2.8K
26 ธันวาคม 2556
ปี' 57 คาดแฟรนไชส์ธุรกิจร.ร.กวดวิชาและสถาบันสอนภาษาต่างชาติโตต่อเนื่อง


 
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะเติบโตต่อเนื่อง...คาดปี' 57 แฟรนไชส์กวดวิชาและสอนภาษายังคงมาแรง"
 
ประเด็นสำคัญ
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ค่านิยมของผู้คนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองและค่านิยมของผู้ปกครองในการปลูกฝังทักษะต่างๆสำหรับบุตรหลานเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มูลค่าตลาดธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 16,698 ล้านบาท ในปี 2556 ไปสู่ประมาณ 19,275 ในปี 2557 หรือเติบโตร้อยละ 15.43
     
  • จำนวนผู้ลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่มากขึ้น และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นของเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์เป็นปัจจัยผลักดันให้แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะขยายตัวรวดเร็ว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ในปี 2557 มูลค่าตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะจะมีมูลค่า 2,837 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 20.00 จากปี 2556 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2,364 ล้านบาท
     
  • แฟรนไชส์ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาและสถาบันสอนภาษาต่างชาติ เป็นธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน เนื่องจาก ยังมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่องจากการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของนักเรียน และการเปิด AEC
ในยุคที่ประเทศต่างๆกำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้สังคมแห่งฐานความรู้ (Knowledge-based Society) และมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ส่งผลให้บริการด้านการศึกษาเป็นธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเราจะเห็นได้ว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะประกอบธุรกิจในพื้นที่ต่างๆอย่างหลากหลาย ครอบคลุมถึง สถาบันกวดวิชา สถาบันสอนภาษาต่างชาติ และการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เช่น การฝึกสมอง งานศิลปะ ดนตรี คอมพิวเตอร์ กีฬา เป็นต้น รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะยังมีรูปแบบการประกอบธุรกิจทั้งการลงทุนเอง และการซื้อขายแฟรนไชส์

ตลาดธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    
ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากค่านิยมของผู้คนในสังคมที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองและค่านิยมของผู้ปกครองในการปลูกฝังทักษะต่างๆสำหรับบุตรหลานตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเองหรือบุตรหลานให้มีความโดดเด่นภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งในสังคมการทำงานและการเรียน ซึ่งผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่โดดเด่นหรือหลากหลายกว่าย่อมเป็นผู้ได้เปรียบ
    
ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะให้บริการเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนไทยที่มีความต้องการแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น วัยทำงานที่ส่วนใหญ่มีความต้องการพัฒนาทักษะภาษาต่างชาติและบุคลิกภาพเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงาน วัยรุ่นที่ส่วนใหญ่ต้องการเรียนกวดวิชาเพื่อใช้สอบแข่งขันศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่วัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเบื้องต้นเพื่อค้นหาความสนใจและความถนัดของบุตรหลาน จึงเลือกที่จะให้บุตรหลานเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกสมอง งานศิลปะ ดนตรี รวมถึงกีฬา เป็นต้น


 
ค่านิยมของผู้คนในสังคมที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองและค่านิยมของผู้ปกครองในการปลูกฝังทักษะต่างๆสำหรับบุตรหลานดังกล่าว ได้นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะ และส่งผลให้มูลค่าตลาดของธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ในปี 2556 ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 16,698 ล้านบาท และจะเติบโตร้อยละ 15.43 ไปสู่มูลค่าตลาดประมาณ 19,275 ในปี 2557

โดยส่วนใหญ่เป็นมูลค่าของธุรกิจประเภทสถาบันกวดวิชาและสถาบันสอนภาษาต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 87 ของมูลค่าตลาดธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะโดยรวม ในขณะที่อีกประมาณร้อยละ 13 นั้น เป็นมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมถึงสถาบันจินตคณิต สถาบันพัฒนาศักยภาพเด็ก สถาบันสอนดนตรี คอมพิวเตอร์ และศิลปะ
    
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ในปี 2557 ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในกลุ่มที่ไม่ใช่แฟรนไชส์ จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 16,438 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 14.68 จากปี 2556 ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 14,334 ล้านบาท ในขณะที่ ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในกลุ่มที่เป็นแฟรนไชส์ จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 2,837 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 20.00 จากปี 2556 ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 2,364 ล้านบาท

จำนวนผู้ลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่มากขึ้น และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นของเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ ผลักดันให้มูลค่าตลาดแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะขยายตัว
    
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าจำนวนเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะหรือ Franchisor ในแต่ละปีไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่จำนวนผู้ลงทุนในแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะหรือ Franchisee ที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นของเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มูลค่าตลาดธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในกลุ่มที่เป็นแฟรนไชส์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังรายละเอียดต่อไปนี้
  • จำนวนผู้ลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะเพิ่มมากขึ้น : แต่เดิมนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะมักเลือกประกอบธุรกิจเฉพาะในกรุงเทพฯและจังหวัดหลักของภูมิภาคต่างๆ อย่างไรก็ตาม จากการแข่งขันทางธุรกิจในกรุงเทพฯและจังหวัดหลักที่เริ่มทวีความรุนแรง ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวของความเป็นเมือง การเล็งเห็นถึงขนาดตลาดของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่จะใช้บริการธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะ รวมถึงการเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดรองของภูมิภาคต่างๆที่จะนำมาซึ่งกำลังซื้อของคนในพื้นที่

    เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการมองเห็นช่องว่างในตลาดสำหรับการลงทุนแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในจังหวัดรองของภูมิภาคต่างๆมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของจำนวนสาขาแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่มีการกระจายตัวไปในจังหวัดรองของภูมิภาคต่างๆ และนำมาซึ่งมูลค่าตลาดแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่สูงขึ้น
     
  • การจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นของเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะ : จากการที่เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษามีต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูง ทั้งในด้านการลงทุนเกี่ยวกับระบบ อุปกรณ์การเรียนการสอน เทคโนโลยี บุคลากร รวมถึงการทำการตลาด ส่งผลให้เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาจำเป็นต้องกำหนดค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนผลการดำเนินงาน (Royalty Fee) ในระดับสูงตามไปด้วย การจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นของเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะมีมูลค่าสูงขึ้น
    
 
เมื่อพิจารณาในมุมของผู้ลงทุน ก็พบว่า ผู้ลงทุนยังคงเลือกลงทุนกับเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงอยู่ เนื่องจากผู้ลงทุนย่อมต้องการเลือกลงทุนในแฟรนไชส์ที่มีความน่าเชื่อถือลำดับต้นๆสำหรับผู้เรียน โดยพบว่าการมีองค์ความรู้ในการสอนและบริหารจัดการ ประสบการณ์ด้านการประกอบธุรกิจ รวมถึงความแข็งแกร่งด้านชื่อเสียงของแบรนด์ ล้วนเป็นจุดแข็งที่ส่งผลให้เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่มีชื่อเสียง สามารถกำหนดค่าธรรมเนียม ทั้งในส่วนของค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนผลการดำเนินงานในระดับที่สูงขึ้นได้

ปี' 57 คาด แฟรนไชส์ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาและสถาบันสอนภาษาต่างชาติ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
    
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ข้างหน้านี้ ประกอบไปด้วยธุรกิจในสองกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา และธุรกิจสถาบันสอนภาษาต่างชาติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
  • แฟรนไชส์ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา : จากฐานนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเรียนกวดวิชาที่มีอยู่จำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่านิยมในการเรียนกวดวิชาเสริมสร้างความรู้และความมั่นใจเพื่อใช้ในการสอบวัดผลการเรียนในโรงเรียนและสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงภาพลักษณ์ของการสรุปเนื้อหาอย่างตรงประเด็น สอนเทคนิคการทำข้อสอบ ใช้เวลาเรียนไม่มาก

    โดยใช้เทคนิคการสอนที่เพลิดเพลิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แฟรนไชส์ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาล้วนแล้วแต่มีการปรับตัวทั้งในรูปแบบการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ขยายสาขาไปต่างจังหวัด ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบ  Admissions รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำ Application เกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านทางสมาร์ทโฟน การเรียนส่วนตัวแบบออนไลน์ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง รวมถึงการใช้แท็บเล็ทประกอบการเรียนการสอน เป็นต้น
     
  • แฟรนไชส์ธุรกิจสถาบันสอนภาษาต่างชาติ : การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้แรงงานวิชาชีพที่เป็นคนไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะภาษาต่างชาติเพื่อใช้ในการทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงผู้ประกอบการและพนักงานบริษัททั่วไปก็มีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะภาษาต่างชาติเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนในอาเซียนที่จะขยายตัวด้วยเช่นกัน

    นอกจากนี้ ความนิยมของนักเรียนและนักศึกษาในการเลือกศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็นำมาซึ่งความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษของนักเรียนและนักศึกษา จึงกล่าวได้ว่า คนไทยยังมีความต้องการบริการพัฒนาศักยภาพในด้านภาษาต่างประเทศอยู่อีกมาก
ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการลงทุนแฟรนไชส์ธุรกิจสถาบันสอนภาษาต่างชาติ เพื่อรองรับความต้องการพัฒนาศักยภาพในด้านภาษาต่างประเทศดังกล่าว โดยเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจสถาบันสอนภาษาต่างชาติ ล้วนแล้วแต่มีการปรับตัวทั้งในรูปแบบมุ่งเน้นคุณภาพในการเรียนโดยผู้สอนชาวต่างชาติเจ้าของภาษา ความหลากหลายของหลักสูตร การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียน บริการแนะแนวการศึกษา การจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจผู้เรียน เช่น การผ่อนชำระค่าเรียนได้ การให้ส่วนลดเมื่อแนะนำให้ผู้อื่นมาเรียน เป็นต้น
 
    
 
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ทิศทางของธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในปี 2557 ยังคงมีความสดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ยังมีโอกาสขยายธุรกิจไปในพื้นที่จังหวัดรองของภูมิภาคต่างๆ

ถึงแม้ว่าเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนอยู่ เนื่องจากผู้ลงทุนจะพิจารณาเลือกลงทุนจากคุณภาพและชื่อเสียงของแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะเป็นสำคัญ

โดยแฟรนไชส์ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา และแฟรนไชส์ธุรกิจสถาบันสอนภาษาต่างชาติยังคงเป็นธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน เนื่องจากยังมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของนักเรียน และการเปิด AEC ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะทั้งสองกลุ่มดังกล่าวได้มีการปรับกลยุทธ์

ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งเน้นคุณภาพของผู้สอน การปรับหลักสูตร การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น และตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
5,438
PLAY Q by CST bright u..
1,062
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
940
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
931
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
780
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
754
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด