3.3K
24 กรกฎาคม 2549
" แฟรนไชส์ Returns " 
 
 
 
กระแสการเป็นเจ้าของกิจการ (Entrepreneur) ได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ยังไม่แตก แต่การเริ่มต้นธุรกิจใหม่สำหรับคนที่เป็นลูกจ้างมืออาชีพมาตลอดชีวิต ไม่เคยทำธุรกิจของตนเองมาก่อนไม่ง่ายนัก ไม่ใช่มีเงินทุนแล้วจะสามารถทำธุรกิจได้

ดังนั้นในช่วงดังกล่าวการลงทุนทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ จึงได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น เพราะเป็นทางลัดในการเป็นเจ้าของกิจการ จนมีการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศมากมายและ ยังมีการก่อตั้งสมาคมหรือชมรมเกี่ยวกับแฟรนไชส์ขึ้นในเมืองไทยอีกด้วย
 
ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้ามาในเมืองไทยในช่วงนั้นมีทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการ ธุรกิจด้านการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป หรือจากในแถบเอเชียก็ตาม นอกจากนี้ยังมีแฟรนไชส์ที่เป็นของคนไทยด้วยจำนวนหนึ่ง
 
 
 
จากกระแสความอยากเป็นเจ้าของกิจการดังกล่าว ทำให้มีคนไทยตัดสินใจลงทุนซื้อแฟรนไชส์มาดำเนินการหลายพันราย โดยมีเหตุผลคล้ายๆกันก็คือ คิดว่าการลงทุนโดยแฟรนไชส์จะช่วยให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น เพราะเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) น่าจะมีระบบในการดำเนินงานที่มีมาตรฐาน และมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจดังกล่าวมากกว่า อีกทั้งชื่อเสียงของร้านหรือสินค้า (Brand) ที่ดี น่าจะช่วยให้ขายได้มากขึ้นกว่าการเปิดร้านด้วยตนเอง เหตุผลข้างต้นฟังดูแล้วน่าจะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไปได้ดีในเมืองไทย

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น ระหว่างปี 2538 ถึงปี 2542 ช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่ขยายตัวเต็มที่ และแตกออกเป็นเสี่ยงๆ กระจายไปทั่วเอเชียนั้น ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยก็เริ่มปิดกิจการลงราวกับใบไม้ร่วง มีข้อพิพาทเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของร้านหนังสือดอกหญ้าที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) รวมตัวกันเป็นกลุ่มดอกหญ้าแฟรนไชส์ เพื่อสั่งซื้อหนังสือจากผู้ผลิตหนังสือเองโดยไม่ผ่านเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) หรือกรณีของร้านอินเตอร์สุกี้ ซึ่ง Franchisee รายหนึ่งหันมาสร้างตราของตนเองและ ปัจจุบันได้ขายแฟรนไชส์ไปยังประเทศญี่ปุ่นแล้วเป็นต้น 
 
 
 
ปัจจุบันบางคดียังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าใครเป็น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์หรือ Franchisor กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือ Franchisee เราซึ่งเป็นคนนอกคงไม่สามารถบอกได้ว่าใครผิดหรือใครถูก แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งสรุปสาเหตุในการล้มเหลวของธุรกิจแฟรนไชส์ รวบรวมโดย FT Consulting ระบุไว้ว่าความล้มเหลวในธุรกิจแฟรนไชส์เกิดขึ้นจากปัจจัย 3 ประการ
 
1 ปัจจัยภายนอก (ร้อยละ 25) การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือกฎระเบียบทางสังคมต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือสภาวะเศรษฐกิจเป็นต้น 

2 Franchisees (ร้อยละ 25)
การเลือกทำเลที่ไม่ดี ไม่รักษามาตรฐานในการดำเนินงาน ไม่ปฏิบัติตามระบบ ไม่เอาใจใส่ในการดำเนินงานหรือไม่เรียนรู้เพิ่มเติมเป็นต้น 

3 Franchisors (ร้อยละ 50) การขาดระบบการดำเนินงานที่ดี การไม่รักษาสัญญาที่ให้กับลูกค้า ไม่ให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหา ไม่ยอมรับความคิดเห็นของ Franchisee ขาดการส่งเสริมทางการตลาด ไม่มีการควบคุมมาตรฐานการดำเนินงานที่ดีเป็นต้น 
 
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าความล้มเหลว ของธุรกิจแฟรนไชส์ครึ่งหนึ่งเกิดจากผู้ขายแฟรนไชส์เอง ดังนั้นกระแสความนิยมทำธุรกิจใน รูปแบบแฟรนไชส์ของคนไทยจึงหมดไปพร้อมกับฟองสบู่แตก อย่างไรก็ตาม หลังจากฟองสบู่แตก ลูกจ้างมืออาชีพ หรือพนักงานในหน่วยงานเอกชนต่างๆ ถูกไล่ออกเป็นจำนวนมาก คนที่โชคดีไม่ถูกไล่ออกก็ต้องถูกลดเงินเดือน

ทำให้คนไทยเริ่มเห็นความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน และให้ความสนใจในการสร้างกิจการของตนเองมากขึ้นกว่าช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ แต่รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นด้วยตนเอง ประกอบกับการส่งเสริมของภาครัฐในเรื่องการสร้างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการอบรมให้ความรู้ในการทำธุรกิจแขนงต่างๆ ทำให้หลายธุรกิจของคนไทยได้มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต จนแข็งแรงขึ้นในปัจจุบัน
 
 
 

From Buy to Build 
แนวโน้มการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศของคนไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่แนวโน้มในการขายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศของคนไทยเริ่มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจอาหารซึ่งคนไทยมีความเชี่ยวชาญ และมีความได้เปรียบในแง่ของวัตถุดิบที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ชื่อเสียงของอาหารไทยที่ได้รับการยกย่อง ว่าเป็นหนึ่งในห้าของอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก ยังช่วยให้อาหารไทยขยายตัวไปยังต่างประเทศรวดเร็วยิ่งขึ้น 
 
COCA ถือได้ว่าเป็นร้านอาหารไทยยุคบุกเบิกที่เริ่มต้นขายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันสาขาของร้านสุกี้โคคาในต่างประเทศมีมากกว่าสาขาในประเทศไทยด้วยซ้ำ และนอกจากนี้โคคายังขยายไลน์ธุรกิจอาหารจากสุกี้เป็นร้านอาหารไทยภายใต้ชื่อ Mango tree และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดไทยภายใต้ชื่อ Mango Chili อีกด้วย
 
MK เจ้าแห่งสุกี้ของเมืองไทยขยายสาขาไปยังต่างประเทศมาหลายปีแล้ว โดยขยายไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก แต่การขยายในครั้งนั้นยังไม่เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ที่สมบูรณ์ MK เริ่มขยายธุรกิจแฟรนไชส์อย่างจริงจังที่ประเทศสิงคโปร์ โดยขายให้กับกลุ่มนักธุรกิจที่สิงคโปร์เจ้าของร้านอาหาร Thai Village ซึ่งเป็นร้านขายหูฉลามและเป็นร้านอาหารที่จดทะเบียน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ 
 
Black Canyon Coffee ร้านกาแฟและอาหารไทย ที่ขายแฟรนไชส์แห่งแรกให้กับ นักลงทุนชาวสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับเจ้าของร้านอาหาร Thai Village ที่ซื้อแฟรนไชส์ MK และขายแฟรนไชส์ที่สองให้กับนักลงทุนชาวมาเลเซีย โดยสาขาแรกที่เปิดดำเนินการไปนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมนูเด็ดอย่าง ต้มยำกุ้ง ที่คนสิงคโปร์ซดจนหยดสุดท้าย หรือผัดไทยที่อร่อยกว่าหมี่ผัดของสิงคโปร์ และกาแฟแบบไทยก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ Starbucks หรือ Coffee Bean and Tea Leaf (อ่านล้อมกรอบ Black Canyon)
 
AKIKO ร้านขายขนมทานเล่น เช่น ผลไม้แช่อิ่ม ขนมปังกรอบ ก็ไปได้ดีในเกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ AKIKO ต่างจากร้านอื่น ๆ คือ AKIKO จะการส่งสินค้าสำเร็จรูปทั้งหมดไปขายยังร้าน แฟรนไชส์ในต่างประเทศหรือเสมือนการเป็นผู้ส่งออกสินค้านั่นเอง
 
The Pizza Company ร้านพิซซ่าของประเทศไทยที่เป็นของไมเนอร์กรุ๊ป ผู้ที่คร่ำหวอด อยู่ในวงการแฟรนไชส์หลายประเภทก็เริ่มขายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศแล้ว โดยมีแผนจะไปเปิดที่ประเทศจีนด้วย นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารของคนไทยอีก หลายร้านที่กำลังเตรียมตัวขายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นร้านในกลุ่ม OISHI, DAIDOMON, NEO SUKI และกลุ่ม CP ก็สนใจที่จะลงมาเล่นในธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสาขาตัวอย่างในไทย เช่น ร้านบัวบาน 
 
 
 
 
ที่มา: นิตยสารแบรนด์เอจ 
 
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
963
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
662
“เติมพลังความรู้” กับ ..
595
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
565
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
558
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
521
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด