บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
3.3K
4 นาที
21 มีนาคม 2562
มองอนาคตธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย


ภาพจาก facebook.com/FullLoadWaffle
 
หากคิดจะลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว ไม่ว่าท่านตั้งใจจะเป็นแฟรนไชส์ซีหรือแฟรนไชส์ซอร์ก็ตาม มีความจำเป็นที่ท่านนอกจากจะพิจารณาตัวเอง คู่แข่ง ฯลฯ แล้ว ท่านยังต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ หรือสภาพการณ์โดยทั่วไปของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยปัจจุบัน เพราะการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องดูตาม้าตาเรือ คือต้องเข้าไปในจังหวะที่เหมาะสมอีกด้วย
 
ความสำคัญแฟรนไชส์ไทยในอนาคต
 
โดยสรุปแล้ว ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่เป็นผลพวงของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกตามกระแสหลักทุนนิยม สำหรับในประเทศไทยแล้วกลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจไปด้วย เพราะมีคนจำนวนมากที่เข้าไปเป็นแฟรนไชส์ซอร์หรือแฟรนไชส์ซีเพราะเห็นคนอื่นๆประสบความสำเร็จ และในอนาคตธุรกิจแฟรนไชส์ก็จะมีสัดส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกมาก

การเรียนรู้เรื่องธุรกิจแฟรนไชส์จึงจะกลายเป็นวิชาที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาบริหารธุรกิจทุกคน และนักลงทุนทุกคนก็จำเป็นจะต้องรู้เรื่องของแฟรนไชส์ ในวันนี้หากใครที่ทำธุรกิจโดยที่ไม่มีพื้นความรู้การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว ถ้าจะบอกว่าเชยหรือบอกว่าท่านอาจจะตกขบวนรถไฟไปแล้ว ก็อาจจะไม่เป็นการผิด !

ปัจจัยส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทย


ภาพจาก facebook.com/coffeetodaythailand
 
การที่ธุรกิจบางประเภทสามารถเติบโตขึ้นหรือที่พูดกันในภาษาการตลาดว่า ขนาดของตลาดกำลังเจริญเติบโต หรืออยู่ในช่วง Growth ธุรกิจดังกล่าวก็จะดูเหมือนว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่กำลังมีอนาคตสดใส แต่ในทางตรงกันข้าม หากขนาดตลาดกำลังอิ่มตัวหรือหดตัว หรืออยู่ในช่วง Decline การจะเข้าไปทำธุรกิจในตลาดดังกล่าว ก็อาจประสบภาวะขาดทุนหรือมีช่วงระยะเวลาให้ทำธุรกิจได้ไม่ยาวนาน
 
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยยังเพิ่งอยู่ในระยะเจริญเติบโต ยิ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว สัดส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ต่อยอดขายปลีกทั้งระบบเศรษฐกิจของไทยยังต่ำมาก  อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกัน มิหนำซ้ำพฤติกรรมผู้บริโภคตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน อาจทำให้การคาดการณ์แนวโน้มหรืออนาคตของธุรกิจโดยการเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วผิดพลาดได้

ผู้เขียนเชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยยังจะต้องเจริญเติบโตอีกมาก  แต่ก็คงไม่น่าจะสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจค้าปลีกทั้งระบบให้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของตลาดได้ดั่งในประเทศอเมริกา สำหรับปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยเติบโตขึ้นในอนาคตสิบยี่สิบปีข้างหน้าเกิดจาก
 
1.การขยายตัวของการบริโภคในประเทศ


ภาพจาก goo.gl/1KngdZ

ตลอดจนการที่ธุรกิจการท่องเที่ยวขยายตัว นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยปีละนับสิบล้านคน ย่อมมีส่วนทำให้ธุรกิจเกือบทุกหมวดมีขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น และมีการขยายตัวอันเนื่องมากจากผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้นและมีผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดผู้บริโภคกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ก็ยังเป็นลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นยี่ห้อดัง หรือแฟรนไชส์ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ทำให้โอกาสของสินค้าหรือบริการในระบบแฟรนไชส์ มีอนาคตที่ขยายตัวและสดใส

2.พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่

ที่ต้องการความสะดวกสบาย ความหรูหรา ทำให้ธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบเก่าๆ ถึงแม้ว่าราคาสินค้าหรือบริการอาจจะถูกกว่า แต่ก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ จะเห็นได้ชัดว่าสินค้าหรือบริการมากมายที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ แม้ว่าจะขายสินค้าหรือบริการในราคาที่สูงกว่า เช่น ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น, ร้านแว่นตา, สถาบันเสริมความงาม, สถาบันศึกษา ฯลฯ กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

3.ความต้องการอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวแทนการเป็นลูกจ้าง

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีปัจจัยจูงใจหลายประการที่ทำให้คนจำนวนมาก อยากลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวหลังจากยึดอาชีพการเป็นลูกจ้างมาระยะหนึ่ง หรือแม้กระทั่งการจำเป็นที่ต้องหันมาประกอบอาชีพส่วนตัวแทนการเป็นลูกจ้าง

เนื่องจากไม่สามารถทำงานเดิมต่อไปได้ หรือหางานทำไม่ได้ ล้วนแล้วแต่ทำให้มีนักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่งนักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้ มีโอกาสเป็นไปได้อย่างสูงที่จะเริ่มต้นด้วยการเป็น แฟรนไชส์ซี หรือบางรายที่มีประสบการณ์หรือความรู้ที่ดีพอ อาจจะเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการเป็น แฟรนไชส์ซอร์เลยก็เคยมี

4.นโยบายของรัฐในการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs)


ภาพจาก facebook.com/SweetGardenDessert

ในอดีตการเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวอาจจะทำได้ยาก เพราะขาดสถาบันการเงินสนับสนุน หรือระเบียบกฎหมายที่ทำให้หลายคนไม่กล้าเริ่มทำธุรกิจ แม้กระทั่งอัตราภาษีรายได้ที่สูงมาก แต่ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีนโยบายสนับสนุนให้เกิดธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

ยิ่งเป็นธุรกิจ SMEs กลับได้สิทธิพิเศษเสียภาษีรายได้ในอัตราเพียงร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ และธนาคารต่างๆ ทั้งของเอกชนและรัฐบาล ก็ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ๆ หากท่านมีความสามารถในการเขียนโครงการและมีรายละเอียดของโครงการที่ดี ก็อาจจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินให้เริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ได้โดยไม่ยาก

5.บทบาทอิทธิพลของการโฆษณาและการตลาด

ธุรกิจมากมายในปัจจุบันของไทย ได้ใช้ นโยบายทางการตลาดเชิงรุก ด้วยการระดมการโฆษณาหรือทำการตลาดไปยังผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายที่ต้องการหาซื้อสินค้าหรือบริการมาตอบสนองความต้องการของตนเอง ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้ธุรกิจต้องการการขยายสาขาไปให้ใกล้บ้านผู้บริโภคมากที่สุด และยังต้องการยอดขายจำนวนที่สูงมากเพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายการโฆษณาหรือการตลาด จึงไม่เป็นการแปลกที่ธุรกิจหลายประเภท ที่ขายดีอยู่แล้ว จำเป็นต้องขยายธุรกิจโดยให้โอกาสผู้ร่วมทุนทำธุรกิจด้วยการเป็นแฟรนไชส์ซี แทนที่เจ้าของยี่ห้อสิน้าหรือบริการจะลงทุนทำธุรกิจด้วยทุนของตนเอง จึงไม่เป็นการแปลกที่แม้กระทั่งธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ภัตตาคาร ฯลฯ ยังยอมขายแฟรนไชส์เพื่อให้กิจการสามารถมีงบมาทำการตลาดหรือโฆษณาเพิ่มขึ้น และเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด

6.นโยบายการค้าเสรีและการลดกำแพงภาษีระหว่างประเทศ

ถ้าจะกล่าวว่าในปัจจุบันแทบจะไม่มีประเทศใดในโลกที่จะดำรงระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยการปิดกั้นคู่แข่งจากต่างประเทศ หรือตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันทางการค้าได้อีกต่อไป ประเทศที่แม้เคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม ก็ยังล้วนแล้วแต่ต้องส่งเสริมให้นักธุรกิจต่างชาติไปลงทุนในประเทศของตนได้

ในปัจจุบันนี้หากท่านมีโอกาสไปเที่ยวในประเทศคอมมิวนิสต์เดิม เช่น จีน กัมพูชา ลาว เวียตนาม ฯลฯ ก็จะเห็นธุรกิจแฟรนไชส์จากทั่วโลกไปเปิดบริการในประเทศเหล่านี้ และก็มีจำนวนหนึ่งที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์จากประเทศไทยด้วย (แต่ยังน้อยมาก) ดังนั้น โอกาสของธุรกิจ แฟรนไชส์จากต่างประเทศที่จะเข้ามายังประเทศไทยในอนาคต หรือโอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศ จึงยังมีอยู่อีกมาก และมีนักธุรกิจท้องถิ่นในทุกประเทศที่พร้อมจะลงทุนด้วย

7.กิจกรรมหรือนิทรรศการเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีบ่อยมากขึ้น


ในประเทศไทยมักจะมีการจัดงานแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี หรือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และที่อื่นๆ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดอยู่เป็นประจำ งานแสดงเหล่านี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจะซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) กับผู้ขายแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์)  มีโอกาสพบปะกันเพื่อหาทางทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต

นอกจากนี้ยังเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ แฟรนไชส์แก่นักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วย นอกเหนือจากนี้ วารสารหรือนิตยสารที่เกี่ยวกับช่องทางการทำธุรกิจของไทยในปัจจุบัน ก็ให้ความสนใจแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น และยังมีวารสารที่เกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์โดยตรงอีกด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นการเร่งขยายให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยเติบโตขึ้น เสมือนการทำโฆษณาให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งระบบและแต่ละธุรกิจไปในตัว

8.ความจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องมีความรู้กฏหมายเกี่ยวกับบัญชี ภาษี ตลอดจนความรู้อื่นๆ

เพื่อให้ปฏิบัติได้ตามระเบียบกฎหมายราชการ และพัฒนาระบบงานของตนเอง ทำให้การตัดสินใจทำธุรกิจโดยที่ขาดประสบการณ์ในอนาคตเป็นสิ่งที่ทำได้ยากหรือไม่สมควรทำ นักธุรกิจจำนวนหนึ่งจึงเห็นว่า  หากยอมเสียเงินจำนวนหนึ่งเพื่อจะได้รับความรู้ คำแนะนำ ตลอดจนระบบงานที่ดีจากแฟรนไชส์ซอร์ น่าจะสะดวกกว่าและปลอดภัยกว่า

ประกอบกับในปัจจุบันไม่ว่ากรมสรรพากร หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้กำหนดมาตรฐานการทำบัญชีที่สูงขึ้น ธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปล้วนต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ต้องทำบัญชีและควบคุมสต็อคสินค้า วัตถุดิบ ฯลฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบสรรพากร จึงมีส่วนทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องมีระบบมาตรฐาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจในระบบแฟรนไชส์

9.การพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้นมากของเทคโนโลยีเพื่อใช้ในธุรกิจ

ทำให้ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือมีเครือข่ายที่กว้างขวางกว่าเท่านั้น ที่จะสามารถลงทุนหรือพัฒนาให้ตามทันเทคโนโลยีได้ จะเห็นได้ชัดว่าธุรกิจทั้งขายสินค้าหรือบริการในปัจจุบัน หากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า  มักจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่า เพราะอาจตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าหรือบริการได้สะดวกรวดเร็วกว่า เทคโนโลยีในด้านการผลิตก็เช่นกัน

อุปกรณ์เครื่องมือบางชนิดมีราคาสูง ซึ่งแฟรนไชส์ซอร์อาจจะช่วยจัดหามาให้ได้ง่ายกว่าไปหาซื้อเอง (เช่น เตาย่างไก่ย่าง ราคากว่าสี่แสนบาท, เตาทอดอาหาร ราคาหลายหมื่นบาท) หากผู้ประกอบธุรกิจจะไปทดลองผิดทดลองถูกจัดหาเองอาจเกิดการเสียหายได้มาก และเครื่องมืออำนวยความสะดวกใหม่ๆ ก็มีออกมาตลอดเวลา บางอย่างก็สามารถที่จะใช้ร่วมกันในหลายๆ ธุรกิจประเภทเดียวกันได้ เช่น อุปกรณ์ในการช่วยเช็คสต็อค หรืออาจใช้ระบบการผลิตวัตถุดิบครั้งละมากๆ จากโรงงานส่วนกลาง แล้วส่งโดยระบบแช่แข็งแทนที่ทุกสาขาต้องผลิตเอง เช่น กรณีร้านเบเกอรี่ ร้านขนมหรืออาหารบางประเภท ฯลฯ ระบบแฟรนไชส์จะช่วยสนับสนุนได้ดีกว่าการทำธุรกิจธรรมดา

10.ความจำเป็นที่จะต้องตามให้ทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว


ภาพจาก goo.gl/HHAuC9

ทำให้ความสำคัญของงานด้านการวิจัยตลาดหรือผู้บริโภคในอนาคตมีความสำคัญมาก หากเป็นเพียงผู้ประกอบการขนาดเล็ก ต้นทุนในการศึกษาวิจัยจะเป็นต้นทุนที่สูงมาก ระบบธุรกิจแบบแฟรนไชส์จึงมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบกิจการโดยแฟรนไชส์ซอร์อาจจะช่วยเหลือทำวิจัยหรือส่งข้อมูลผลการวิจัย ตลอดจนการให้การฝึกอบรมหรือการให้ข้อมูลความรู้ที่จำเป็นแก่แฟรนไชส์ซี เพื่อให้สามารถทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและตอบสนองความต้องการได้ดีและเร็วขึ้น
 
เหล่านี้เป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่ง ที่จะสนับสนุนให้ผู้สนใจในการทำธุรกิจให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจในระบบแฟรนไชส์มากขึ้น หากจะกล่าวว่าในอนาคตการทำธุรกิจที่ประกอบกิจการเพียงลำพัง โดยไม่มีทุนหรือความรู้ที่มากพอ ย่อมจะดำรงธุรกิจในภาวการณ์แข่งขันได้ยาก ก็คงจะไม่ผิดหากจะกล่าวเช่นนี้

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะได้ใช้ข้อได้เปรียบต่างๆ ที่ธุรกิจแฟรนไชส์ดีกว่าธุรกิจธรรมดา ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยในระบบแฟรนไชส์มีสัดส่วนมากขึ้น  ดั่งเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทั้งในระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย ผู้บริโภค ฯลฯ ที่สังคมไทยแตกต่างจากสังคมตะวันตกบางประการ ก็อาจมีส่วนทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยไม่สามารถขยายตัวได้รวดเร็วเท่าที่ควร
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ตู้น้ำด่างRO SAFE ธุรกิจน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ! ติดต..
2,512
10 แฟรนไชส์ขายดี สงกรานต์ 2568
537
ไม่แก่เกิน! 60+ ลงทุนแฟรนไชส์อะไรดี?
452
จัดให้! รวม 10 แฟรนไชส์สายเครื่องดื่ม หน้าร้อนนี..
448
บุกไทยแล้ว! แฟรนไชส์ Fish With You ร้านอาหารจีนต..
425
ระวัง! แฟรนไชส์จีนเต้าหู้ ระเบิดเวลาที่นักลงทุนไ..
424
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด