8.2K
2 ตุลาคม 2552

เซเว่นฯผูกมิตร "โชห่วย" มองข้ามชอตเพิ่มสัดส่วนแฟรนไชส์

 
เดินทางมาครบ 5 ครั้งแล้ว สำหรับการจัดงานสัมมนา "ทำโชห่วยให้รวยอย่างยั่งยืน" ที่จัดโดยกรมการค้าภายในและเซเว่นอีเลฟเว่น โดยสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นคิวของจังหวัดระยองและใกล้เคียง ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการโชห่วยราว 200 คน

หัวข้อหลักในการสัมมนา เน้นให้ผู้ประกอบโชห่วยเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยให้มองเซเว่นฯเป็นต้นแบบการบริหารจัดการ แทนที่จะคิดว่าเป็นคู่แข่งเหมือนในอดีต เพราะเซเว่นฯได้ประกาศปรับโพซิชั่นนิ่งใหม่เป็น "ร้านอิ่มสะดวก" ที่จะไม่แย่งลูกค้ากับโชห่วยอีกต่อไป

"นริศ ธรรมเกื้อกูล" ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ ซีพี ออลล์ ได้มอบอาวุธหลักให้โชห่วย ด้วยหลัก 4 ข้อ

ได้แก่การสร้างคุณค่า (Value) ให้ร้าน เลือกขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของชุมชน และสินค้านั้นต้องแตกต่างจากร้านอื่น ๆ หรือหายาก (Rare) ใช้ต้นทุนไม่สูงมาก (Costly to limited) และคนอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้ (Hard to Substitute)

พร้อมเทคนิคการบริหารจัดการค้าปลีกทันสมัยแบบหมดเปลือก รวมทั้งกลยุทธ์การยึดลูกค้าเป็นที่ตั้ง การวางตำแหน่งทางการตลาด คอนเซ็ปต์ ที่ชัดเจนของธุรกิจ ทำเล การจัดการ ภายในร้าน แม้กระทั่งสูตรการบริหาร สต๊อกของแห้ง แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักการตลาดทั่วไป แต่ก็เป็นหัวข้อที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการโชห่วย
 

ขณะที่ "ตัน ภาสกรนที" กรรมการ ผู้จัดการ โออิชิ กรุ๊ป วิทยากรรับเชิญ ได้เผยเคล็ดลับการชนะใจลูกค้า ด้วยการทำในสิ่งที่เกินความคาดหมายอยู่เสมอ

"ถ้าอยากจะชนะใจลูกค้า เราต้องใจป้ำ ยิ่งถ้ามาถูกทางแล้ว ก็ต้องทุ่มทุนให้มาก ยกตัวอย่างแคมเปญไปแต่ตัว ทัวร์ยกแก๊ง ที่สามารถเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้ เพราะให้ในสิ่งที่ลูกค้าคาดไม่ถึง และไม่คิดว่าจะให้มากขนาดนี้"

ส่วน "พันธ์รบ กำลา" ประธานกรรมการผู้จัดการ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว แนะเคล็ดลับตั้งแต่การตั้งชื่อแบรนด์ และแนวทางการสร้างแบรนด์ ซึ่งต้องใช้จินตนาการควบคู่ไปด้วย พร้อมประวัติความเป็นมาของทั้ง "โออิชิ" และ "ชายสี่หมี่เกี๊ยว" ที่ล้มลุก คลุกคลานมาหลายตลบ กว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนทุกวันนี้

งานนี้จึงช่วยสร้างแรงบันดาลใจและบิลด์อารมณ์ให้ผู้ประกอบการโชห่วยกลับมาหึกเหิม พร้อมสู้ในสนามค้าปลีกอีกครั้ง

เหตุผลที่เซเว่นอีเลฟเว่นหันมายื่นมือช่วยเหลือโชห่วย จัดสัมมนาเผยเคล็ดลับความสำเร็จอย่างหมดเปลือก นอกจากจะสลัดภาพในอดีตที่เคยเป็นคู่แข่งกันแล้วยังสอดคล้องกับแผนขยายธุรกิจแฟรนไชส์ที่ เซเว่นฯตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 60% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 45%

โดยเป้าหมายในการขยายแฟรนไชส์จะเน้นนักธุรกิจรายใหม่มากกว่าแฟรนไชซีเดิม

"ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล" กรรมการผู้จัดการ ซีพี ออลล์ เปิดเผยถึงข้อดีของการขยายแฟรนไชส์ว่า ทำให้การทำงานของบริษัทคล่องตัวขึ้น เพราะแฟรนไชซีจะเป็นผู้บริหารจัดการร้านเอง ขณะเดียวกัน บริษัทก็จะสามารถให้เวลากับการสร้างประสิทธิภาพด้านยอดขายและกำไรต่อสาขาได้อย่างเต็มที่

ที่ผ่านมา เซเว่นฯได้ปรับเงื่อนไขการเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ให้ง่ายขึ้น ทั้งการเพิ่ม รูปแบบการลงทุนที่มี 2 โมเดล กล่าวคือลงทุน 500,000 บาท ระยะเวลาอนุญาต 6 ปี กับลงทุน 1.7 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี

หรือแม้กระทั่งการการันตียอดขายด้วยการให้ผู้สนใจลงทุนเลือกซื้อแฟรนไชส์จากสาขาที่ประสบความสำเร็จแล้ว โดยไม่ต้องมีทำเลมาเสนอ มอบทั้งอาวุธ ทั้งเงื่อนไขดี ๆ แบบนี้ ไม่เข้าตา "โชห่วย" กันบ้าง ให้มันรู้ไป !
 

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
5,583
PLAY Q by CST bright u..
1,216
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
940
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
931
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
784
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
757
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด