3.5K
2 กรกฎาคม 2552
ตีตราแฟรนไชส์ไทย ยกระดับสู่สากล-ป้องถูกหลอก 
 
 
 
กรมพัฒน์ตีตราแฟรนไชส์ไทยของแท้ คลอดเกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์แล้ว ผู้ประกอบการกว่า 400 รายทยอยเข้ารับการประเมินแล้ว 80 ราย ชี้จุดเด่นสร้างความเชื่อมั่นผู้ลงทุนของแท้ไม่ใช่ของเทียม ดันสู่ตลาดโลกได้ง่าย พร้อมเป็นข้อมูลชั้นดีให้กับสถานบันการเงินพิจารณาปล่อยกู้ สร้างการรับรู้ผ่านแอมบาสเดอร์แฟรนไชส์ระดับนักศึกษามุ่งสร้างความรู้และขยายฐานสู่แฟรนไชซอร์ในอนาคต
      
ขณะที่การรอคอยกฎหมายแฟรนไชส์ เพื่อนำมาใช้เป็นกฎควบคุมและมีผลบังคับใช้ผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายระบุนั้นดูจะริบหรี่และห่างไกลออกไปเท่าใด กลับเป็นตัวเร่งให้กับ 'เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์' ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่มาตรฐานสากล กลับมีความคึกคักและเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ ภายใต้กระแสข่าวการหลอกลวงผู้บริโภคเข้ามาลงทุนสร้างเครือข่ายในรูปแบบ แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์ข้าวสาร แชร์นกกระจอกเทศ เป็นต้น


 
       
ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานรัฐได้ทำหน้าที่ในการยกระดับพัฒนาผู้ประกอบการแฟรนไชส์ผ่านโครงการอบรมต่างๆ โดยเฉพาะ B2B ที่ปัจจุบันดำเนินมาเป็นรุ่นที่ 11 แล้ว ได้ใช้เวลากว่า 10 ปี รวบรวมความรู้ เก็บรายละเอียดผู้ประกอบการ ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการวัดระดับมาตรฐานแฟรนไชส์ไทยที่เกิดขึ้น
      
จนล่าสุดกรมพัฒน์ และศูนย์วิจัยพัมนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล (IRF) และบริษัท อินเตอร์เทค จำกัด ได้นำมาตรฐานความพร้อมของผู้ประกอบการไทยด้านต่างๆ ของแฟรนไชส์ ผนวกเข้ากับเกณฑ์การพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยเทียบเคียงในระดับสากลนั้น ออกมาเป็น 'คู่มือการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์' และ 'คู่มือการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์'
       
'4-5 ปีหลังมานี้กรมพัฒน์ทำงานอย่างหนัก เสริมศักยภาพผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยทั้งความรู้ การบริหารจัดการให้เป็นระดับสากลเพื่อเกิดการยอมรับ ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานและพัฒนาความรู้ผ่านแต่ละระดับอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับกูรูด้านแฟรนไชส์สร้างเกณฑ์มาตรฐานขึ้น เพื่อวัดมาตรฐานแฟรนไชส์ไทยและเป็นการเตรียมความพร้อมเปิดรับกับการค้าเสรีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว



 
ปัจจุบันนี้เกณฑ์มาตรฐานแล้วเสร็จแล้ว และเตรียมสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติจริง และนำเครื่องมือมาประเมินผลแฟรนไชซอร์มีคุณสมบัติตามเกณฑ์หรือไม่ พร้อมคู่มือการประเมินด้วยตนเองและคู่มือประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดอับดับการพัฒนาธุรกิจที่สูงขึ้น' สุทธิศักดิ์ เลาหชีวิน รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ข้อมูล
      
เกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่มุ่งในหลายด้าน โดยเฉพาะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างหนึ่งในการสร้างความมั่นใจต่อผู้ที่จะเข้ามาลงทุนกับผู้ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว อย่างน้อยๆ สื่อถึงความเป็นแฟรนไชส์และไม่ใช่แฟรนไชส์ ยังรวมถึงการผลักดันสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย
      
ทั้งนี้ 'สมชาติ สร้อยทอง' ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ที่กรมพัฒน์ได้จัดอบรมต่างๆ ขึ้นนั้นได้สร้างผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยกว่า 400 ราย แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเป็นการเพิ่มปริมาณมากกว่าคุณภาพอย่างแท้จริง ส่งผลต่อการขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพราะยังขาดความพร้อมในหลายด้านหรือมีเพียง 5% ของผู้ที่ผ่านการอบรมเท่นั้นที่สามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้
      
ฉะนั้นการมีเกฎฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์และการพัฒนาแฟรนไชส์เข้าตามเกณฑ์มาตรฐานนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเกณฑ์ดังกล่าวได้อิงคุณภาพมาตรฐานอย่าง TQA (Thailand Quality Award ) เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นรวมถึงปรับปรุงวิธีการดำเนินงานให้แข่งขันได้ในเวทีโลก
       
'พีระพงษ์ กิตติเวชโภคาวัฒน์' ผู้อำนวยการศูนย์ IRF มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยจำนวน 80 รายได้ยื่นสมัครเพื่อเข้ารับการประเมินเกณฑ์มาตรฐานแล้ว กระบวนการตรวจประเมินผู้ประกอบการรายนั้นๆ ผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ 8 ท่าน คาดใช้เวลาต่อรายประมาณ 2 เดือน และสามารถมอบตราสัญลักษณ์ได้ในปี 2553 ซึ่งการตรวจประเมินนั้นจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.เริ่มต้น 2.ขยายงาน 3.เติบโตและ 4.พร้อมสมบูรณ์ในทุกด้าน และสำหรับผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์นั้น ยังคงติวเข้มต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยยึดถือว่าเกณฑ์ที่จัดทำขึ้นนั้นมีไว้สำหรับพัฒนาไม่ได้มีไว้จับผิด และอายุของเกณฑ์มาตรฐานจะประเมินกันทุกๆ 2 ปี
      
ซึ่งที่ผ่านมาความรู้ที่กรมพัฒน์จัดทำขึ้นผ่านการอบรมต่างๆ มุ่งให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการเป็นหลัก เกณฑ์ดังกล่าวจะมาดูถึงการผลักดันสู่กลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างไร และมีจุดอ่อนใดที่จะพัฒนาขึ้นได้ พร้อมการเรียนรู้การบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ๆ ความพร้อมด้านต่างๆ เช่น บุคลากร และแก้ไขจุดอ่อนที่เกิดขึ้น
      
พีระพงษ์ ยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการได้ตราสัญลักษณ์นี้ว่า อับดับแรกสามารถการันตีคุณภาพแฟรนไชส์รายนั้นๆ ในทุกด้านทั้งการบริหารจัดการ การตลาด บุคลากร การเงิน ฯลฯ เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเข้ามาลงทุนของผู้สนใจ
      
พร้อมทั้งเป็นเครดิตของผู้ประกอบการรายนั้นๆ ให้กับสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อ เพราะสามารถใช้ข้อมูลทั้งหมดในทุกด้านมาประเมินก่อนการปล่อยสินเชื่อได้ เพราะการให้สินเชื่อกับธุรกิจแฟรนไชส์นั้นจะแตกต่างกับการปล่อยกู้ธุรกิจทั่วไป ด้วยเม็ดเงินที่สูงในเบื้องต้นเพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนาธุรกิจก่อนที่จะขยายแฟรนไชส์และขายแฟรนไชส์ในสาขาต่อๆไป
      
นอกจากนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับบุคคลทั่วไปได้รับรางวัลสูงสุด 30,000 บาท และจัดประกวดแอมบาสเดอร์แฟรนไชส์จากนักศึกษา 8 สถาบัน เพื่อเป็นตัวแทนสร้างการรับรู้ของโครงการและความรู้เรื่องแฟรนไชส์กับบุคคลทั่วไป รวมถึงการขยายฐานความรู้ธุรกิจแฟรนไชส์ไปยังกลุ่มเยาวชนเพื่อเป็นผู้ประกอบการแฟรนไชสซอร์ที่ดีในอนาคต


ความสำคัญระบบการประเมิน 'มาตรฐานแฟรนไชส์'
  1. ก่อให้เกิดการดำเนินงานของธุรกิจด้านแฟรนไชส์เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น
  2. ขั้นตอนการดำเนินงานทางธุรกิจแฟรนไชส์เป็นไปอย่างดีไม่มีการออกแบบธุรกิจที่ก่อให้เกิดอุปสรรคปัญหาของภาพรวม
  3. ก่อให้เกิดระบบการตรวจสอบผลกระทบจากการดำเนินงานของธุรกิจแฟรนไชส์ทุกระดับ
  4. ก่อให้เกิดการวางแผนการดำเนินการของธุรกิจแฟรนไชส์แบบมหภาค และยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างผู้ลงทุนในระบบและเจ้าของธุรกิจที่เป็นแฟรนไชซอร์ 
  5. ก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ บรรลุเป้าหมายที่กำหนด 

อ้างอิงจาก ผู้จัดการรายสัปดาห์
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
1,001
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
677
“เติมพลังความรู้” กับ ..
600
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
573
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
562
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
524
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด