แคนดูทุ่มงบลุยตลาดร้าน 100 เยน
ร้านแคน ดู ลุยตลาดร้าน 100 เยน 1,200-1,500 ล้าน ทุ่มงบ 50-60 ล้านเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอีก 6-7 แห่ง เตรียมพร้อมเปิดขายแฟรนไชส์ครึ่งปีหลัง ประเดิมปีแรก 4-5 แห่ง สร้างการเติบโต 30% พร้อมปรับพอร์ตสินค้าจับตลาด 3 กลุ่มหลัก แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ และนักศึกษา
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านค้าปลีก 100 เยนแบรนด์แคน ดู (Can Do) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2560 ว่า ได้เตรียมขยายสาขาเพิ่มอีก 6-7 แห่ง โดยตรียมใช้งบลงทุน 50-60 ล้านบาท หรือประมาณ 10-11 ล้านบาทต่อสาขาขึ้นอยู่กับพื้นที่ จากปีที่ผ่านมาเปิดร้านแคน ดูได้ 6 แห่ง
ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่าย ยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดเมืองไทย ทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เช่นกัน
สำหรับรูปแบบร้านที่จะขยายในปีนี้ มุ่งเน้นรูปแบบร้านที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ให้กับร้านได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบสแตนด์อะโลน หรือขยายในพื้นที่คอมมิวนิตีมอลล์
เนื่องจากคาดว่าจะตอบโจทย์คนไทยได้มากกว่า ซึ่งจะมีพื้นที่ร้านประมาณ 160-200 ตารางเมตรต่อสาขา โดยในปีนี้จะเปิดสาขาที่ 7 ที่คอมมิวนิตีมอลล์ ลิตเติ้ลวอร์ค ย่านบางนา ที่คาดว่าจะใช้สาขาดังกล่าวเป็นสาขาต้นแบบ สำหรับใช้ในการขายแฟรนไชส์ต่อไปด้วย
นายอารักษ์ กล่าวว่า ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป บริษัทน่าจะเริ่มเปิดขายแฟรนไชส์ร้านแคน ดูได้ โดยที่ผ่านมามีผู้สนใจสอบถามและติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก
แต่บริษัทต้องการเซตระบบและมีสาขาร้านต้นแบบก่อนจึงจะเปิดขายแฟรนไชส์ คาดว่าจะเริ่มขายแฟรนไชส์ตั้งแต่ราคา 4 ล้านบาทไปจนถึง 10 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ร้าน ในปีแรกบริษัทคาดว่าจะขายแฟรนไชส์ได้ 4-5 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการจากจังหวัดหัวเมือง อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และพัทยา เป็นต้น
“ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับระบบการบริหารงานภายใน ปรับทีมงานบริหารงาน ที่นำผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเสริมการทำงาน จึงทำให้ในปีนี้บริษัทจะรุกตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสร้างการเติบโตให้กับร้านแคน ดูได้ 30% จากปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันการเปิดขายแฟรนไชส์ในปีนี้หากสำเร็จและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ น่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทอีก 10% ด้วย เพราะถือว่าในปีนี้ไม่มีปัจจัยลบ ไม่มีเหตุการณ์หรือข่าวร้ายอะไร การเมืองก็มีแนวโน้มที่ดี ราคาสินค้าการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างเช่น ราคายาง จึงมองว่าจะเป็นปีที่สดใสมากขึ้น”

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมปรับสัดส่วนสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตด้วย โดยจะนำเข้าสินค้ากลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพนักงานออฟฟิศ และนักศึกษาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันอย่างละ 30% และอีก 10% เป็นสินค้าอื่นๆ ที่จะเพิ่มเข้ามาโดยเฉพาะกลุ่มขนมและเครื่องสำอาง จากปีที่ผ่านมาได้ให้น้ำหนักสินค้ากลุ่มแม่บ้านเป็นหลักถึง 50%
แต่พบว่ายังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยเท่าไรนัก ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นถึง 95% และสินค้าผลิตในประเทศ 5% ซึ่งอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็น 20-30% โดยเฉพาะสินค้าขนม และสินค้าลิขสิทธิ์
นายอารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันตลาดร้าน 100 เยนในไทย มีผู้ประกอบการหลักที่ทำตลาดอยู่ด้วยกัน 3 แบรนด์ ซึ่งมีสาขารวมกันประมาณ 100 แห่ง มีมูลค่าตลาดรวม 1,200-1,500 ล้านบาท
ซึ่งตลาดมีโอกาสขยายตัวได้อีกจำนวนมาก และควรจะมีจำนวนสาขาประมาณ 250-300 แห่ง ตามสัดส่วนจำนวนประชากรไทยกว่า 70 ล้านคน โดยตลาดร้านสินค้า 100 เยนในปัจจุบันยังขยายตัวในอัตรา 2-3% เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนในปีนี้จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น จึงอาจจะขยายตัวได้ถึง 5-10%
อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ขอบคุณรูปภาพจาก www.facebook.com/CanDoTH