4.5K
9 กุมภาพันธ์ 2554

ธุรกิจ-สินค้าไทยในเขมรป่วน เปลี่ยนชื่อหนีกระแส "รักชาติ"

 


ธุรกิจไทยในเขมรระส่ำ กระแสชาตินิยม-แอนตี้สินค้าไทย เปิดทางสินค้าโนเนมเวียดนามเสียบ แฟรนไชส์ร้านอาหารไทยเปลี่ยนป้ายหลบกระแส "ค้าชายแดน-ท่องเที่ยว" อ่วมหนัก โรงเกลือ-คลองลึก โดนหางเลข ยื่นขอสัมปทานประมงไทยในน่านน้ำกัมพูชาค้างเติ่ง


ผลพวงจากการปะทะระหว่างไทย-กัมพูชา ตั้งแต่บ่ายวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจการค้าตามแนวชายแดนและที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจังวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ประเมินว่าอาจได้รับผลกระทบ 25-30% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มูลค่ารวมการค้าระหว่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศมีตัวเลขรวมในปีที่ผ่านมา 81,129.7 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการค้าชายแดน 55,441 ล้านบาท

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลไทยพยายามทำทุกอย่างไม่ให้ ยืดเยื้อ ขณะนี้เป็นเรื่องการค้าที่ชายแดนเป็นหลัก และเป็นปัญหาระดับพื้นที่ ไม่กระทบต่อภาพรวมและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนภาพรวมการค้าการลงทุนยังไม่เป็นประเด็น เว้นแต่ถ้ามีความจำเป็นต้องปิดด่าน ปิดการค้าชายแดนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการช่วยเหลือกัมพูชาที่ยังไม่จำเป็นต้องทบทวน

ขณะที่นางพรทิวา นาคาศัย รมว. พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้รับรองความปลอดภัยในการจัดงานแฟร์ และเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการส่งออกจัดงานมินิแฟร์ รูปแบบ Thailand Outlet แทนงาน Thailand Trade Exhibition ระหว่างวันที่ 17-20 ก.พ.เช่นเดิม โดยให้ผู้ประกอบการไทยในกัมพูชาจัดแสดงสินค้า 185 คูหา จากเดิม 336 คูหา เพราะผู้ประกอบการจากไทยขอเลื่อนไปเป็น มี.ค. 2554 แทน


รมว.พาณิชย์ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการส่งออกจัดทำแผนบรรเทาและ เยียวยาผลกระทบ รวม 4 ระยะ คือ

1) ในภาวะฉุกเฉิน อาจต้องเคลื่อนย้ายนักธุรกิจหรือผู้เกี่ยวข้องภายใน 24 ช.ม.
2) หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย 1-3 เดือน ให้ประเมินความเสียหายและแนวทางเยียวยาผลกระทบสินค้าส่งออก 10 รายการ
3) ระยะกลาง ให้ศึกษาแนวทางเพื่อทำความเข้าใจ เพราะเกรงว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดกัมพูชา เพราะมีความพยายามปลุกระดมให้มองไทยในแง่ร้าย
4) ระยะยาว ให้พัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อรักษาตลาด
 



ค้าชายแดนอ่วมทุกจุด

ผู้สื่อข่าวสำรวจการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในจังหวัดศรีสะเกษ พบว่าต้องหยุดการค้าชายแดนอย่างถาวร เกิดความเสียหายเบื้องต้น 20-30 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของตลาดนัดบริเวณช่องสะงำที่มีขึ้นทุกวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ที่เสียหายไปทั้งการค้าปกติ การนำเข้าส่งออก และการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ ชาวกัมพูชาเดินทางเข้าออกน้อยกว่าปกติมาก

ขณะที่ตลาดโรงเกลือแม้จะเปิดค้าขายปกติแต่ยังคงมีข่าวลือในหมู่พ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาว่าไทยจะปิดด่าน ในส่วนนักท่องเที่ยวพบว่าหายไป 80% แต่กรุ๊ปทัวร์และนักท่องเที่ยวไทยถูกยกเลิกหมด โดยร้านค้าปิดร้านไปกว่า 30% ส่วนการส่งออกยังคงปกติ

นางราตรี แสงรุ่งเรือง ประธาน ชมรมท่องเที่ยวสระแก้ว และผู้จัดการ อรัญ-ศรีโสภณแทรเวล กล่าวว่า ทัวร์ที่ไปกัมพูชาและเวียดนามในเดือน ก.พ.นี้ได้แจ้งยกเลิกทั้งหมด ซึ่งในอรัญประเทศ มีบริษัทท่องเที่ยวกว่า 10 บริษัท ความเสียหายรวมกันกว่า 3 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณด่านศุลกากรคลองใหญ่และจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อเกิดเหตุปะทะทำให้การค้าซบเซาลง 20-30% แต่ความเสียหายไม่มากนัก ส่วนภาคการประมงคาดว่าผู้ประกอบการบางส่วนที่อยู่ระหว่างขอสัมปทานในน่านน้ำกัมพูชาจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย

สินค้าเวียดนามเสียบ

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด มองว่า หากสถานการณ์ไม่พัฒนาไปสู่การปลุกปั่นก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และจังหวะนี้อาจจะมี สินค้าโนเนมจากเวียดนามเข้ามาทดแทนได้ ในส่วนของเบียร์สิงห์ยังค้าขายปกติ เพียงแต่ดูแลเรื่องสต๊อกมากขึ้น ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในเขมรยังมีโอกาส ทำธุรกิจอีกหลากหลายที่น่าสนใจ

นางพงษ์ทิพย์ เทศะภู ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสินค้าที่ส่งไปขายที่กัมพูชาทั้งแชมพูและผงซักฟอก แต่ไม่มีฐานผลิตที่นั่น ตอนนี้เท่าที่ติดตามสถานการณ์ยังไม่มีอะไรน่าวิตก
 

 

ธุรกิจไทยในเขมรอาการหนัก

นายสวาสดิ์ มิตรอารี นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ กล่าวว่า การปะทะระหว่างทหารทั้ง 2 ฝ่ายได้ส่งผลกระทบทางอ้อมกับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในพื้นที่เขตเมืองพนมเปญและเมืองอื่น ๆ พอสมควร หลังจาก ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานักธุรกิจเขมรซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจไทยไปเปิดดำเนินการ อาทิ กาแฟคอฟฟี่เมคเกอร์ นีโอสุกี้ แบล็คแคนยอน โคคาสุกี้ ฯลฯ

ในภาพรวมของสินค้าและบริการได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แต่มาสะดุดเรื่องปัญหาการเมืองในช่วงหลัง ที่ทางผู้นำเขมรพยายามปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้แฟรนไชซีที่เป็นผู้ซื้อเกิดความกังวล และต้องปรับเปลี่ยนชื่อจนไม่เหลือความเป็นไทย

"ผู้ประกอบการไทยที่มีแฟรนไชส์อยู่ในเขมรส่วนใหญ่จะบอกว่า ตอนนี้ร้านต้องปิด ๆ เปิด ๆ เพราะไม่แน่ใจในสถานการณ์ และจะสรุปข้อมูลเป็นทางการอีกครั้ง เพราะทางกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องการรับทราบปัญหาด้วยเช่นกัน" นายสวาสดิ์กล่าว

นายสกนธ์ กับปิยจรรยา
กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอสุกี้ ไทย เรสเตอรองส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน นีโอสุกี้ไม่มีแฟรนไชส์ในเขมรอีกแล้ว หลังจากเปิดมา 2 ปีเศษ เนื่องจาก ผู้ซื้อยกเลิกสัญญาแฟรนไชส์เพราะไม่อยากเจอปัญหาเดิม ๆ ซึ่งบริษัทเข้าใจและเห็นใจ จากก่อนหน้านี้ที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์นีโอสุกี้ไปเพราะหวังใช้ความเป็นไทยเป็นจุดขาย แต่พอเจอกระแสชาตินิยมมาก ๆ แรก ๆ ก็แค่เปลี่ยนไปใช้ภาษเขมรปนภาษาอังกฤษ หลัง ๆ ต้องเปลี่ยนชื่อไปเลย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครู้ว่าเป็นของไทย

นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า จากเดิมได้เชิญผู้ประกอบการกัมพูชา มาเจรจาธุรกิจในโครงการ "รวมพลัง เอสเอ็มอี การค้าเสรีไร้พรมแดน" ใน วันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2554 และฝ่ายไทยจะเดินทางไปดูงานที่กัมพูชา ทำให้ต้องล้มไปโดยปริยาย ส่วนอีกโครงการหนึ่งในเดือนมีนาคม 2554 ไม่แน่ว่าอาจชะลอโครงการไปก่อนหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,112
PLAY Q by CST bright u..
1,313
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
941
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
790
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด