4.3K
23 มิถุนายน 2557
เสี่ยเจริญ ทุ่มปั้นแบรนด์ 'บีส์ มาร์ท'


 
เสี่ยเจริญ ต่อจิ๊กซอว์แผนลงทุนเวียดนาม ปั้นคอนวีเนียน สโตร์น้องใหม่ "บีส์ มาร์ท"  เสียบแทนแฟมิลี่ มาร์ท พร้อมเดินหน้าเปิด 300 สาขาใน 3 ปี มั่นใจสร้างอาณาจักรครบวงจร ทั้งต้นน้ำ - กลางน้ำ - ปลายน้ำ วงในชี้ตลาดค้าปลีกไทยแข่งดุ โตน้อย  ขณะที่ค้าปลีกเวียดนามโตเกือบ 20% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาส่งสัญญาณดี แม้ทุนต่างชาติตบเท้าลงทุนเพียบ
 
แหล่งข่าวระดับสูงในวงการค้าปลีก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือบีเจซี หนึ่งในบริษัทของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ขยายการลงทุนในประเทศเวียดนามต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าถือหุ้นของบริษัท ภูไท กรุ๊ป จอยส์ สต็อก  คัมปะนีฯ หรือภูไท กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนกับบริษัท แฟมิลี่ มาร์ทฯ ญี่ปุ่นในการจัดตั้งบริษัท วี นา แฟมิลี่ มาร์ท จำกัด ผู้รับสิทธิ์บริหารร้านแฟมิลี่ มาร์ทในประเทศเวียดนาม ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน โดยภูไท กรุ๊ป ถือหุ้นในสัดส่วน 51% แฟมิลี่ มาร์ท 44%  และ บริษัท Itochu ประเทศญี่ปุ่น 5%  ทำให้บีเจซี ได้สิทธิ์ในการบริหารเชนร้านสะดวกซื้อของภูไท กรุ๊ป ซึ่งมีอยู่ราว 42 สาขาในเวียดนามทันที
   
โดยบีเจซี มีแผนจะเปลี่ยนชื่อร้านแฟมิลี่ มาร์ททั้งหมดเป็น "บีส์ มาร์ท" (B's mart) พร้อมเดินหน้าปรับปรุงร้านให้มีความทันสมัย และเพิ่มไลน์สินค้าให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นตามแผนเดิมที่ตั้งเป้าจะเปิด 300 สาขาภายในปี 2558  โดยส่วนหนึ่งของโมเดลร้านคอนวีเนียน สโตร์แห่งใหม่นี้ จะเป็นโมเดลเดียวกับที่บีเจซี ได้พัฒนาขึ้นในเมืองไทยเมื่อปลายปี 2555 พร้อมทดลองเปิดให้บริการ โดยรูปแบบดังกล่าวอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์  "มัลติ ฟอร์แมท-มัลติ บิสิเนส-มัลติ คันทรี"  ซึ่งเป็นการผสมผสานการให้บริการค้าปลีกในรูปแบบที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการขายผ่านหน้าร้านและออนไลน์
 
   
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า  การรุกขยายธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอนวีเนียน สโตร์ครั้งนี้ ถือว่าบีเจซี มีความพร้อมในทุกด้าน และส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในเวียดนามสมบูรณ์แบบ ทั้งธุรกิจต้นน้ำ ได้แก่ โรงงานผลิตขวดแก้วที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ภายใต้ชื่อบริษัท โอ-ไอ บีเจซี เวียดนาม กล๊าส ลิมิเต็ด จำกัด, โรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียม ภายใต้ชื่อบริษัท ทีบีซี-บอล เบฟเวอเรจ แคน เวียดนาม ลิมิเต็ด หรือ "ทีบีซี-บอล", โรงงานผลิตกระดาษทิชชู เป็นต้น  ส่วนธุรกิจกลางน้ำ มีบริษัท ไทยคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล (เวียดนาม)  ผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้ารายใหญ่ในเวียดนาม และบริษัท ไทอัน เวียดนาม จอยส์สต็อก คัมปะนีฯ  ผู้จัดจำหน่ายนำเข้า ส่งออก ค้าปลีก ค้าส่ง สินค้าอุปโภคบริโภคครอบคลุม 63 จังหวัดในเวียดนามเหนือ  และมีพาร์ตเนอร์เป็นผู้ค้าส่งกว่า 2.5 พันราย และผู้ค้าปลีกอีกหลายหมื่นรายทั่วประเทศ 
   
ขณะที่ "ค้าปลีก" ถือเป็นธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้บีเจซี มีแผนร่วมกับไทย คอร์ป ลงทุนก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในเวียดนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ และล่าสุดการเปิดบีส์ มาร์ท ในรูปแบบคอนวีเนียน สโตร์ ซึ่งถือเป็นช่องทางกระจายสินค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด
   
บีเจซี ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บีเจซี ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทภู ไท กรุ๊ป จอยส์ สต็อก คัมปะนีฯ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 64.55%  มูลค่ากว่า 1.93 แสนล้านด่อง หรือประมาณ 276.46 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 พันด่อง = 1.431 บาท) ในการซื้อคืนกิจการร้านสะดวกซื้อในเวียดนามจากผู้ลงทุนเดิม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเบื้องต้นในการขยายกิจการ
 
   
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากวิเคราะห์การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทยจะพบว่า เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ให้ความสนใจที่จะขยายธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทยมานานแล้ว เห็นได้จากการเสนอตัวเข้าซื้อกิจการของคาร์ฟูร์เมื่อหลายปีก่อน รวมทั้งร้านแฟมิลี่ มาร์ทในเมืองไทยด้วย  ซึ่งเมื่อพลาดทั้ง 2 แบรนด์เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จึงหันไปพัฒนาแบรนด์ของตนเองขึ้น ภายใต้ชื่อ BJC's Mart  แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเมืองไทยมีการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะค้าปลีกประเภทคอนวีเนียน สโตร์  ที่ต้องอาศัยโนว์ฮาว และมีการบริหารจัดการที่ดี
   
ขณะที่เมื่อเทียบกับธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม จะพบว่า แม้เวียดนามจะมีผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งจากต่างชาติและผู้ประกอบการท้องถิ่นจำนวนมาก แต่จะพบว่า ธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 19.5% หรือมีมูลค่าตลาดกว่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยเฉพาะในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 ค้าปลีกเวียดนามมีมูลค่าตลาด 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการขยายตัว 13.3% ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไทยที่ครึ่งปีเติบโต 5-10% เท่านั้น ขณะที่ในอีก 3 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ว่าการขยายตัวของภาคค้าปลีกของเวียดนาม จะเติบโต 8.5% ต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงและส่งสัญญาณให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
   
โดยนายดิง เถ เหี่ยน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและวิจัยทางเศรษฐกิจของเวียดนาม กล่าวว่า แม้บริษัทผู้ค้าปลีกรายใหญ่จากต่างประเทศ  อาทิ Metro , Big C , Lotte  , Coop Mart และ Maximart จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดค้าปลีกของเวียดนาม แต่บริษัทผู้ค้าปลีกของเวียดนามอย่าง Masan , Vissan Vinamilk และ Trung   Nguyen มีการพัฒนาระบบการกระจายสินค้าและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดผ่านการขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าของผู้ค้าปลีกจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน
 
   
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและวิจัยทางเศรษฐกิจของเวียดนาม พบว่า ปัจจุบันผู้ค้าปลีกชาวต่างชาติในเวียดนามมีทั้งสิ้น 21 ราย โดยในปี 2555 เวียดนามมีศูนย์การค้า 130 แห่ง ห้างสรรพสินค้า 700 แห่ง และในปี 2563 คาดว่าจะมีศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นเป็น 180 แห่ง และห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันแห่ง

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,464
PLAY Q by CST bright u..
1,350
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
954
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
953
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
802
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
774
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด