1.7K
16 มกราคม 2559
รายได้ 2-3 หมื่นไม่เสียภาษี


อธิบดีกรมสรรพากร” กัดฟันมิใช่ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมโกงภาษี แค่เดินหน้ากับผู้ประกอบการแม้เข้าเนื้อถึงหมื่นล้านบาท มนุษย์เงินเดือนปี 60 เตรียมเฮ “ประสงค์” ชงลดอัตรา-เพิ่มค่าลดหย่อน ผู้มีรายได้ 2-3 หมื่นบาท/เดือนลุ้นไม่เสียภาษี “สมคิด” อวยคลังทำหน้าที่ปลุกเศรษฐกิจได้ดี แต่กำชับให้สำรองมาตรการดูแล


นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้เปิดแถลงข่าวถึงพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ.2558 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ว่า ผู้ประกอบการนิติบุคคลที่รายได้ปี 2558 ไม่เกิน 500 ล้านบาทและจะเข้าโครงการ สามารถมาลงทะเบียนกับกรมสรรพากรตั้งแต่ 15 ม.ค.-15 มี.ค. หรือมีเวลา 60 วันพร้อมกับจดแจ้งการทำบัญชีเดียวกับกรมสรรพากร โดยจะได้รับการยกเว้นตรวจสอบภาษีย้อนหลังที่เกิดก่อนวันที่ 1 ม.ค.59 ทั้งหมด

นอกจากนี้ นิติบุคคลที่อยู่ระหว่างตรวจสอบการเสียภาษี เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หลีกเลี่ยงภาษีอากร หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีทางภาษีก่อนวันที่ 1 ม.ค.59 ก็สามารถมาลงทะเบียนเข้าโครงการได้ โดยกรมสรรพากรจะดำเนินการเฉพาะส่วนที่ตรวจสอบอยู่เดิมเท่านั้น จะไม่ตรวจสอบเพิ่มเติมจากที่ดำเนินการอยู่

"พ.ร.ก.นี้ไม่ใช่นิรโทษกรรมภาษี เพราะนิรโทษต้องเข้ามาแสดงตัวว่าผิดและเสียภาษีที่ค้างอยู่ให้ครบ และไม่ถูกดำเนินคดี แต่ครั้งนี้ไม่ต้องจ่าย ไม่ถูกเอาผิด เพราะกรมสรรพากรต้องการเดินไปข้างหน้ากับผู้เสียภาษี" นายประสงค์กล่าว

อธิบดีกรมสรรพากรระบุอีกว่า ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดเป็น 98% ของนิติบุคคลที่อยู่ในระบบภาษี ในจำนวนนี้เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทอยู่ 81% หรือ 3.4 แสนราย ส่วนนิติบุคคลที่ไม่ใช่เอสเอ็มอีแต่รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 8 หมื่นราย คาดว่าจะมีนิติบุคคลมาเข้าร่วมโครงการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังประมาณ 30% โดยนิติบุคคลที่เป็นเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการยังได้สิทธิพิเศษกำไรในปี 2559 ไม่ต้องเสียภาษี และกำไรในปี 2560 จะเสียภาษีเพียง 10% ส่วนเอสเอ็มอีที่ไม่เข้าร่วมโครงการจะไม่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าว

“การไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังและลดภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าโครงการ จะทำให้กรมเสียรายได้ 1 หมื่นล้านบาท แต่จะเก็บภาษีทางจริงและทางอ้อมได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้การเสียภาษีทางตรงมีโอกาสที่จะปรับลดลงไปได้อีก และในปี 2562 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำกับให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งอนุมัติสินเชื่อจากหลักฐานทางบัญชีของผู้ประกอบการที่เป็นบัญชีเดียวกันกับที่ยื่นกรมสรรพากร จะทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์กล่าวว่า นิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการ หากมีการกระทำผิดเลี่ยงภาษีในภายหลังอีก กรมจะยกเลิกสิทธิ์ที่ได้ตาม พ.ร.ก.ทั้งหมด และทำการตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลังตามปกติ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้องอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ไม่พร้อม ซึ่งหากบุคคลมีการทำธุรกรรมและไม่สามารถขอใบกำกับภาษีได้ ก็สามารถแจ้งให้กรมเข้าไปตรวจสอบได้

ด้าน ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงการออก พ.ร.ก.ยกเว้นภาษีดังกล่าวว่า การลดภาษีและการทำให้ต้นทุนการเลี่ยงภาษีสูงขึ้นอย่างชัดเจน หมายรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเข้มงวด จะได้ผลมากกว่าใช้นโยบายนิรโทษกรรมภาษี

อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมภาษีอาจทำให้ระบบการจัดเก็บมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บ อาจสร้างแรงจูงใจให้ SME ทำบัญชีให้ตรงข้อเท็จจริงมากขึ้น หาก SME เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นจริง รัฐจะมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น ไม่ลดลง แต่หากมาตรการนิรโทษกรรมไม่ได้ผล ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท ต้องลองดู เพราะตอนนี้ยังยากที่จะประเมินว่า SME จะตอบสนองต่อการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมภาษีนี้อย่างไร

"ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี 4 แสนรายนี้ คิดเป็นรายใหญ่กว่า 3 พันราย และหากคิดเป็นกรอบรายได้เกิน 300 ล้านบาทต่อปี จะหักไปอีก 10-15% จะเหลือกว่า 3 แสนรายที่เป็นเอสเอ็มอีจริงๆ และถ้าตีกรอบในกลุ่มที่ขอให้นิรโทษกรรมภาษีจะกินพื้นที่ถึง 96% และกลุ่มนี้ทั้งหมดได้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ใช่ประเด็นที่อ้างว่า หากลดภาษีหรือนิรโทษกรรมภาษีจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการศึกษาของไอเอ็มเอฟระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 9% ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปมีสัดส่วนสูงถึง 28% ประโยชน์ของการนิรโทษกรรมภาษีในประเทศที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในระบบ VAT ในอัตราสูงอยู่แล้วจะมีเพดานจำกัด" ดร.อนุสรณ์กล่าว

เตรียมหั่นภาษีบุคคล

นายประสงค์ยังกล่าวว่า เตรียมเสนอแนวทางการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และจะให้มีผลบังคับใช้สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2560 ที่จะยื่นแบบและเสียภาษีในปี 2561 โดยสาระสำคัญคือ จะทำให้ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดามีภาระลดลง มีความสุขในชีวิตมากขึ้น โดยจะลดอัตราภาษี เพิ่มการหักค่าใช้จ่ายเหมารวมที่ปัจจุบันได้ 6 หมื่นบาท รวมถึงการพิจารณาค่าหักลดหย่อนในส่วนของบุตรจะไม่จำกัดจำนวนคน และการหักลดหย่อนอื่นๆ โดยจะมีเพดานกำหนดว่าหักลดหย่อนรวมได้ไม่เกินเท่าไร แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

"ปัจจุบันผู้มีรายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือนไม่มีภาระภาษีต้องเสีย แต่หลังลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาแล้ว จะทำให้ผู้มีรายได้มากกว่า 2 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน จะไม่มีภาระเสียภาษี โดยจะเสนอให้นายอภิศักดิ์พิจารณาตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง" นายประสงค์กล่าว

สำหรับปัจจุบันมีบุคคลธรรมดายื่นแบบชำระภาษีจำนวน 10 ล้านคน มีผู้เสียภาษีจริงประมาณ 6-7 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาท ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุด 35% อยู่ 1-2% ของผู้ที่ยื่นแบบทั้งหมด ซึ่งถือเป็นจำนวนไม่มาก และการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีรายได้มากและน้อยมากขึ้น นอกจากนี้ การปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะสอดคล้องกับอัตราภาษีนิติบุคคลที่เสียอยู่ 20% และเสียภาษีเงินปันผลอีก 8% รวมเป็น 28% ซึ่งหากลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 35% เหลือ 30% ก็จะมากกว่าภาษีนิติบุคคลธรรมดา 2% เท่านั้น

นายประสงค์ยังกล่าวถึงผลการเก็บภาษีในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 ว่าดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันที่ผ่านมา แต่การเก็บภาษีมูลค่า (แวต) จากน้ำมันและสินค้ายังต่ำกว่าเป้ามาก เนื่องจากราคาน้ำมันต่ำกว่าที่ประมาณการไว้มาก คาดว่าจะทำให้แวตน้ำมันในปีนี้หายไปกว่า 1 แสนล้านบาทเหมือนปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ก็ลดลงไปมาก เนื่องจากดอกเบี้ยในตลาดลดลง ส่วนมาตรการภาษีช็อปช่วยชาตินั้น ทำให้กรมเสียรายได้ 5 พันล้านบาท แต่คาดว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า เพราะจากการสำรวจยอดขายสินค้าในช่วงมาตรการเพิ่มขึ้นถึง 20-50%

วันเดียวกัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้เป็นประธานการประชุมติดตามงานและมอบนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง โดยภายหลังนายสมคิดกล่าวว่า ได้หารือถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป และพูดคุยถึงการเตรียมออกมาตรการต่างๆ ที่จะดำเนินการในปี 2559 โดยเชื่อว่ากระทรวงการคลังจะเป็นกำลังสำคัญช่วยดูแลประเทศไทย ดูแลการปฏิรูปได้เป็นอย่างดี

'สมคิด' อวย 'คลัง'

“ถือโอกาสปีใหม่มาขอบคุณที่กระทรวงการคลังได้ช่วยทำงานมาเยอะมาก ความมั่นใจทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็เพราะกระทรวงมาช่วยทำงาน” นายสมคิดระบุ

นายสมคิดยังกล่าวถึงการปฏิรูประบบภาษี ว่าอย่าไปมองในแง่ไม่ดี ทุกอย่างต้องมีขึ้นมีลง การที่เขาปรับเพราะมองแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมที่ดีขึ้น เราไม่สามารถมองทุกอย่างภายในระยะสั้นได้ ส่วนเรื่องที่ให้แนวนโยบายใหม่ในวันนี้ไม่สามารถบอกได้ทั้งหมด เพราะบางเรื่องยังคงเป็นความลับ แต่ในภาพรวมที่ให้แนวคิดไปนั้นก็เพื่อให้ช่วยกันพิจารณา หากอะไรทำได้ก็ขอให้ทำแล้วออกมาดี อะไรที่ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ส่วนเป้าหมายที่ตั้งไว้ยังคงเดิมคือการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ การทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถดำเนินการต่อไปได้ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และการทำให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง

“เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้นั้นเป็นโจทย์ที่ใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็จะต้องไปทำตัวเลข ในการทำงบประมาณสมดุลจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ภายในกี่ปี ซึ่งผมคำนวณโดยคร่าวๆ แล้วสามารถทำงบประมาณสมดุลได้ภายใน 7 ปี แต่ต้องไปดูให้ละเอียดเพื่อเป็นแนวทางในวันข้างหน้า” นายสมคิดกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเผยว่า นายสมคิดได้สั่งให้ สศค.เตรียมมาตรการดูแลเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องผลกระทบจากเศรษฐกิจภายในและนอก รวมถึงปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งซึ่งจะส่งผลให้รายได้เกษตรกรตกต่ำ และทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มที่ยังไม่ค่อยดี จึงให้มีการเตรียมมาตรการไว้ดูแลล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังได้ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งทำโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงดูแลการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการลงทุน รวมถึงการเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาให้กลับมาแข็งแรง

“นายสมคิดยังได้สั่งให้กรมสรรพากรเร่งปฏิรูปภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และสั่งให้กรมศุลกากรเร่งแก้ปัญหาทุจริตที่ยังมีจำนวนมาก รวมถึงสั่งให้กรมธนารักษ์เร่งดำเนินโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว.

อ้างอิงจาก  thaipost.net
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,194
PLAY Q by CST bright u..
1,325
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
947
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
945
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
794
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด