|
|
28 กันยายน 2558 |
แคนนอนผุดแฟรนไชส์กล้อง แท็กทีมคู่ค้าเปิดร้านบุกตจว.
ตลาดกล้องต่างจังหวัดเนื้อหอม "แคนนอน" เปิดแฟรนไชส์ "แคนนอน อิมเมจ สแควร์" ปักธงหัวเมืองหลัก ชูไลน์อัพ-บริการ-พนักงานครบตอบโจทย์ลูกค้าต่างจังหวัด
นายวรินทร์ ตันติพงศ์พาณิช รองประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ที่เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตลาดร้านจำหน่ายกล้องในหัวเมืองต่างจังหวัดที่ส่วนใหญ่ยังขาดสินค้าสำหรับทดลองและบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เมื่อเทียบกับดีมานด์ที่มีมาก ซึ่งไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมการเลือกซื้อกล้องที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการลองสินค้าก่อนตัดสินใจ
ล่าสุดได้นำโมเดล แฟรนไชส์ศูนย์บริการพรินต์รูปภาพและจำหน่ายกล้องและอุปกรณ์ "แคนนอน อิมเมจ สแควร์" (Canon Image Square) ที่เริ่มทดลองในอินเดีย ตั้งแต่ปี 2553 มาประยุกต์ใช้ในไทย โดยบริษัทจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการตกแต่งร้าน สินค้าสำหรับทดลองใช้ทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพ และพรินเตอร์ เครื่องล้างอัดภาพไปจนถึงกิจกรรมการตลาด การเทรนนิ่งพนักงาน และในอนาคตอาจมีโปรโมชั่นเฉพาะสำหรับช่องทางนี้เสริมเข้ามาเสริมด้วย

( ภาพจาก www.facebook.com/PhotobugChiangmai )
โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้เลือก บริษัท โฟโต้บัค จำกัด ดีลเลอร์รายใหญ่ในภาคเหนือ ซึ่งมีร้านโฟโต้บัค 2 สาขา เป็นแฟรนไชซีรายแรก โดยเปิดร้านในชื่อ "แคนนอน อิมเมจ สแควร์ บาย โฟโต้บัค" (Canon Image Square by Photo Bug) ที่ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เป็นร้านต้นแบบ
นายวรินทร์กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะขยายสาขาแคนนอน อิมเมจ สแควร์ อีก 2 สาขา ภายในเวลา 1 ปี เน้นพื้นที่หัวเมืองหลัก-รอง โดยจะเปิดสาขา 2 ที่ขอนแก่น ในระยะต่อไปคาดว่าขยายเพิ่มอย่างน้อย 1 สาขาต่อไตรมาส คาดว่าโมเดลนี้จะตอบโจทย์ผู้บริโภคและช่วยกระตุ้นการเติบโตสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ถ่ายภาพ และกลุ่มพรินเตอร์และอุปกรณ์พรีเซนเตชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะเปิดร้านแฟรนไชส์ดังกล่าว เบื้องต้นจะต้องจำหน่ายสินค้าแบรนด์แคนนอนเท่านั้น โดยช่วงแรกนี้จะคัดเลือกแฟรนไชซีจากดีลเลอร์แคนนอนในแต่ละพื้นที่ก่อน ส่วนรายละเอียดของร้านในแต่ละจังหวัดอาจแตกต่างกันตามสภาพตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคในท้องถิ่น

( ภาพจาก www.facebook.com/PhotobugChiangmai )
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดกล้องปีนี้มีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยกล้องคอมแพ็คที่เป็นฐานหลักของตลาดนั้นถูกสมาร์ทโฟนที่มีทั้งความคมชัดและฟังก์ชั่นแชร์ภาพไปยังโซเชียลมีเดียได้ง่ายเข้ามาแย่งตลาด ทำให้ภาพรวมของตลาดไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก แม้ว่าจะมีเซ็กเมนต์กล้องมิร์เรอร์เลสและดีเอสแอลอาร์ซึ่งมีการเติบโตอย่างมากเข้ามาช่วยทดแทน แต่ก็ยังเป็นฐานที่ยังไม่สูงมากนัก
อย่างไรก็ตาม ตลาดต่างจังหวัดซึ่งมีมูลค่ากว่า 40% ของตลาดรวมกล้อง หรือประมาณ 2,000 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง ที่มีกลุ่มลูกค้านักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจการถ่ายภาพจำนวนมากเข้ามากระตุ้นดีมานด์กล้องมิร์เรอร์เลส และคอมแพ็คระดับ ไฮเอนด์ให้สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้านจำหน่ายกล้องยังน้อยจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ
สะท้อนจากความเคลื่อนไหวของเชนร้านกล้องรายใหญ่อย่าง บิ๊กคาเมร่า และเวิลด์คาเมร่า ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต่างพยายามขยายสาขาจากเดิมที่กระจุกตัวใน กทม. ออกไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในช่องทางห้างสรรพสินค้า หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมือง เพื่อชิงพื้นที่สร้างฐานสำหรับทำตลาดในอนาคต เนื่องจากแม้จะมีการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยจำนวนผู้บริโภคกลุ่มกลาง-บนที่น้อยกว่า กทม.มาก ทำให้สัดส่วนเม็ดเงินจากต่างจังหวัดจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไปอีก 3-5 ปีหลังจากนี้
อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|