583
19 กรกฎาคม 2565
พาณิชย์แนะพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ต้องขายจุดเด่นของตัวเอง สร้างความน่าเชื่อถือ และไม่หยุดพัฒนา
 

กระทรวงพาณิชย์แนะพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ต้องขายจุดเด่นของตัวเอง รักษาความเป็นตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือ และต้องไม่หยุดพัฒนา เตือน!!! คู่แข่งในตลาดมีมากขึ้น ลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้น ราคาและบริการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด ทั้งราคาสินค้าและอัตราค่าขนส่ง เกิดการเปรียบเทียบคุณสมบัติผู้ค้า ความน่าเชื่อถือ สินค้า บรรจุภัณฑ์ ราคา การขนส่งที่รวดเร็ว และการสื่อสารกับลูกค้า ...ผู้ขายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมีโอกาสเติบโตและทำกำไรระยะยาว พร้อมเชิญชวนขอใช้เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) สร้างความมีตัวตนบนโลกออนไลน์ สร้างโอกาสและความได้เปรียบทางการตลาดให้ธุรกิจ
 
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การค้าออนไลน์มีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด เนื่องจากคนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรค และถึงแม้ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเบาบางลง แต่ยังคงเป็นยุคทองของพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์

โดยปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มีองค์ประกอบเกื้อหนุนที่ช่วยให้การซื้อสินค้ามีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น การจ่ายเงินผ่านระบบ e-Payment ผู้ให้บริการขนส่งมีให้เลือกหลากหลาย ผู้ค้าในตลาดมีจำนวนมากทำให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพและราคา ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อสินค้า/บริการจากผู้ขายที่มีคุณสมบัติเหมือนกันแต่ราคาย่อมเยากว่า หรือเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดมากที่สุด

 
การขายสินค้าออนไลน์ให้ได้ผลกำไรและอยู่ในธุรกิจระยะยาวต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี เนื่องจากปัจจุบันตลาดออนไลน์มีคู่แข่งจำนวนมาก มีช่องทางการขายที่หลากหลายทั้งบนเว็บไซต์เฉพาะ แพลตฟอร์มอี-มาร์เกตเพลซ หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งทุกช่องทางล้วนมีกลุ่มเป้าหมาย/กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน แต่ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจากช่องทางหนึ่งจะไปเปรียบเทียบราคาหรือคุณภาพสินค้ากับอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้ได้สินค้าและราคาที่โดนใจมากที่สุด รวมถึงความพึงพอใจที่ได้รับจากผู้ค้า เช่น ความน่าเชื่อถือ บรรจุภัณฑ์ การขนส่งที่รวดเร็ว และการสื่อสารกับลูกค้าแบบทันทีทันใด (Real Time) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค
 
รมช.พณ.กล่าวต่อว่า การสร้างการรับรู้และการจดจำให้เกิดขึ้นกับสินค้าและธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็น โดยผู้ขายต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีนำเสนอสินค้าให้มีความทันสมัยและสอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะคอนเทนต์ประกอบการขายสินค้าต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากสินค้าออนไลน์เป็นสินค้าที่ไม่สามารถสัมผัสจับต้องได้ ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากสิ่งที่เห็น คอนเทนต์ และรายละเอียดที่ได้รับ

ดังนั้น ถ้าคอนเทนต์โดนใจก็มีโอกาสที่จะขายสินค้าชิ้นนั้นได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน ผู้ขายต้องมีความจริงใจ มีวิธีการขายที่เป็นเอกลักษณ์มีจุดเด่นเฉพาะตัว รักษาความเป็นตัวตนไว้ให้ได้ และต้องไม่หยุดพัฒนารูปแบบการขาย ต้องมีความหลากหลาย
 
นอกจากนี้ กรณีที่ขายสินค้าไม่ได้ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุ เช่น สินค้าเป็นที่ต้องการหรือโดนใจผู้บริโภคหรือไม่ ราคาเป็นอย่างไร ช่องทางการจำหน่ายมีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้าและพื้นที่เพียงพอหรือไม่ ตลอดจนรูปแบบบรรจุภัณฑ์มีความเหมาะสมกับสินค้าหรือการค้าออนไลน์หรือไม่

กล่าวคือ ต้องสวยงามและสามารถส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัยไม่ชำรุดเสียหาย การบริการทั้งก่อนและหลังการขายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การตอบข้อสงสัยหรืออธิบายรายละเอียดสินค้าอย่างฉับไว จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าง่ายขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้การค้าออนไลน์ประสบความสำเร็จ
 
 
การปรับตัวให้ทันสถานการณ์และทันกระแสนิยมเป็นอีกปัจจัยที่พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่มีการเปิดรับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์จะมีความรวดเร็ว และเกิดเป็นกระแสขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น การติดตามข่าวสารและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้ทันแฟชั่น ทันคู่แข่ง ทันตลาด การนำเสนอสินค้าให้มีความหลากหลาย ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขันในตลาด
 
พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ต้องเตรียมรับมือกับคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งคู่แข่งรายเก่าที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขาย และรายใหม่ที่ขยายช่องทางการตลาดจากหน้าร้านสู่ช่องทางออนไลน์ และจากพนักงานประจำมาขายสินค้าออนไลน์เป็นอาชีพ ราคาและการบริการจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด ดังนั้น ผู้ขายที่มีความพร้อมจึงจะยืนหยัดในธุรกิจออนไลน์ได้ในระยะยาว และสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง
 
และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ คือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ร้านค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ที่กำลังค้าขายออนไลน์อยู่ขณะนี้ และยังไม่ได้ขอรับเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ DBD Registered จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สามารถขอรับเครื่องหมายฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.trustmarkthai.com

ทั้งนี้ เครื่องหมาย DBD Registered เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความมีตัวตนของผู้ขายบนโลกออนไลน์ ผู้ซื้อสามารถดูรายละเอียดของผู้ขาย ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ผู้ขาย และสร้างความมั่นใจในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค เป็นการสร้างโอกาสและความได้เปรียบทางการตลาดให้ธุรกิจอีกทางหนึ่ง” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2547-5959-60 e-Mail : e-commerce@dbd.go.th สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th


ที่มา : MGRonline.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
5,453
PLAY Q by CST bright u..
1,062
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
940
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
931
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
781
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
755
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด