6.8K
7 มกราคม 2557
เชนกาแฟ7.2พันล.เดือด แบรด์ไทย/เทศแห่ผุดสาขาครอบเมือง

 
 
จับตาธุรกิจร้านกาแฟ 7.2 พันล้านฟัดกันเดือด  แบรนด์ยักษ์แห่ทุ่มงบผุดสาขาครอบทั่วประเทศ  ขณะที่ระดับกลางเร่งปรับภาพลักษณ์ยกระดับจับคนรุ่นใหม่  "ทรูคอฟฟี่"  มั่นใจ 5 ปี ขยายสาขาทะลุ 400 แห่ง  พร้อมส่งโมเดลทรู โก ประกบร้านทรู ช้อป ด้าน "อโรม่า"  เร่งรีแบรนด์ชาวดอย อัพเกรดสู่พรีเมียม ขณะที่ "อัลดีส์ คอฟฟี่ไลท์"  ชี้ยังไม่ถึงเวลาของกาแฟเพื่อสุขภาพ

จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าในปี 2556  ธุรกิจร้านกาแฟที่เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 7.23 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 11% จากปี 2555  ซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 6.49 พันล้านบาท โดยพบว่าในปีนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่

 

อาทิ สตาร์บัคส์  มีการพัฒนาร้านในรูปแบบสแตนด์อะโลน พร้อมให้บริการในแบบไดรฟ์ ทรู  เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น  ขณะที่ร้านกาแฟดังอย่างอเมซอน  ก็พัฒนารูปแบบร้านจากเดิมที่เปิดให้บริการในสถานีบริการน้ำมัน ก็หันไปเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า ภายใต้ชื่อ "The Amazon’s Embrace" รวมทั้งยังมีเชนร้านกาแฟดังจากอังกฤษอย่าง "คอสต้า คอฟฟี่"  ที่เข้ามาเปิดให้บริการในเมืองไทย ส่งผลให้บรรยากาศการแข่งขันในธุรกิจร้านกาแฟกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง

 
 
โดยนางสาววิชชุดา สุขีวัฒนมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด ผู้บริหาร ร้านกาแฟทรู คอฟฟี่ เปิดเผยว่า  ตลาดร้านกาแฟมีการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการขยายสาขาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และการเข้ามาของผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งเป็นเชนร้านกาแฟชื่อดัง  ทำให้ในปีหน้าบริษัทต้องเตรียมแผนรุกธุรกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 100 สาขา

ทั้งในรูปแบบที่บริษัทลงทุนเอง และการขายแฟรนไชส์  ถือเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จากปีนี้ที่ขยายสาขาราว 30 สาขา และจะเดินขยายสาขาให้ได้ 300-400 สาขาภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศ จากปัจจุบันทรู คอฟฟี่ มีสาขารวม 100 สาขา แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 90% และสาขาในหัวเมืองใหญ่ อาทิ ภูเก็ต  หัวหิน ฯลฯ 10%  โดยเป็นการลงทุนของบริษัทเองกว่า 70 สาขา และของแฟรนไชส์ 30 สาขา 
 
"การขยายสาขาจะเน้นในทำเลใหม่ๆ  ที่ทรู คอฟฟี่ยังเข้าไม่ถึง เช่น  ย่านฝั่งธนบุรี และรังสิต ฯลฯ   รวมทั้งจะพัฒนาโมเดลใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับทำเลและกลุ่มลูกค้า  จากปัจจุบันที่ทรู คอฟฟี่ มีร้านขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ 200-300 ตร.ม.  และร้านขนาดเล็กมีพื้นที่ 20-30 ตร.ม.  นอกจากนี้ยังมีร้านในรูปแบบทรู โก  ซึ่งจะตั้งอยู่กับร้านทรู ช้อป  เพื่อให้บริการลูกค้าที่มาใช้บริการของร้านทรู ด้วย โดยปัจจุบันมีอยู่ราว 20 สาขา และจะขยายเพิ่มเป็น 300 สาขาในอนาคต" นางสาววิชชุดา กล่าวและว่า

 
 
แนวโน้มการแข่งขันของร้านกาแฟในปีหน้า เชื่อว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งในด้านการคิดค้นเมนูที่เป็นสูตรเฉพาะหรือเมนูซิกเนเจอร์ รวมถึงการบริการและคุณภาพของสินค้า
 
ด้านนายกิจจา  วงศ์วารี กรรมการบริหาร  อโรม่า กรุ๊ป  ผู้บริหาร ร้านกาแฟไนน์ตี้โฟร์ คอฟฟี่ และชาวดอย กล่าวว่า บริษัทรีแบรนด์ร้านกาแฟสดชาวดอยเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ให้เป็นร้านกาแฟพรีเมียม   เพื่อรองรับตลาดร้านกาแฟระดับกลางที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับร้านกาแฟระดับล่างที่พบว่ามีการเติบโตลดลง  ซึ่งจะเห็นได้ว่าแบรนด์ร้านกาแฟระดับกลาง  อาทิ อเมซอน , อินทนิน , คอฟฟี่ ทูเดย์ ฯลฯ มีการขยายสาขามากขึ้น  และมีกลุ่มลูกค้าเลือกใช้บริการมากขึ้นด้วย
 
อย่างไรก็ดีในปีหน้า บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านกาแฟชาวดอยเพิ่มขึ้นอีก 50 สาขา จากเดิมที่มีอยู่  200 สาขา โดยเน้นขยายสาขาในพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า BTS และสถานีบริการก๊าซ LPG ในต่างจังหวัด โดยปัจจุบันกาแฟสดชาวดอยที่ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS มีด้วยกันทั้งสิ้น 7 สาขา  อาทิ สถานีหมอชิต, ทองหล่อ, ช่องนนทรี, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น ในขณะที่ร้านกาแฟสดไนน์ตี้โฟร์ คอฟฟี่ จะมีการขยายเพิ่มอีก 5 สาขา จากที่มีอยู่ 28 สาขา
 
 
 
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ 1.25 พันล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากการจำหน่ายวัตถุดิบ 70% รายได้จากการนำเข้าและจำหน่ายเครื่องชงกาแฟ 20% และ 10%  เป็นรายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์และการบริการ
 
ขณะที่นายฤทธิ์ คิ้วคชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คชา บราเธอร์ส จำกัด ผู้ทำตลาดไอศกรีมและของหวานสไตล์ญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ อัลดีส์ คอฟฟี่ไลท์  กล่าวว่า อัลดีส์ถือเป็นแบรนด์กาแฟเพื่อสุขภาพ โดยไม่ใช้น้ำตาล แต่ใช้สารเพิ่มความหวานทดแทน เพื่อมาเสิร์ฟในร้านขนมในเครือของบริษัท ซึ่งยังไม่มีแผนการเปิดเฉพาะแบรนด์แต่อย่างใด เนื่องจากความนิยมของผู้บริโภคเมืองไทยในตลาดกาแฟเพื่อสุขภาพยังน้อยอยู่ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาตลาดเสียก่อน
 
"ปัจจุบันตลาดกาแฟเพื่อสุขภาพในบ้านเรายังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เราจึงไม่มีแผนขยายสาขาของอัลดีส์ คอฟฟี่ไลท์ ในรูปแบบสแตนด์อะโลนในเร็วๆ นี้ ดังนั้นรูปแบบของเราส่วนใหญ่จึงเป็นการคิดค้นและพัฒนาสูตรขึ้นมาเพื่อเสิร์ฟในร้านขนมและไอศกรีมในเครือเท่านั้น โดยเราจะมุ่งเน้นการนำส่วนผสมที่เป็นวัตถุดิบคุณภาพเข้าเป็นส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟที่นำเข้าจากอิตาลี เป็นต้น ซึ่งจะเน้นรสชาติที่เข้มข้น"

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,159
PLAY Q by CST bright u..
1,319
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
943
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
793
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด