2.2K
16 สิงหาคม 2558
ค่าเงินดันต้นทุน "สินค้านำเข้า" พุ่ง เร่งเจรจาตปท.ยืดหยุ่น "ปรับค่าไลเซนส์-ยืดเครดิต"


"สินค้าหรู" กุมขมับค่าเงินบาทอ่อน "แฟชั่น-นาฬิกา-เครื่องใช้ไฟฟ้า-ฟาสต์ฟู้ด-ร้านอาหารอินเตอร์" ปรับกระบวนทัพรอบใหม่รับมือต้นทุนพุ่ง หลังเบื้องต้นขยับไปแล้ว 10% ตามอัตราแลกเปลี่ยน เร่งเจรจาบริษัทแม่ช่วยเหลือ

ขอตรึงราคานำเข้า-ปรับค่าไลเซนส์ตามค่าเงิน ชี้หมดสิทธิ์ปรับราคา เพราะกำลังซื้อยังไม่ขยับ แต่มองผลดี จูงใจทัวริสต์แห่ท่องเที่ยว-ช็อปปิ้งในไทย ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าส่งออกแปรวิกฤตเป็นโอกาส ทำตลาดต่างประเทศง่ายขึ้น

ค่าเงินบาทที่ทะยานสู่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างรวดเร็ว กำลังส่งผลกระทบถึงการทำ "ธุรกิจ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศ เพียงเวลาไม่กี่เดือนค่าเงินบาทได้อ่อนตัวไปร่วม 10% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ขณะที่แนวทางในการปรับขึ้นราคาสินค้าคงไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาที่กำลังซื้อที่ชะลอตัว แม้ว่าในทางกลับกันกลุ่มผู้ส่งออกจะมองว่านี่คือโอกาสในการเปิดรับออร์เดอร์ใหม่ ๆ ก็ตาม

ขอปรับค่าไลเซนส์ตามค่าเงิน


นายนาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี กรรมการบริหาร บริษัท มัดแมน จำกัด ผู้บริหารร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่, ดังกิ้น โดนัท ฯลฯ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันบริษัทมีแบรนด์ที่ได้สิทธิ์แฟรนไชส์จากสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น 3 แบรนด์ คือ ดังกิ้น โดนัท, บาสกิ้น รอบบิ้นส์ และโอบองแปง นอกจากเรื่องต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวยังทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ารอยัลตี้ฟีที่คิดจากเปอร์เซ็นต์ของยอดขายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


"ปกติเราต้องจ่ายค่ารอยัลตี้ฟีให้กับบริษัทแม่ทุกเดือนพอค่าเงินบาทอ่อน เราก็ต้องจ่ายให้เขามากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้รายได้ลดลง ตอนนี้ก็เริ่มเป็นปัญหาแล้ว แต่ก็ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าปัญหานี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เลยได้พูดคุยหาแนวทางกับเจ้าของสิทธิ์แบรนด์ต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่ต้นปี"

สำหรับแนวทางบริหารจัดการจะขอเครดิตเทอมจากเจ้าของสิทธิ์ยืดการชำระออกไป 3 เดือน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อคอยติดตามอัตราแลกเปลี่ยนแล้วจ่ายในจังหวะที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ซึ่งการขึ้นราคาสินค้าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะการแข่งขันในตลาดและสภาพกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่เหมาะ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนจะยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี จึงต้องพยายามบริหารจัดการต้นทุนภายในให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดควบคู่กันไปด้วย

ต้นทุน "เครื่องใช้ไฟฟ้า" พุ่ง


นายอลงกรณ์ ชูจิตร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าเริ่มส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบ เช่น มอร์เตอร์ที่บริษัทนำเข้าเอง และส่วนอื่น ๆ ที่ซื้อจากผู้นำเข้าวัตถุดิบรายอื่น แต่ขณะนี้ยังสามารถรับมือได้ด้วยมาตรการรัดเข็มขัด เช่น ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และค่าขนส่งที่ลดลงตามค่าเชื้อเพลิง ในทางกลับกันก็ได้ประโยชน์จากการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้ามีสัดส่วนส่งออก 40% จำหน่ายในประเทศ 60%

อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทอ่อนลงถึงระดับ 35-36 บาท และคงตัวต่อเนื่อง อาจจำเป็นต้องเริ่มใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติม เช่น การจัดหาวัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ลดการส่งเสริมการขาย-การดำเนินการลง ไปจนถึงขึ้นราคาสินค้า โดยขณะนี้บริษัทกำลังจับตาค่าเงินอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน


ขอ "บริษัทแม่" ปรับดีลใหม่

นายกมลสุทธิ์ ทัพพะรังสี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท พีเอช มาการอง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ บริษัท พีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายมาการองหรู "ปิแอร์ แอร์เม่ ปารีส" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 10% เพราะทุกๆ ไตรมาสจะนำเข้ามาการองลอตใหญ่ 100% จากฝรั่งเศส ซื้อขายอิงกับเงินยูโรในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 38 บาทต่อยูโร จาก 34 -35 บาทต่อยูโรเมื่อช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา

เพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้มีเสถียรภาพมากขึ้นขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทแม่ที่ฝรั่งเศสเพื่อพิจารณากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ที่ 35 บาท ต่อยูโร หากแนวทางนี้ไม่ได้รับการตอบรับอาจหารือเพื่อพิจารณาความช่วยเหลือในช่องทางอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การให้บริษัทแม่เข้ามาช่วยเหลือด้านงบฯการตลาด หรือค่ารอยัลตี้ฟีที่คิดเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย

"นอกจากเรื่องค่าเงินที่เข้ามาเป็นปัจจัยลบ ด้วยสภาพเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่ฝืดพอสมควรและเป็นช่วงโลว์ซีซั่นก็ทำให้ยอดขายดรอปลงเล็กน้อย แต่ก็อยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าปลายปีที่เป็นช่วงเทศกาล จะเป็นโอกาสที่ยอดขายจะกลับเพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัวได้"

"ไมเนอร์" ตรึงราคาขาย

นายจักร เฉลิมชัย รองประธานกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น อาทิ แก๊ป, เอสปรี, บอสสินี่บานาน่า รีพับบลิค, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เพโดร, ทูมี่ ฯลฯ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้ค่าเงินบาทในช่วงนี้จะปรับตัวอ่อนค่าลงไปถึง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่บริษัทไม่มีนโยบายปรับราคาสินค้าขึ้น เพราะกำลังซื้อและเศรษฐกิจมีปัญหามาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่ถือว่าเป็นโลว์ซีซั่นของสินค้าแฟชั่น

"กำลังซื้อไม่ดี ปรับราคาขึ้นไม่ได้ และผู้นำเข้าสินค้าแฟชั่นรายอื่น ๆ คงไม่มีใครกล้าปรับราคาขึ้นเช่นกัน"


แม้แนวโน้มเงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แต่มองว่าจะไม่เกินระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ทางบริษัทยังสามารถแบกรับต้นทุนเอาไว้ได้ แต่หากค่าเงินมีการผันผวนมากกว่าที่คาดคิดไว้ ก็จะมีการเจรจากับบริษัทแม่ เพื่อขอความช่วยเหลือในการปรับลดราคาสินค้าอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวมากนัก เพราะเรื่องของค่าเงินเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตลอดทุกปี ซึ่งแต่บริษัทก็จะมีมาตรการเพื่อรับมือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นวิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท สำหรับไมเนอร์ฯ นอกจากแนวทางดังกล่าวแล้ว ใช้วิธีการสั่งสินค้าล่วงหน้า 6 เดือน อัตราค่าเงินที่จ่ายคือเรตปัจจุบัน ณ วันที่สินค้ามาถึง

จูงใจ "ทัวริสต์" ช็อปปิ้ง

นางยูกิ ศรีกาญจนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนดูลัม จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกา แฟรงค์ มูลเลอร์, ไบรท์ลิ่ง,เซนิธ, พาเนราย, ไอดับบลิวซี ฯลฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีเจรจากับบริษัทแม่เพื่อคงราคาขายของนาฬิกาไว้ที่ระดับเดิม หลังจากที่เงินสวิสฟรังก์เริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อความสามารถในแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมีผลทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายมากขึ้น แม้ไทยยังเก็บภาษีนำเข้านาฬิกาอยู่ 5% ในขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ไม่เก็บภาษีนำเข้า ทำให้ฐานราคาแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เมื่อรวมกับโปรโมชั่นของห้างสรรพสินค้าแล้วทำให้ชาวต่างชาตินิยมมาซื้อนาฬิกาในไทย

นางสาวเตย มหาดำรงค์กุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท โทคาเดโร กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกา กุชชี่, โอริส ฯลฯ กล่าวว่า ในภาวะที่เงินบาท รวมถึงเงินสวิสฟรังก์ ค่อนข้างผันผวน ประกอบกับเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ดีนัก ทำให้บริษัทระมัดระวังในการสั่งซื้อ และสต๊อกสินค้ามากขึ้น สำหรับรุ่นหรือแบบที่ได้รับความนิยมก็ยังคงสั่งในปริมาณเท่าเดิม แต่หากเป็นรุ่นพิเศษ มีดีไซน์ หรือราคาที่หวือหวาก็จะทำการประเมิณให้ตรงต่อความต้องการของตลาดมากที่สุด

ในขณะที่การสั่งซื้อต้องทำล่วงหน้า 6 - 8 เดือน สำหรับแบรนด์กุชชี่ มีการซื้อขายในสกุลเงินฮ่องกงดอลลาร์ ส่วนโอริสมีการซื้อขายในสกุลเงินสวิสฟรังก์ ซึ่งที่ผ่านมามีความผันผวนมาก บริษัทจึงได้มีการตกลงเรตราคาเอาไว้ล่วงหน้ากับทางบริษัทแม่

อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
980
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
667
“เติมพลังความรู้” กับ ..
599
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
571
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
561
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
523
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด