ผู้เชี่ยวชาญเตือนระวังแฟรนไชส์สร้างภาพหลอกลวง

เผยผลการวิจัยแฟรนไชส์ในไทย 505 บริษัท พบ 26 บริษัทเป็นกลุ่มเสี่ยง และไม่ถือว่าเป็นแฟรนไชส์ แต่เป็นเพียงธุรกิจแนะนำอาชีพเท่านั้น ชี้แฟรนไชส์ที่มีโอกาสสำเร็จควรลงทุนตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป ขณะเดียวกันยังพบแฟรนไชส์ที่ตั้งขึ้นเพื่อหลอกลวงประชาชน แนะผู้ลงทุนควรหาข้อมูลป้องกันถูกหลอก
นายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล คณะบริหารธุรกิจ ม.ศรีปทุม เปิดเผยผลการวิจัยธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยล่าสุด พบว่า ประเทศไทยมีบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งสิ้น 505 บริษัท แต่กลับพบว่า เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่แท้จริง 479 บริษัท ส่วนอีก 26 แห่ง เป็นเพียงธุรกิจแนะนำอาชีพ โดยเน้นขายอุปกรณ์และฝึกอบรมให้เท่านั้น แต่ไม่ได้ติดตามช่วยเหลือผู้ซื้อแฟรนไชส์แต่อย่างใด จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการลงทุน
ดังนั้นผู้ซื้อต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ 3 ด้าน ได้แก่ ต้องเป็นธุรกิจที่มีตราสินค้าแข็งแรงเพียงพอ ต้องมีทีมงานที่จะช่วยเหลือให้ประสบความสำเร็จ และต้องมีความเชี่ยวชาญและร้านต้นแบบ ทั้งนี้การวิจัยยังพบด้วยว่า แฟรนไชส์ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง จะต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 500,000 บาทขึ้นไป หากต่ำกว่านี้จะส่งผลให้รายได้และกำไรไม่เพียงพอ กับเงินที่ลงทุนไป ซึ่งหากเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ในต่างประเทศ จะมีความเชื่อถือจนสามารถกู้เงินจากธนาคารได้
ขณะเดียวกันยังพบว่า มีธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นมาคล้ายแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพ แต่มีจุดประสงค์เพื่อหลอกลวงประชาชน ดังนั้น ผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์จะต้องหาข้อมูลและสอบถามคนที่เคยซื้อแฟรนไชส์ยี่ห้อนั้นมากกว่า 3 ราย หรือจนกว่าจะมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม ปี 2552 คาดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยจะเติบโตเพียงร้อยละ 10 จากปกติมักจะโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20โดยในปี 2551 ที่ผ่านมา มีสาขาแฟรนไชส์ทั่วประเทศ 37,575 สาขา คิดเป็นมูลค่ากว่า 84,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6-7 ของระบบค้าปลีกเท่านั้น จึงมีโอกาสเติบโตได้อีก
และเชื่อว่าในปีนี้หากเศรษฐกิจฟื้นตัว ธุรกิจแฟรนไชส์ก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงแนะนำให้เจ้าของแฟรนไชส์ เร่งปรับปรุงคุณภาพและสร้างความแตกต่างรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย
อ้างอิงจาก สำนักข่าวไทย