1.7K
18 สิงหาคม 2559
ความเชื่อมั่น SME ภาคใต้กระเตื้อง สวนภาคอื่นยังอ่อนแอ

 
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ไตรมาส 2/2559 ภาพรวมปรับตัวลดลง จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัวต่อเนื่อง ยกเว้นความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคใต้ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้นและการท่องเที่ยวที่ขยายตัว
 
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ (Head Economist) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี" (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 2/2559 จากความเห็นของผู้ประกอบการ SME 1,262 กิจการทั่วประเทศ สำรวจโดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ธนาคารทหารไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับลดลงอยู่ที่ 39.4 จาก 42.1 ในไตรมาสก่อน 
 
"เนื่องจากผู้ประกอบการทั่วประเทศกังวลภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงชะลอตัว และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งยังส่งผลกระทบกับรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของผู้ประกอบการ SME ในส่วนภูมิภาค" นายเบญจรงค์กล่าว
 
หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME เป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ปรับตัวลดลง เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งกระทบกับผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ลดลง ด้านพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และภาคตะวันออก

ดัชนีความเชื่อมั่นมีทิศทางลดลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อยถึงทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากภาวะกำลังซื้อที่ชะลอลง สำหรับภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นไตรมาสที่ 5 สวนทางกับภูมิภาคอื่น
 

เนื่องจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว ซึ่งเป็นรายได้หลักของพื้นที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดี แม้จะเริ่มเข้าสู่ช่วง Low season แล้ว
 
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 53.5 ลดลงจากระดับ 54.7 เนื่องจากผู้ผู้ประกอบการ SME กังวลเรื่องรายได้และการควบคุมต้นทุนของธุรกิจเนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศขาดปัจจัยบวกที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว
 
สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการ SME ทุกภูมิภาคกังวลมากเป็นอันดับที่ 1 คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการแข่งขัน ส่วนอันดับที่ 2 จะแตกต่างกัน กล่าวคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ยังกังวลกับปัญหาภัยแล้งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก และตามมาด้วยความกังวลด้านสภาพคล่องของธุรกิจตึงตัว
 

เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังหดตัวเพราะภัยแล้ง การท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วง Low Season และประมงบางพื้นที่ของภาคกลาง (จ.สมุทรสาคร) ได้รับผลกระทบจาก TIP และ IUU สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมถึง ภาคตะวันออก มีความกังวลรองลงมาในด้านสภาพคล่องตึงตัวและปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ตามลำดับ 
 
"ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวต่อไปในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากกำลังซื้อในภาพรวมของประเทศยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ราคาสินค้าเกษตรแม้จะปรับตัวขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปริมาณผลผลิตยังไม่กลับคืนสู่ระดับปกติ มีเพียงปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ และภาคท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางการเมืองยังมิใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME ด้วยเพราะยังมีความเสี่ยงรุมล้อมรอบด้านทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปรกติ" นายเบญจรงค์สรุป

อ้างอิงจาก  news.thaiquest.com

ขอบคุณรูปภาพจาก  http://goo.gl/Q9ScNR
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
992
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
672
“เติมพลังความรู้” กับ ..
599
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
573
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
561
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
523
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด