5.2K
29 กันยายน 2556
กวดวิชารายใหญ่เปิดคลาสS.E.L.F รายย่อยเร่งขยายสาขาจับทำเลทองแนวรถไฟฟ้า




 
โรงเรียนกวดวิชารายใหญ่มึน เศรษฐกิจซบพ่นพิษ เร่งปรับตัวรับกำลังซื้อหด เปิดคลาส S.E.L.F ดิ้นหนีรายย่อย ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กขยับตัว แห่ขยายสาขา-เปิดแฟรนไชส์ จับทำเลทองแนวรถไฟฟ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุโรงเรียนกวดวิชายังโตต่อเนื่อง คาดสิ้นปีมูลค่าตลาดแตะ 7.1 พันล้าน และอีก 2 ปีพุ่งถึง 8 พันล้านบาท
 
นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา เปิดเผยว่า ตอนนี้ภาพรวมของสถาบันกวดวิชารายใหญ่ค่อนข้างนิ่งและไม่ค่อยขยายตัว เนื่องจากจำนวนของผู้เรียนลดลงตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุไว้ว่าประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกัน จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซา ทำให้ผู้ปกครองลดค่าใช้จ่าย และให้ลูกเรียนในวิชาที่จำเป็นเท่านั้น
 
"ตลาดหดตัว คู่แข่งในตลาดมีมากขึ้น โดยเฉพาะรายย่อยหรือคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเด็กหรือคนในชุมชนมากกว่าหันมาเปิดสอนโรงเรียนกวดวิชามากกว่าเดิม จึงทำให้สถาบันกวดวิชารายใหญ่เลือกที่จะไม่ขยายสาขาไปต่างจังหวัด เพราะเปิดครอบคลุมในจังหวัดหัวเมืองอยู่แล้ว อีกทั้งสาขาต่างจังหวัดมีมูลค่าตลาดไม่สูงมากนัก และใช้ระยะเวลานาน 8-10 ปีจึงจะคุ้มทุน แต่ถ้าหากจะไปต่างจังหวัดจริง ๆ รายใหญ่อาจทำในลักษณะ One Stop Service รวมสถาบันกวดวิชาหลายแบรนด์ไว้ในที่เดียวกัน โดยผมมองว่าผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดนี้ แค่พออยู่ได้เท่านั้น เพราะเค้กของตลาดเท่าเดิม สวนทางกับสถาบันกวดวิชาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น"
 
นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า เทรนด์การเรียนกวดวิชาของเด็กจะเปลี่ยนแปลง เพราะเด็กมีภาระจากการเรียนมากขึ้น หรือโรงเรียนมีการสอนเสริมในวันหยุด ทำให้ไม่สามารถเรียนกวดวิชาได้อย่างเต็มที่เหมือนเมื่อก่อน ส่งผลให้สถาบันกวดวิชาหลายแบรนด์ต้องเปลี่ยนการเรียนเป็นระบบ S.E.L.F หรือการเรียนด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการและสไตล์การเรียนของนักเรียน โดยคาดว่า 50% ของสถาบันกวดวิชาจะหันมาทำระบบดังกล่าวภายใน 2 ปีนี้
 
 
 
นางประภาวัลย์ ชวนไชยะกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนกวดวิชาบ้านวิชากร กล่าวว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นการสอนสด กลุ่มละไม่เกิน 6 คน ซึ่งสอนรูปแบบภาษาไทย, 2 ภาษา และอินเตอร์ ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยก่อนการเรียนจะวิเคราะห์นักเรียนก่อนเพื่อทราบถึงพฤติกรรมการเรียน หลังจากนั้นจะจัดหาครูให้เหมาะสมกับนักเรียน/คน/กลุ่มนั้น ๆ และเนื่องจากเป็นการเรียนกลุ่มเล็ก จึงสามารถจัดการสอนได้ยืดหยุ่นตามความต้องการของนักเรียน ทั้งด้านเนื้อหาหรือกลุ่มผู้เรียน กล่าวได้ว่า เป็นการเติมในส่วนที่นักเรียนขาดและต้องการจะเรียนเสริม ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของโรงเรียน
 
"เด็กมาเรียนกับเราประมาณ 1,000 คนต่อปี ตั้งเป้าไว้ว่าปีหน้าจะต้องมีผู้เรียนเพิ่มขึ้นอีก 30% นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมตามแนวรถไฟฟ้า BTS และ MRT โดยจะมีทั้งการไปเปิดเอง และในลักษณะของแฟรนไชส์ ซึ่งเราจะเข้าไปช่วยดูแลโรงเรียนที่เปิดใหม่ด้วยเพื่อควบคุมคุณภาพ ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดใน กทม.ไม่เกิน 10 แห่ง และเปิดในต่างจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและหาทำเล" 
 
นายนาวิน แซ่โค้ว เจ้าของสถาบันเตรียมโดม สถาบันติวสอบให้กับนักเรียนที่ต้องการสอบตรงเข้าสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และสาขารัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์ และคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันของตนมีการเรียนการสอนแตกต่างจากสถาบันอื่น เพราะเนื้อหาของการสอบตรงจะลึกและมีความเฉพาะกว่าการสอบทั่วไป

โดยเปิดทำการสอนมา 6 ปีแล้ว เดิมเป็นการสอนตามโต๊ะที่มหาวิทยาลัย และขยับขยายมาสู่การเช่าตึกสอน ปัจจุบันสามารถรองรับนักเรียนได้กลุ่มละประมาณ 20 คน สูงสุด 100 คน 
 
"จุดแข็งของสถาบันคือ เรามีเนื้อหาการสอนที่เป็นระบบ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักเรียนเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่จะบอกว่าเรามีความเป็นกันเอง และมีเทคนิคการสอนและเทคนิคการจำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กสามารถนำไปวิเคราะห์และต่อยอดในการสอบได้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้การกวดวิชาเป็นกลุ่มเพิ่มขึ้นเยอะ มีหลายแบรนด์เข้าไปเปิดสอนในห้างสรรพสินค้า

โดยเด็กที่ต้องการสอบโครงการรับตรงจะให้ความสนใจกับการติวอย่างมาก เนื่องจากมีจำนวนการรับจำกัด กระนั้น คิดว่าเด็กยังคงให้ความนิยมกับการติวกับแบรนด์ดังด้วยเช่นกัน เพราะต้องสอบแอดมิสชั่น ทั้งนี้ ทางสถาบันมีแผนจะรับนักเรียนเพิ่มด้วยการเปิดรอบการสอนมากขึ้น รวมถึงอาจขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด และจะเปิดสอนเป็นรายวิชาด้วย"
 
 
 
อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชา ทั้งในส่วนของการเรียนกวดวิชาในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่มในปี 2556 ไว้ที่ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท และจะเติบโตไปสู่ 7,670 ล้านบาทในปี 2557 และ 8,189 ล้านบาทในปี 2558 หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี 
 
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการพบว่า จำนวนของโรงเรียนกวดวิชามีมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้เรียนกวดวิชากลับลดลง โดยโรงเรียนกวดวิชาระหว่างปี 2553-2555 อยู่ที่ 1,744 แห่ง, 1,924 แห่ง และ 2,005 แห่งตามลำดับ ขณะที่จำนวนผู้เรียนกวดวิชาในปี 2553 มี 5.71 แสนคน และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.72 แสนคนในปี 2554 ก่อนที่ผู้เรียนได้ลดจำนวนลงเป็น 4.53 แสนคนในปี 2555

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,313
PLAY Q by CST bright u..
1,343
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
953
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
950
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
800
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด