พิษ 300 บาท SME ปิดรายวัน
300 บาทพ่นพิษทั่วไทย แรงงานรับเละทั้งขึ้นทั้งล่อง ตกงาน-ค่าไฟแพง ลอยแพแล้วกว่า 1,300 คน โคราชปลดแล้วเกือบพัน เอสเอ็มอีสุดทนแบกไม่ไหวปิดตัวระนาว จับตาแรงงานต่างด้าวทะลักเท่าตัว อีสานแห่ฝึกทักษะอาชีพหลังโรงงานเลิกจ้าง อ้างไร้ฝีมือ อนาถ รัฐบาลปูถีบหัวส่งแรงงานรากหญ้า ออก 5 มาตรการช่วยอะไรไม่ได้ สุดอึ้งมาตรการเยียวยาลดค่าโรงแรม "เผดิมชัย" แถโรงงานเจ๊งไม่เกี่ยวรัฐบาล เอกชนซัดรัฐออกมาตรการต้องตกผลึกความคิด ป้องกันเศรษฐกิจตกสะเก็ด ผลเสียประชาชนทั้งประเทศ
มีความเคลื่อนไหวผลกระทบจากการลอยแพแรงงานอย่างต่อเนื่อง จากการประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาล ที่จังหวัดนครราชสีมา น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลิกจ้างงานภายในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ที่ได้มีการประกาศให้ขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ พบว่าได้มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทรายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการเลิกจ้างงานไปแล้วกว่า 550 คน
ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ได้มีการเลิกจ้างงานหลังที่รัฐบาลได้ประกาศปรับค่าแรง 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่าได้มีการเลิกจ้างงานพนักงานแล้วกว่า 800 ราย แต่มีผู้ที่ได้เริ่มงานใหม่เลยเพียง 59 ราย รวมตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม2555 ถึงปัจจุบัน มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเลิกจ่างแล้วทั้งกว่า 1,300 ราย แต่มีผู้ที่เดินทางมาขึ้นทะเบียนกับจัดหางานจังหวัดนครราชสีมาเพียง 860 ราย
ส่วนสาเหตุที่มีการเลิกจ้างแรงงานและโรงงานที่ได้ปิดกิจการนั้น จากการสอบถามทราบสาเหตุว่า แต่ละโรงงานได้รับผลกระทบในเรื่องของออเดอร์ในการผลผลิตจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการลดปริมาณแรงงานลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่โรงงานที่ได้ปิดกิจการส่วนใหญ่จะเป็นการยุบโรงงานให้เหลือสายการผลิตเพียงแห่งเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ทุกโรงงานที่มีการเลิกจ้างแรงงานก็ได้มีการจ่ายเงินชดเชยตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดไว้
ด้านนายสฤษฎ์พนธ์ วิชิตวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดร้านหมูยอแม่ถ้วน ผู้ผลิตและจำหน่ายหมูยอชื่อดังของ จ.หนองคาย กล่าวว่า หลังประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก แม้จะเตรียมตั้งรับสถานการณ์นับตั้งแต่ทราบนโยบายแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งค่าจ้างที่ต้องปรับขึ้น รวมถึงสวัสดิการและประกันสังคม ที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ
"การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แลกกับการช่วยด้านภาษีของรัฐบาลนั้น รายใหญ่อาจไม่กระทบมากนัก แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดต้องแบกรับภาระทั้งหมด เพราะไม่สามารถนำเรื่องลดหย่อนภาษีมาช่วยลดภาระได้ เช่น ทางร้านหมูยอแม่ถ้วน มีพนักงานประมาณ 40 คน เดิมจ่ายค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดคนละ 267 บาท พร้อมสวัสดิการอาหารเช้าและเย็น ซึ่งจะตัดส่วนนี้ออกไม่ได้ เพราะทุกคนอยู่กันอย่างญาติพี่น้อง
แต่เมื่อปรับค่าแรงขึ้นเฉลี่ย 10-15% ผู้ประกอบการต้องแบกรับเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่สามารถปรับส่วนอื่นมาทดแทนได้ ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น เช่น ราคาหมูเพิ่มตามค่าแรง เพราะการฆ่าหมูแต่ละตัวก็ต้องบวกค่าแรงเชือดเข้าไปด้วย น้ำมันก็ปรับขึ้นอยู่ตลอด" นายสฤษฎ์พนธ์กล่าว
เขาระบุว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำได้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดคือ เร่งทำยอดขายควบคู่กับรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หาตลาดใหม่ และไม่รับพนักงานเพิ่มอีก ส่วนพนักงานเดิมเมื่อได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ต้องยอมที่จะเหนื่อยเพิ่มขึ้น จากเดิมทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ก็อาจจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน ทุกคนจึงจะอยู่รอดได้
"ค่าแรง 300 บาทจะช่วยทำให้แรงงานคืนถิ่นมากขึ้น เพราะที่กรุงเทพฯ กับที่บ้านเกิดก็ได้ค่าแรงเท่ากัน แต่แรงงานเหล่านี้ต้องไม่ลืมว่าคุณภาพงานจะต้องดีเท่ากับราคาที่ผู้ประกอบการจ่าย อีกทั้งภายหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แรงงานต่างด้าวคงทะลักเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หนองคาย มีคนลาวเข้ามาทำงานจำนวนมากอยู่แล้ว แรงงานไทยจึงต้องปรับตัว ไม่เลือกงาน ไม่รักสบายเกินไป เพราะอาจเป็นเหตุผู้ประกอบการหันไปเลือกใช้แรงงานต่างด้าวแทน" นายสฤษฎ์พนธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท มีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัท นางรองแอพพาเรล จำกัด ตั้งอยู่ถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และบริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน จำกัด ตั้งอยู่ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้เลิกจ้างพนักงานแล้วจำนวน 126 คน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตจากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานใน จ.บุรีรัมย์ ได้ลงไปพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงาน ที่บริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน จำกัด ซึ่งมีพนักงานทั้งหมดอยู่ขณะนี้ จำนวน 255 คน พบว่าพนักงานยังคงมีการทำงานกันตามปกติ โดยสอบถามผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัท ต้องการให้ทางภาครัฐมีการช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่เลิกจ้าง และทางโรงงานพร้อมที่จะรับพนักงานเหล่านี้กลับเข้าทำงานตามเดิม
ทั้งนี้ ได้มีการนำประกาศของบริษัทที่ลงนามโดยนายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานบริษัท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ติดไว้ที่บอร์ดของโรงงาน มีข้อความระบุว่า เป็นโครงการคัดกรองพนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยอ้างว่าจากการที่รัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไปนั้น บริษัทขอแจ้งให้ทราบว่าการขึ้นค่าจ้างครั้งนี้จะเพิ่มต้นทุนของบริษัทเป็นอย่างมาก และทำให้บริษัทไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่าได้
ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องดำเนินการลดต้นทุน โดยการเพิ่มประสิทธิการผลิต เพื่อสามารถชดเชยกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อชดเชยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้น บริษัทจึงได้มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยในขั้นตอนแรกจะทำการคัดกรองพนักงานที่ขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพได้อีกต่อไปออก ให้เหลือพนักงานที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพที่ดีไว้ พนักงานที่คุณภาพดีและมีประสิทธิภาพนั้น บริษัทจะเร่งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อจะได้มีรายได้มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนพนักงานที่คัดกรองออกนั้น บริษัท จะจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายต่อไปทุกประการ
ที่จังหวัดบุรีรัมย์ แรงงาน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการมีงานทำ ได้ทยอยเข้าสมัครเพื่อรับการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งทางด้านช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม และช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในขณะนี้ หลังทางโรงงานและสถานประกอบการหลายแห่งได้มีการปลดและลดพนักงานด้อยคุณภาพออก โดยอ้างว่าต้องลดต้นทุนการผลิตและแรงงานที่ถูกปลดออกเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไม่คุ้มกับค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นวันละ 300 บาท เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทักษะฝีมือแรงงาน
นอกจากนั้น แรงงานที่เข้ามาฝึกพัฒนาฝีมือที่ศูนย์ฯ ยังจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในลงทุนประกอบอาชีพอิสระตามความต้องการได้ ซึ่งส่วนมากช่างที่มีผู้สนใจเข้ารับการฝึกฝีมือมาก คือ ช่างเชื่อม ช่างยนต์ ช่างกล และช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม โดยทางศูนย์ฯ ยังพร้อมให้ความช่วยเหลือแรงงานทุกรายที่ถูกเลิกจ้าง และต้องการความรู้ทางด้านฝีมือสาขาต่างๆ เพื่อออกไปสู่ตลาดแรงงานดังกล่าวด้วย หลังแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ได้ถูกเลิกจ้างในขณะนี้แล้วกว่า 200 ราย และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายสุวิช โชติจำรัส ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ทางศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานยังได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือและให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและแรงงานได้เข้าใจ เพื่อลดปัญหาการเลิกจ้างในช่วงนี้ และพร้อมที่จะฝึกฝีมือกับแรงงานให้มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และโรงงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือแรงงานในอีกทางหนึ่งด้วย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังบันทึกเทปรายการยิ่งลักษณ์พบประชาชน ที่จะออกอากาศในวันที่ 5 ม.ค.56 เพื่อชี้แจงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 ม.ค.นี้ ทางกระทรวงแรงงานจะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพิ่มเติม 5 มาตรการ ประกอบด้วย
1.ลดค่าธรรมเนียมห้องพักโรงแรม ที่พัก โดยจะลดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจรายปีลงร้อยละ 50 จากปัจจุบันที่จัดเก็บห้องละ 80 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี 2.จัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานศึกษาและสถานประกอบการ
3.เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ โดยให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4.จัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบนำโครงการธงฟ้าไปจัดจำหน่าย และ 5.ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 ซึ่งจะทำให้รายได้รถลดลงไปประมาณ 20,000 ล้านบาท จากที่เคยจัดเก็บได้ 60,000 ล้านบาทต่อปี
“เชื่อว่ามาตรการเพิ่มเติมที่ออกมาจะทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาการปิดตัวของโรงงานที่ จ.สระบุรี ที่เป็นข่าวนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าแรง แต่มาจากปัญหาการเงินของโรงงานเอง ซึ่งมองว่าผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศครั้งนี้ จะประเมินได้ประมาณเดือน มี.ค.56 ดังนั้นในขณะนี้จึงถือว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ” รมว.แรงงานระบุ
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับค่าแรง 300 บาท ครั้งที่ 2 ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ยังคงใช้มาตรการเดิมในการช่วยเหลือ ทั้ง 11 ข้อ ที่ใช้ในการปรับครั้งแรก 7 จังหวัด อาทิ การช่วยเหลือการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ การลดภาษีประกันสังคม การเสริมทักษะฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปล่อยเงินกู้จาก 5 ธนาคารหลัก ในการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจต่างๆ ดังนั้น การปรับครั้งล่าสุดมีการหารือใหม่อีก 16 ประเด็น แต่ก็สามารถสรุปออกมาเหลือ 4-5 แนวทาง ที่จะประชุมร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีมาตรการรองรับอย่างเต็มที่อยู่แล้ว พร้อมมองว่าการที่รัฐบาลขึ้นค่าแรง ถือเป็นของขวัญปีใหม่กับแรงงาน และการที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจมีหลายโรงงานปิดตัวลง แรงงานตกงานนั้น เป็นการคาดการณ์มากกว่า เพราะที่พบโรงงานปิดตัวขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากการปรับค่าแรง 300 บาทของรัฐบาล
นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การประกาศใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมานั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเป็นธุรกิจที่อยู่ในเขต กทม.และปริมณฑลมากนัก เพราะเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงจากเดิมเพียงเล็กน้อยจากอัตรา 200 กว่าบาท เป็น 300 บาท ซึ่งรวมถึงธุรกิจการผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า
เนื่องจากต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมนี้โดยรวมมีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 10% กว่า เมื่อเทียบกับต้นทุนภาคการผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค และสิ่งทอที่มีสูงกว่า 30% ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแบกรับต้นทุนแรงงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลาง SME รายย่อยจากต่างจังหวัดยิ่งน่าสงสาร เพราะอาจไม่สามารถแบกรับภาระส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นได้ และทำให้ต้องทยอยปิดกิจการอีกหลายรายอย่างแน่นอน

"ดังนั้นเพื่อไม่ให้ภาพของเศรษฐกิจไทยต้องสะดุด และก่อให้เกิดความเสียหายตามมาในรูปแบบต่างๆ ที่มีต่อทรัพยากรแรงงานและการดำเนินกิจการ จึงอยากขอให้รัฐบาลมีการตกผลึกที่ชัดเจนก่อนว่าจะก่อเกิดผลดีหรือผลเสียต่อประชาชน แรงงาน และเศรษฐกิจของประเทศ" นายดนุชากล่าว
นายดนุชากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในนโยบายการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) ของรัฐบาล ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้ามากมายเช่นกัน เพราะเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเตาเผา การหลอมโลหะที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า เป็นต้น แต่ที่แน่ๆ โดยภาพรวมของแนวโน้มค่าไฟในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ถูก อย่างถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ เป็นต้น ยังไม่อาจเป็นทางเลือกที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงต้นทางในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ขณะที่ยังคงต้องพึ่งพาพลังงานจากกาซธรรมชาติซึ่งมีราคาสูง ย่อมมีผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นต่อเนื่องทุกปี สุดท้ายประชาชนก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ้างอิงจาก ไทยโพสต์