บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การเช่าพื้นที่ หาทำเล เปิดร้าน
3.3K
2 นาที
8 มกราคม 2558
เจาะเทรนด์คอมมูนิตี้มอลล์ พิสูจน์ฝีมือ'รายใหม่'แทรกตลาด สำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่มองเป็น "โอกาส"

แนวโน้มธุรกิจศูนย์การค้าขนาดย่อม หรือ คอมมูนิตี้มอลล์ (Community Mall) มาแรง!! แต่ประสบความสำเร็จแค่ไหนยังเป็นคำถาม? อาจเป็น "ดาวรุ่ง" สำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่มองเป็น "โอกาส" รับไลฟ์สไตล์ครอบครัวยุคใหม่นิยมชอปสะดวก

ใกล้บ้านช่วงวันหยุด ขณะที่ทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ล้วนมองข้ามไม่ร่วมสมรภูมินี้ มุ่งพัฒนาศูนย์การค้าครบวงจร ที่เชื่อว่าผลตอบแทนทางการลงทุนดีกว่า เปิดทางผู้ประกอบการอสังหาฯ เจ้าของที่ดิน ทุนหน้าใหม่ ขยายการลงทุนแทรกตลาด โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ ใช้ "คอมมูนิตี้มอลล์" เป็นแม่เหล็กและสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้กับโครงการที่อยู่อาศัย

จะเห็นว่าย่านชุมชนของกรุงเทพฯ ชั้นใน และถนนรอบนอก ทั้งย่านพระราม 2 พระราม 3 รามอินทรา บางนา เกษตร-นวมินทร์ กระทั่งหัวเมืองใหญ่ เมืองรอง ล้วนมีกลุ่มทุนทั้งหน้าเก่า-รายใหม่ ทยอยเปิดตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ด้วยคอนเซปต์ที่แตกต่าง เพื่อสร้าง "เอกลักษณ์" ดึงดูดลูกค้าในชุมชนและรัศมีใกล้เคียงเข้าใช้บริการ

กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด กล่าวว่า คอมมูนิตี้มอลล์ยังเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน แต่ "ทำยาก" ซัพพลายหรือปริมาณในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ทั้งนี้ "ผู้เล่นหน้าใหม่" ส่วนใหญ่เป็น "เจ้าของที่ดิน" ลงทุนเอง มีการพัฒนาโครงการเพียง 2-3 แห่ง

"พื้นที่กรุงเทพฯ คอมมูนิตี้มอลล์ผุดขึ้นจำนวนมาก หลังๆ น่าจะเหนื่อย การคืนทุนค่อนข้างลำบาก การพัฒนาโครงการสำคัญที่สุด คือ ทำเล"

อินเด็กซ์ฯ มีการพัฒนาธุรกิจ "คอมมูนิตี้มอลล์" ภายในชื่อ "เดอะวอล์ค" เป็นอีก "ขาหลัก" ของกลุ่มที่มองว่าเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ปัจจุบันมี 2 สาขา ได้แก่ ราชพฤกษ์ และเกษตร-นวมินทร์ ล่าสุดเปิดบริการ "เดอะวอล์ค คอมมูนิตี้มอลล์" นครสวรรค์ บนที่ดิน 25 ไร่ โดยมีพันธมิตรเทสโก้ โลตัส เป็นแม่เหล็กหลักและทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบการเช่าระยะยาว 30 ปี จากอินเด็กซ์ฯ ในฐานะผู้ลงทุนและเจ้าของที่ดิน

สยามฟิวเจอร์ฯ มั่นใจธุรกิจ "ขาขึ้น"

เชนคอมมูนิตี้มอลล์รายใหญ่ "สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์" เชื่อว่ายังเป็นตลาด "ขาขึ้น" แม้การแข่งขันจะทวีความรุนแรงตามจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาใช้กำลังคนทุ่มไปกับโครงการใหญ่ เมกา บางนา หลังจากนี้จะกลับมาสยายปีกตามแผนปกติภายใต้เป้าหมายเปิดคอมมูนิตี้มอลล์ปีละ 1-3 แห่งต่อเนื่อง

ณัฐรินทร์ พยุงวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการขายและการตลาด บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ เอสเอฟ กล่าวว่า ขยายตัวของชุมชนที่อยู่อาศัยรอบนอกกรุงเทพฯ มีความต้องการสินค้าและบริการ เป็นปัจจัยหนุนธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์เติบโตได้อีกมาก

ในปีนี้เอสเอฟลงทุน 2 โครงการ ได้แก่ ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต คลอง 1 เปิดบริการไตรมาส 4 อีกโครงการอยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญาเช่า เป็นที่ดินย่านใจกลางเมือง เนื้อที่ 4 ไร่ครึ่ง

"ชุมชนใหม่ มีความต้องการสินค้าและบริการตามการเติบโตทางสังคม รายได้ และเศรษฐกิจ ยิ่งมีการพัฒนาเมกะโปรเจคต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ ทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก"

การพัฒนาโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ให้มีศักยภาพและประสบความสำเร็จ ต้องมีครบ 3 องค์ประกอบ กล่าวคือ "ทำเลที่ดี" หัวใจสำคัญขอค้าปลีกทุกประเภท "คอนเซปต์" ของโครงการที่ชัดเจนมีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน สุดท้าย "การบริหารแบบมืออาชีพ"

คอมมูนิตี้มอลล์เพิ่ม2.64แสนตร.ม.

ข้อมูลวิจัยตลาดพื้นที่ค้าปลีกของคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุด้วยว่า คอมมูนิตี้มอลล์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 จนมีสัดส่วนเป็นอันดับสองในตลาดพื้นที่ค้าปลีกกรุงเทพฯ ในสิ้นปี 2556

โดยอุปทานที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีนี้อยู่ที่ 7.79 แสนตร.ม. จำนวน 4.74 แสนตร.ม. เป็นศูนย์การค้า ในพื้นที่ใจกลางมืองและรอบใจกลางเมือง อีก 2.64 แสนตร.ม. เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ โดย 69% ของคอมมูนิตี้มอลล์ที่แล้วเสร็จอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก

อย่างไรก็ดี โครงการใหม่ๆ จำนวนมากที่สร้างเสร็จ และเปิดให้บริการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา "ศูนย์การค้า" ยังคงมีสัดส่วนในตลาดพื้นที่ค้าปลีกมากที่สุด และพื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการในอนาคตที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ก็คือ ศูนย์การค้า

กลุ่มทุนแห่ผุดโครงการ

ทั้งนี้กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ เปิดการลงทุนธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์อย่างต่อเนื่อง เช่น "โตโยต้า ทีบีเอ็น" ประสบความสำเร็จจาก "พาซิโอ" คอมมูนิตี้มอลล์สาขาแรกย่านถนนอ่อนนุช ขยายตลาดย่านสุขาภิบาล 3 และกาญจนา

นอกจากนี้ยังมี เดอะ ศาลายา มอลล์ ย่านศาลายา จ.นครปฐม ในแนวคิด อีทดริ๊งฟันอินวันเพลซ" ภายใต้การพัฒนาของบริษัท พรพรหมเม็ททอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีพีเอ็ม ผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและวัตถุดิบอุตสาหกรรม ที่แตกไลน์สู่ "คอมมูนิตี้ มอลล์" รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รองรับโอกาสทางธุรกิจในระยะยาวจากการเติบโตของชุมชน การบริโภค พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นิยมจับจ่ายใช้สอยในค้าปลีกสมัยใหม่มากขึ้น

เดอะ ศาลายา มอลล์ มีกลุ่มเป้าหมายนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 20,000 คน
เป็นการต่อยอดทางด้านทำเลซึ่งอยู่ติดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีหอพักและอพาร์ตเมนต์กว่า 100 แห่ง เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ที่พักอาศัยกว่า 9 หมื่นครัวเรือนในรัศมี 10 กิโลเมตร คาดธุรกิจคืนทุนภายใน 7 ปี

ย้ำวันสต็อปชอปปิงได้เปรียบดึงลูกค้า

ตะติยะ ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่มีนโยบายลงทุนคอมมูนิตี้มอลล์ แม้ดูเหมือนจะ "ทำง่าย-เกิดง่าย" แต่ไม่คุ้ม!!

ขณะที่กลุ่มเดอะมอลล์ ยึดมั่นในคอนเซปต์ "ชอปปิงคอมเพล็กซ์" อย่างเหนียวแน่นนเพราะเชื่อว่าบรรจุสินค้าและบริการครบครันเป็น "วันสต็อปเซอร์วิส" มาทีเดียวได้หมด รองรับพฤติกรรมลูกค้าต้องการ "ทางเลือกใหม่" และทางเลือกที่หลากหลาย พร้อมจ่ายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ฉะนั้นความครบวงจรคือสิ่งสำคัญต่อการรองรับฐานลูกค้าหลักของเดอะมอลล์ที่ครอบคลุมกลุ่มครอบครัว วัยรุ่น วัยทำงาน ฯลฯ

ไม่ต่างจาก "กลุ่มเซ็นทรัล" ภายใต้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น มองว่าการลงทุนศูนย์การค้าขนาดย่อม "ไม่คุ้มการลงทุน" ท่ามกลางโอกาสธุรกิจในการขยายศูนย์การค้าขนาดใหญ่รออยู่ทั่วประเทศ โดยซีพีเอ็นจะขยายสาขาในอัตราเร่งใช้งบลงทุนมากกว่า 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีเปิดศูนย์การค้าใหม่ 3-4 แห่ง ด้วยกลยุทธ์เชิงรุก “3S” กล่าวคือ STRATEGIC MOVE “รุกเร็ว” เพื่อช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจ SECURE PRIME LOCATION หาทำเลที่มีศักยภาพสูงสุด เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ และ SYNERGY กับพันธมิตรร้านค้า ซึ่งจะผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด

อ้างอิงจาก  กรุงเทพธุรกิจ
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด