2.4K
1 พฤศจิกายน 2558
ยัม แบรนด์ ลดเสี่ยง แตกบริษัทรับตลาดจีน ผันผวน


หลังจากส่งร้าน "เคเอฟซี" เข้าไปปักธงในกลางกรุงปักกิ่งเมื่อเดือน พ.ย. ปี 1987 (พ.ศ. 2530) หรือกว่า 28 ปีก่อน ซึ่งได้ทำให้ "ยัม แบรนด์" (Yum Brand) ถือเป็นฟาสต์ฟู้ดจากชาติตะวันตกรายแรกที่เข้าไปทำตลาดหลังม่านไม้ไผ่ของจีน จนปัจจุบันแดนมังกรมีสาขาเชนฟาสต์ฟู้ดของเครือยัมทั้ง "เคเอฟซี" และ "พิซซ่าฮัท" รวมกว่า 6,900 สาขา สร้างรายได้มากกว่าครึ่งของรายได้รวม 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่สูงขึ้น และสภาพเศรษฐกิจผันผวน กำลังบีบให้บริษัทต้องเร่งหาทางรับมือกับการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า "ยัม แบรนด์" ได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ด้วยการแยกหน่วยธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในจีน ออกไปเป็นบริษัทเอกเทศชื่อว่า "ยัม ไชน่า" (Yum China) มีฐานะเป็นแฟรนไชซีของ "ยัม แบรนด์" พร้อมถือสิทธิ์เอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ "เคเอฟซี" "พิซซ่าฮัท" และ "ทาโก้เบล" (Taco Bell) ในตลาดจีน โดยจะต้องหักเปอร์เซ็นต์ในจำนวนที่ไม่เปิดเผยจากยอดขายมาจ่ายเป็นค่าไลเซนส์ด้วย ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2016

ในส่วนของการบริหารองค์กรนั้น "มิกกี้แพลนท์" ซึ่งนั่งตำแหน่งซีอีโอของหน่วยธุรกิจในจีนมาตั้งแต่เดือน ส.ค. จะรับหน้าที่บริหาร "ยัม ไชน่า" ที่สำนักงานใหญ่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ต่อไป ส่วนหัวเรือใหญ่ของ "ยัม แบรนด์" ยังคงเป็น "เกรก ครีต" เช่นเดิม

"เกรก ครีต" ซีอีโอ ของ "ยัม แบรนด์" อธิบายการตัดสินใจครั้งนี้ว่า เป็นไปตามโรดแมปที่จะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจหันไปเน้นขายแฟรนไชส์เป็นหลัก โดยตั้งเป้าให้ร้านสาขาทั่วโลกอย่างน้อย 95% จะต้องมีแฟรนไชซีบริหาร และเป็นเจ้าของภายในสิ้นปี 2017 เพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงสร้างกระแสรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับธุรกิจ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเหล่าผู้ถือหุ้นไปพร้อมกันด้วย


"กลยุทธ์นี้กำลังเป็นเทรนด์มาแรงของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในการรับมือตลาดที่ผันผวนและแข่งขันสูง สะท้อนจากคู่แข่งอย่าง "แมคโดนัลด์" และ "เรสเตอร์รอง แบรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล" ผู้บริหารร้านเบอร์เกอร์คิงที่ต่างพยายามลดสัดส่วนร้านสาขาที่บริหารเองลงเช่นกัน"

ด้าน "คีท ไมสเตอร์" หนึ่งในบอร์ดบริหารของยัม แบรนด์ และผู้ผลักดันแนวคิดแยกบริษัทครั้งนี้กล่าวเสริมว่า นอกจากลดความเสี่ยงแล้ว การแยกหน่วยธุรกิจจีนออกไปยังเป็นการจูงใจบรรดานักลงทุนด้วยตัวเลือกระหว่างหุ้น "ยัม ไชน่า" ที่มีโอกาสเติบโตสูงและความเสี่ยงสูง กับหุ้น "ยัม แบรนด์" ที่เติบโตไม่หวือหวา แต่มีรายได้สม่ำเสมอ

สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ต่างมองว่า ผลงานของ "ยัม แบรนด์" ในจีนถดถอยติดต่อกันมานานกว่า 4 ปี จากที่เคยทำสถิติรายได้เติบโตถึง 35% แตะ 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงกำไรจากการบริหารที่โต 20% เป็น 908 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2011 แต่ปีที่แล้วตัวเลขรายได้จากตลาดจีนขยับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 6.9 พันล้าน ในขณะเดียวกันกำไรจากการบริหารกลับลดลงถึง 8% เหลือเพียง 713 ล้านเหรียญสหรัฐ

การถดถอยนี้เป็นผลจากหลายปัจจัยทั้งสภาพเศรษฐกิจ คู่แข่งท้องถิ่นที่เน้นกลยุทธ์ราคา และกรณีอื้อฉาวต่าง ๆ ของซัพพลายเออร์ รวมไปถึงแผนการตลาดที่ผิดพลาด เช่น พิซซ่าฮัทที่ตัดสินใจเปิดตัวเมนูราคาแพงในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคจีนกำลังต้องการความคุ้มค่าส่งผลให้ยอดขายลดลง หรือเคเอฟซีที่ไม่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ มานาน

อย่างไรก็ตาม "เกรก ครีต" ยังยืนยันว่า แม้จะมีการปรับโมเดลธุรกิจ แต่บริษัทยังเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดจีน และยังมีแผนทำตลาดอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายระยะยาวที่จะมีสาขาถึง 20,000 แห่ง

อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,215
PLAY Q by CST bright u..
1,329
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
947
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
945
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
794
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด