รากฐานแฟรนไชส์ "แข็งแกร่ง"
กลยุทธ์การขยายด้วยระบบแฟรนไชส์ในระยะเริ่มต้น ก่อนที่เราจะขายแฟรนไชส์ให้คนอื่น ธุรกิจแฟรนไชส์ของเราจะต้องเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และสามารถถ่ายทอดได้ การพัฒนาศักยภาพบริษัทของคุณให้เป็นแฟรนไชซอร์ มีองค์ประกอบ ดังนี้
1. ความพร้อมและคุณสมบัติการเป็นแฟรนไชซอร์ จำไว้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์นั้นเป็นธุรกิจที่ "มากกว่า" การขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า เพราะต้องมีศูนย์การฝึกอบรม การสร้างคู่มือปฏิบัติการ และการช่วยเหลือด้านการตลาดและการส่งเสริมการขาย และมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสามารถมีสินค้าหรือบริการใหม่ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า หลังจากสินค้าเก่าหมดความนิยมไปแล้ว
2. มีตลาดรองรับสินค้าหรือบริการ และประสบความสำเร็จด้านยอดขาย เป็นธุรกิจที่สามารถ "ทำกำไร" ได้ ธุรกิจมีความเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างที่เป็นที่ต้องการของสาธารณชนทั่วไป
3. มีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว และมีสิทธิบัตรของตัวผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรไว้แล้ว
ถ้ามั่นใจว่าระบบแฟรนไชส์ในประเทศ "ปึ้ก" แล้ว การขยายออกตลาดต่างประเทศก็ไม่น่ากลัวสักเท่าไร แต่ผู้ประกอบการต้องเอกซเรย์ตลาดที่จะไป เพื่อปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องในแต่ละประเทศ

กรณีที่ต้องการขยายธุรกิจไปประเทศใด ควรศึกษาค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนค่าเครื่องหมายการค้า ค่าธรรมเนียม และสิทธิประโยชน์ในการได้รับการรับรองสิทธิ เมื่อได้รับใบรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ต้องประกาศให้สาธารณชนทราบ และจัดตั้งบริษัททนายเพื่อจัดการกับผู้ละเมิดสิทธิและเครื่องหมายการค้า ค่าดำเนินการในแต่ละประเทศแตกต่างกัน
อย่างประเทศในตะวันออกกลางมีค่าใช้จ่ายสูง และจดได้เฉพาะประเทศ แต่สำหรับทวีปยุโรปจดเพียงประเทศเดียว "ครอบคลุม" ในกลุ่มประเทศอียูทั้งหมด ค่าใช้จ่ายถูกกว่า และได้รับรองการคุ้มครองสิทธิมากกว่า การเลือกแต่งตั้งบริษัททนาย ควรพิจารณาจากประสบการณ์ และพันธมิตรของบริษัทในแต่ละประเทศ ซึ่งแต่ละบริษัทย่อมมีความชำนาญแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และภูมิภาค
การขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีทรัพยากรที่เหมือนกัน มีค่านิยมและวิถีชีวิตใกล้เคียงกัน การนำเสนอรูปแบบสินค้าหรือบริการต้องเน้นความทันสมัยแบบตะวันตก แต่เหมาะกับพฤติกรรมบริโภคของชาวตะวันออก
การยอมรับคุณภาพของสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับได้ การชูความทันสมัยของเครื่องจักร การบริหารการจัดการที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรต่างประเทศ ความสามารถเป็นผู้นำเทรนด์ในตลาดอาเซียนได้ การประชาสัมพันธ์และโฆษณาที่มุ่งเน้นในระดับภูมิภาคมากกว่าในระดับประเทศ
เช่น สถาบันลดสัดส่วนมารี ฟรานซ์ ที่ใช้ นักร้องสาวทาทายัง ที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นอย่างดี ขณะที่บอดี้เชฟ ใช้หมิวลลิตาที่เป็นที่รู้จักในประเทศเท่านั้น แนวโน้มการเลือกพรีเซ็นเตอร์จะแตกต่างกันไป โอกาสที่จะออกไปสร้างชื่อนอกประเทศย่อมต่างกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