3.7K
14 พฤศจิกายน 2549
นิวลุคส์ !!! แมคโดนัลด์ ใส่เกียร์ -เร่งเครื่อง- ทวงแชมป์


มาวันนี้วิชาก้าวไปอีกขั้นในธุรกิจอาหารในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 70%ในบริษัทแมคไทย จำกัด นั่นเท่ากับว่า แมคไทย ผู้ได้สิทธิขยายตลาดฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดังอย่างแมคโดนัลด์ ได้กลับมาอยู่ภายใต้การบริหารของคนไทยเต็มตัว(อีกครั้ง )หลังจาก เดช บุลสุข ที่เปิดทางให้คนไทยรู้จักกับฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดังระดับโลกตั้งแต่ปี 2528 และ"รู้ใจ"คนไทยจนแมคโดนัลด์เป็นตัวเลือกแรกเมื่อนึกถึงเบอร์เกอร์ รวมทั้งการสร้างกระแสการบริโภคพร้อมของพรีเมียม ชุดยอดนิยมที่ทำยอดขายถล่มทลายกับชุด"แฮปปี้มีล"และตุ๊กตา Snoopy World Ture (ชุด 1 )

ปลายปี 2546 เดช หันหลังให้ธุรกิจที่เคยสร้างมากับมือ ด้วยการขายหุ้นทั้งหมดคืนให้บริษัทแม่ จะมีก็แต่เพียงตำแหน่ง"ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์"จากนั้น เขาก็เงียบหายไปจากวงการฟาสต์ฟู้ด พร้อมๆ กับแมคโดนัดล์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของฝรั่ง(บริษัทแม่)เต็มรูปแบบ 

ในช่วงเวลาดังกล่าวดูเหมือนว่าแมคโดนัลด์ที่เคยโด่งดังกลับ"เงียบกว่า"แบรนด์อื่น ๆ โดยเฉพาะการเปิดสาขาใหม่ที่ทำได้แค่ 4-5 สาขาต่อปีและบางปีกลับไม่มีการขยายสาขาเลย

และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่"นิว ลุคส์"ของแมคโดนัลด์ ที่วิชา ในฐานะประธานบริษัท แมคไทย บอกว่า บริษัทแม่แมคโดนัลด์ให้ความสำคัญกับการหาโลเคชัน เขาจึงเลือกผมเพราะว่าสามารถหาทำเลที่ดีให้กับแมคโดนัลด์ได้


นิว ลุคส์ ในความหมายของวิชา ไม่ใช่แค่ความเชี่ยวชาญในการเป็นแลนด์ลอร์ดของเขาเท่านั้น แต่มีความหมายกว้างไปถึงการบริหาร การบริการ การสื่อสาร และ รูปโฉมของแมคโดนัลด์ที่ทุกอย่างล้วนอยู่ภายใต้คอนเซปต์"ใหม่"ทั้งหมด 
 

เริ่มจากการบริหารที่อยู่ในมือคนไทยเต็มรูปแบบ การตัดสินใจเป็นไปตามการแข่งขัน ที่รวดเร็วและทันใจลูกค้า เพราะ Convenience คือ หัวใจของธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ด ความสะดวกในการเข้าถึงจึงมาพร้อมกับจำนวนสาขาที่มากขึ้น

10 สาขาต่อปี เป็นเป้าหมายเบื้องต้นของจำนวนสาขาที่จะเพิ่มขึ้นจาก 93 สาขาในปัจจุบัน และแต่ละสาขาใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้สาขาใหม่และสาขาเก่าที่รอการปรับปรุงจะมาพร้อมโมเดลใหม่ที่ Mix & Match จากแมคโดนัลด์ทั่วโลกให้ทันสมัยและสอดคล้องกับประเทศไทยมากที่สุด

"เราโชคดีที่แมคโดนัลด์มีหลายโมเดลในการขยายธุรกิจ ทั้งร้านเต็มรูปแบบ ,คีออส ,Drive-Thru ดิลิเวอรี่ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกและหาสิ่งที่เหมาะที่สุดให้บ้านเรา ถึงตอนนี้สาขาเอสพานาดรัชดายังไม่ตกผลึกแต่ที่นี่จะ เป็นสาขาใหม่ต้นแบบที่ลูกค้าจะเห็นมุมมองใหม่ของแมคโดนัลด์"

ส่วนการสื่อสารใหม่ของแมคโดนัลด์นั้น เขาบอกว่า จะต้องเปลี่ยนมุมมองของคนไทยที่มีต่อฟาสต์ฟู้ดว่าเป็นอาหารไม่มีคุณค่าให้ได้ โดยเพิ่มความถี่ในการประชาสัมพันธ์เพื่ออุดจุดอ่อนในการสื่อสารถึงผู้บริโภค

