนการผลิต ได้แก่ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) ภาคครัวเรือน ค่าไฟฟ้า และค่าขนส่ง ที่ราคาจะขยับขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 เป็นต้นไป อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อย รวมถึง อัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ควรต้องระวัง นอกจากนั้น การจับจ่ายของผู้บริโภคยังชะลอเช่นเดิม จากภาระหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพสูง
 
อีกปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับตานั้น ดร.เกียรติอนันต์ ชี้ไปเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินของเอสเอ็มอีจะสั้นลง จากเดิมเอสเอ็มอีจะมีเงินสำรองไว้เป็นทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องประมาณ 30-45 วัน แต่ปี 2557 จะลดเหลือ 15-30 วัน สาเหตุเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีขายสินค้าได้ยากขึ้น และกำไรลดลง เมื่อประกอบกับเอสเอ็มอีมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย จากทั้งนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงาน และนโยบายด้านพลังงานที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เหล่านี้ประกอบกันทำให้สายป่านของเอสเอ็มอีจะสั้นลด
 
ขณะที่นางสาวเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (ATSME) ที่มีสมาชิกเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโอทอปกว่า 8,000 รายทั่วประเทศ กล่าวว่า ในมุมผู้ประกอบการกังวลปัญหาการเมืองที่ยังหาข้อสรุปลงตัวไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนพื้นฐานต่างๆ สะดุดลงไป รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก ยังเป็นปัญหาซ้ำซากของเอสเอ็มอีไทย

อ้างอิงจาก  ผู้จัดการออนไลน์
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น เป..
4,981
ชีสซี่ฟราย สแน็ค เปิดต..
4,011
เริ่มแล้ว! งานแฟรนไชส์..
2,894
แรงจริง! #แฟรนไชส์ ก๋ว..
1,617
พบบูธ “ก๋วยเตี๋ยวเรือป..
985
ธงไชยผัดไทย ร่วมกับ 7-..
976
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด