|
|
19 พฤษภาคม 2555 |
ล็อกซเล่ย์โหม"ธุรกิจร้านอาหาร" เดินหน้าเพิ่มแบรนด์-เล็งขยายตลาดตปท.ใน3ปี
ล็อกซเล่ย์ลุยธุรกิจร้านอาหารเต็มรูปแบบ โยกแผนกตั้งบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม "แอล ฟู้ด โซลูชั่น" เพื่อความคล่องตัว เดินหน้าขยายสาขาอย่างต่ำ 3 แห่งภายในปีหน้า ส่วนปีนี้ตั้งเป้ารายได้ทะลุ 100 ล้านบาท
นายศรัณย์ สมุทรโคจร กรรมการบริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแลธุรกิจร้านอาหารของเครือล็อกซเล่ย์ เปิดเผยว่า บริษัทได้เดินหน้าเปิดสาขาร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ AI (อัย) ภายใต้คอนเซ็ปต์ "เจแปนนิส วิลเลจ" เพิ่มอีก 2 แห่ง ที่เมกา บางนา และพรอมานาด ทำให้ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 สาขา หลังจากเปิดสาขาแรกที่เดอะไนน์ เมื่อกรกฎาคม และที่เทอร์มินอล 21 เดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยใช้งบฯลงทุนต่อสาขา 20-30 ล้านบาท
ทั้งนี้ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก ด้วยคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างจากร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป ที่เรียกว่า "ออริจินัล วาไรตี้" โดยเป็นมัลติแบรนด์ที่มี 5 สาขาอยู่ในร้านเดียวกัน นำเสนอรูปแบบการรับประทานอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมในสไตล์การตกแต่งที่เหมือนเข้ามาอยู่ในเมืองญีปุ่น โดยผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารได้หลากหลาย ถือเป็นคอนเซ็ปต์ที่ยังไม่มีในไทย
ปัจจุบัน 5 แบรนด์ที่รวมอยู่ใน "อัย" ประกอบด้วยพิซซ่าญี่ปุ่น โดบิโทริ, ราเมน เท็ตสึเมน ซึ่งเป็น 2 แบรนด์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มา อีก 3 แบรนด์บริษัทพัฒนาเอง คือเมชิยะ ข้าวหน้าญี่ปุ่น, วากิว ชาบู และสุกี้ยากี้ และอัย ซูชิ ซึ่งจากนี้จะเริ่มขยายสาขาแต่ละแบรนด์ออกไปต่างหาก โดยปัจจุบันมี 1 สาขา คือวากิว ปิ้งย่าง ซึ่งเปิดที่พารากอน
"แล้วแต่พื้นที่เราได้ เพราะอัยต้องใช้พื้นที่เฉลี่ย 500 ตารางเมตร ซึ่งอาจจะหายากขึ้น ดังนั้นหากได้พื้นที่เล็ก เราก็จะเลือกว่าเอาแบรนด์ไหนไปเปิดเดี่ยว หรืออาจจะ 2 แบรนด์ในร้านเดียวก็ได้"
และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ล็อกซเล่ย์ได้ตัดสินใจแยกแผนกธุรกิจร้านอาหารออกเป็นบริษัท ชื่อ "แอล ฟู้ด โซลูชั่น" เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและการบริหารจัดการ เนื่องจากมีระบบต่าง ๆ ที่แตกต่างจาก ล็อกซเล่ย์ โดยตนจะนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะมีรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทในปีนี้
สำหรับแผนลงทุนปีหน้า ยังเดินหน้าขยายสาขาของแบรนด์ "อัย" เตรียมงบฯไม่ตำกว่า 100 ล้านบาท ตั้งไว้ 3 สาขา โดยมุ่งไปตามหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่, หาดใหญ่ และขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีแผนขยายแฟรนไชส์สำหรับแต่ละแบรนด์ที่มีการแยกออกไปเปิดต่างหาก เนื่องจากใช้งบฯลงทุนน้อยกว่า
ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีแผนเปิดตัวแบรนด์ใหม่ โดยจะเป็นการพัฒนาขึ้นเอง จะเป็นร้านอาหารจานด่วน (QSR) ซึ่งจะเริ่มเปิดทดลองตลาดตั้งแต่ปลายปีนี้
"ธุรกิจร้านอาหารเป็นสิ่งที่ล็อกซเล่ย์คาดหวังเพื่อจะมีแบรนด์ของตัวเอง บริษัทใหญ่ที่เราตั้งจะเป็นบริษัททำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในส่วนเครื่องดื่มเรากำลังเลือกตัวสินค้าและหาพาร์ตเนอร์ชิป" การปั้นแบรนด์ของตัวเองยังทำเพื่อรองรับเออีซีในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะเปิดร้านอาหารในต่างประเทศก่อนปี 2558 โดยมองที่อินโดจีนเป็นหลัก
อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|