"เราถามบริษัทแม่ว่าจะทำยังไงกับทิศทางสุขภาพให้แมคโดนัลด์ เขาบอกว่าแม้แต่เราก็เข้าใจผิดว่าแมคโดนัลด์ไม่ได้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะแมคโดนัลด์อยู่ในทิศทางนี้มาตลอด ถึงแม้ว่าจะมีการโจมตีแมคโดนัลด์อยู่บ้างโดยเฉพาะในตลาดอเมริกา แต่มาจากมุมมองของคนที่แตกต่างกันและอเมริกาประเทศเดียวมีถึง 13,000 สาขา" 

ร็อบ เชสสัน กรรมการผู้จัดการบริษัทแมคไทย จำกัด เสริมว่า เป็นเวลากว่า 3 ปีที่แมคโดนัลด์พยายามพัฒนาและปรับปรุงการ ผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายอาหารเพื่อสุขภาพ เริ่มตั้งแต่การคัดสรรซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพ การใช้น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

"ทุกอย่างเราเข้าไปเกี่ยวข้องในเทรนด์เพื่อสุขภาพ เหมือนเมืองนอกอยู่แล้วและจะเดินหน้าในทิศทางโภชนาการต่อไป เพราะเราไม่มีเรื่องไหนที่ต้องซ่อนผู้บริโภค" 

ด้าน เฮสเตอร์ ชิว ที่ถือว่าเป็นแม่ทัพมือดีในวงการฟาสต์ฟู้ดมานาน โดยเฉพาะเป็นหัวเรือใหญ่ของยัม เรสเทอรองสต์ ที่ดูแลแบรนด์พิซซ่าฮัท เคเอฟซี ในไทย มาเป็นเวลา 19 ปี และล่าสุดยังนั่งเป็นที่ปรึกษาในกับโออิชิกรุ๊ปมากว่า 1 ปี

ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัทแมคไทย เขา บอกว่า เป้าหมายของแมคโดนัลด์ในไทย คือ การเป็นเบอร์หนึ่งเหมือนเช่นตลาดโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพราะแมคโดนัลด์มีจุดแข็งอยู่ที่แบรนด์ แม้ตลาดในไทยจะไม่ได้เป็นเบอร์ 1 แต่เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้จักและจดจำได้ดี รวมถึงพนักงานกว่า 3,500 คนมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้เป็นอย่างดีเช่นกัน

สำหรับวิธีการทำงานเมื่อเริ่มต้นในองค์กรใหม่เริ่มจาก ศึกษานโยบายของบริษัทว่าเดินไปทางไหน จะให้ความสำคัญกับสิ่งไหน แล้วจึงลงลึกในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการลดต้นทุน เป็นต้น

"ผมมี Fastfood Experience หรือ ประสบการณ์ในวงการนี้มาถึง 20 ปี ที่จะนำมาถ่ายทอดให้กับแมคโดนัลด์ได้ นโยบายแรก คือ การโฟกัสไปที่คุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ " 

นอกจากนี้แมคไทย ยังต้องการความเร็ว ( Speed )ในการบริหาร ทั้งความเร็วในการเข้าถึงลูกค้าด้วยการขยายสาขาให้มากขึ้น ความเร็วในการบริการ รวมถึงความเร็วในด้านผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีทางเลือกใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคเช่นเมนูล่าสุดกับแมคไรซ์เบอร์เกอร์ ที่สำคัญจะต้อง Value for money หรือทำให้ผู้บริโภคพอใจสูงสุด เช่น การจัดชุดเมนูพิเศษ หรือการจัดรายการ 1 แถม 1 เป็นต้น 


"ถ้ามองการบริหารแมคโดนัลด์ตอนนี้เหมือนการขับรถ ถ้าอยากให้เร็วขึ้นก็ต้องเปลี่ยนเกียร์และเร่งเครื่อง" 

ในตลาดอาหารจานด่วนหรือ Quick Service Restaurant (QSR)ที่มีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาทนั้น แมคโดนัลด์มีส่วนแบ่งการตลาด 4 % และตลาด QSR ปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบประมาณ 10-15 %

เป้าหมายเบอร์หนึ่งนั้น เฮสเตอร์ ชิว ย้ำว่าภายในปี 2553 จะมีร้านใหญ่โมเดลใหม่ไม่ต่ำกว่า 100 สาขายอดขายต้องเพิ่มขึ้นสองเท่า โดยที่แมคโดนัลด์จะต้องเติบโตให้เร็วกว่าและมากกว่าตลาดรวม



ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,225
PLAY Q by CST bright u..
1,331
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
947
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
946
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
796
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด